เส้นเลือดขอด หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเพียงปัญหาเรื่องความไม่สวยงามที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และละเลยที่จะรักษา แต่จริง ๆ แล้วหากปล่อยไว้ อาจมีโอกาสเกิดการอักเสบรุนแรง และนำไปสู่การเกิดแผลได้
เส้นเลือดขอด (Varicose Veins)คือหลอดเลือดดำบริเวณใกล้ชั้นผิวหนัง ที่ขยายตัวเห็นเป็นเส้นเลือดคดเคี้ยวและนูนออกมาคล้ายลักษณะตัวหนอน เนื่องจากมีเลือดมาสะสมมากจนเห็นเป็นเส้นเลือดสีเขียวหรือม่วงเข้ม สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายส่วนของร่างกาย เช่น บริเวณหลอดอาหาร มดลูก ช่องคลอด เชิงกราน และช่องทวารหนัก แต่โดยส่วนใหญ่มักเป็นที่ขาหรือเท้า
สาเหตุของการเกิดเส้นเลือดขอด
เกิดจากผนังหลอดเลือดและลิ้นควบคุมการไหลของเลือดมีความอ่อนแอ ซึ่งโดยปกติภายในหลอดเลือดดำจะมีลิ้นเล็ก ๆ คอยเปิดให้เลือดไหลผ่าน และปิดป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับไปสู่ส่วนล่างของร่างกาย แต่ถ้าผนังหลอดเลือดขยายตัวออกจนสูญเสียความยืดหยุ่น จะทำให้ลิ้นที่คอยเปิดปิดนี้อ่อนแอลง ส่งผลให้มีเลือดรั่วออกมาและไหลย้อนกลับไปที่ส่วนล่างของร่างกาย โดยเฉพาะการยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เลือดจากส่วนล่างของร่างกาย ไหลย้อนกลับไปที่หัวใจได้ยากขึ้น และทำให้เลือดสะสมในหลอดเลือดและเกิดอาการบวมพองตามมา
ซึ่งอาจมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดดังต่อไปนี้
- เพศหญิง เส้นเลือดขอดมีโอกาสเกิดขึ้นในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงจะไปทำให้ผนังหลอดเลือดคลายตัวลง และส่งผลให้มีโอกาสเกิดการรั่วของลิ้นหลอดเลือด
- พันธุกรรม ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นเส้นเลือดขอด จะยิ่งมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากขึ้น
- อายุ อายุเพิ่มมากขึ้น หลอดเลือดจะเริ่มหลวมและหย่อนตัวลง เป็นเหตุให้ลิ้นหลอดเลือดทำงานได้ไม่ดี
- น้ำหนักตัวมาก จะทำให้เกิดแรงดันบนหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ส่งผลให้เกิดแรงดันที่ลิ้นหลอดเลือดสูงขึ้นและเสี่ยงต่อการรั่วของเลือดยิ่งขึ้น
- การยืนเป็นเวลานาน จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดขอด เพราะเลือดจะไหลได้ยากขึ้น
- หญิงตั้งครรภ์ ในระหว่างการตั้งครรภ์ปริมาณของเลือดในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น และนำไปสู่การตึงของหลอดเลือด นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในหญิงตั้งครรภ์ที่สูงขึ้น ยังสามารถทำให้ผนังกล้ามเนื้อของหลอดเลือดคลายตัวจนลิ้นเปิดปิดเลือดทำงานบกพร่องได้เช่นกัน
ในบางคนอาจจะไม่มีอาการแสดงใดๆ แต่โดยทั่วไปจะมีอาการดังนี้ อาการเจ็บหรือรู้สึกหนักขา, เป็นตะคริวช่วงกลางคืน, บวม ตึง แสบร้อน, รู้สึกเจ็บมากขึ้นเมื่อนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน, คันรอบ ๆ เส้นเลือดเส้นใดเส้นหนึ่งหรือหลายเส้น, อาจมีเลือดออกจากเส้นเลือดที่บิดนูน, อาการปวดในเส้นเลือดบริเวณที่ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง, เส้นเลือดแข็งหรือเปลี่ยนสี มีอาการอักเสบของผิวหนัง หรือบางรายอาจเกิดอาการอักเสบรุนแรงจนเกิดแผลได้
นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การหลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งนาน ๆ
ปัจจุบันการรักษาเส้นเลือดขอดแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
- การรักษาแบบไม่ผ่าตัด เป็นการให้ยาเพื่อลดการอักเสบของหลอดเลือดดำ รวมทั้งการแนะนำการใส่ถุงน่องเส้นเลือดขอดเพื่อช่วยพยุงเพิ่มแรงดันหลอดเลือด ให้เลือดภายในหลอดเลือดดำไหลกลับคืนสู่หัวใจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นการรักษาแบบช่วยบรรเทาอาการ แต่ไม่ได้ทำให้เส้นเลือดขอดหายไป
- การรักษาแบบผ่าตัด ขึ้นอยู่กับว่าเป็นหลอดเลือดแบบใดและที่สำคัญเกิดจากสาเหตุใด ถ้าเป็นหลอดเลือดฝอยขอดที่มีขนาดไม่ใหญ่ สามารถรักษาให้หายด้วยการใช้แสงเลเซอร์ หรือฉีดยาเข้าไปที่หลอดเลือดดำฝอยขอด เพื่อให้หลอดเลือดดำฝอยนั้นตีบตันไป ส่วนกรณีหลอดเลือดดำขอดใหญ่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมี 2 วิธี ได้แก่ 1.การผ่าตัดเอาเส้นเลือดเส้นนั้นรวมทั้งแขนงที่ขอดออก ซึ่งเป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม จะมีแผลให้เห็นได้หลังผ่าตัดบริเวณขาหนีบและใต้เข่า และ 2.การรักษาหลอดเลือดขอดโดยใช้สายสวน มีทั้งการใช้เลเซอร์, คลื่นวิทยุ รวมไปถึงฉีดสารเคมีหรือใส่กาววิทยาศาสตร์ เพื่อเข้าไปทำลายผนังหลอดเลือดดำจนไม่มีเลือดไหลผ่าน เป็นการผ่าตัดสมัยใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมและให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการผ่าตัดแบบเดิม ทำให้มีแผลขนาดเล็กประมาณ 2 – 3 มม. เจ็บน้อย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า
การปฏิบัติตัวหลังการรักษา
มีส่วนสำคัญมากในการช่วยให้การรักษาได้ผลดีและลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยในระยะ 7 – 14 วันแรกหลังการรักษา ควรเดินให้บ่อย ๆ และใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอด แต่ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก การแช่น้ำ ทำสปา หรือนวด และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีหรือครีมที่มีโอกาสทำให้เกิดการระคายเคืองในบริเวณที่ทำการรักษา ทั้งนี้ ความผิดปกติหลังการรักษามีโอกาสเกิดขึ้นได้ เช่น ขาบวมมากขึ้น ปวดมากผิดปกติ บวมแดง ร้อนมากขึ้น สีผิวเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรให้รีบปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาทันที
มีอาการแสดงที่อาจพบได้หลังจากรักษา ได้แก่ มีอาการบวม เขียว ช้ำตามแนวเส้นเลือดดำที่ทำการรักษา พบได้บางราย อาการจะค่อยๆหายไปเองประมาณ 14 – 30 วัน หากมีอาการบวมผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ยังมีอาการชาตามแนวเส้นเลือดที่ทำการรักษา ซึ่งจะหายได้เองภายใน 3 – 6 เดือน ส่วนสีคล้ำดำบริเวณแนวเส้นเลือดดำที่ทำการรักษา มักจะดีขึ้นประมาณ 6 เดือน ซึ่งเส้นเลือดขอดไม่ได้หายไปทั้งหมดทันทีหลังการผ่าตัด บางครั้งอาจต้องมาฉีดยารักษาเพิ่มเติมในบริเวณที่แขนงเส้นเลือดขอดที่เหลืออยู่
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 4500 , 4501
- Readers Rating
- Rated 4.9 stars
4.9 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating