การอยู่ในพื้นที่ที่เสียงดังมากจนเกินไปเป็นประจำ หรือการใช้หูฟังที่เปิดเพลงเสียงดังเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน หรือสมรรถภาพการได้ยินลดน้อยลง ดังนั้น หากรู้สึกว่าได้ยินเสียงคนอื่นพูดไม่ชัดเจนเหมือนแต่ก่อน ได้ยินเสียงเบาลง มีคนบอกว่าเราพูดเสียงดังกว่าเดิม หรือมีอาการหูอื้อบ่อย ๆ แนะนำให้เข้าทดสอบการได้ยินเพื่อตรวจสอบความผิดปกติ และทำการรักษาก่อนที่จะสายเกินไป
รู้หรือไม่ การได้ยินไม่ชัด ทำร้ายเรามากกว่าที่คิด
หลายคนอาจจะคิดว่าการได้ยินไม่ชัด อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิต แต่แท้จริงแล้ว กระทบถึงคุณภาพการใช้ชีวิต และความปลอดภัย ดังนี้
- ความปลอดภัย การได้ยินเสียงรอบ ๆ ตัวจะช่วยทำให้เราสามารถได้ยินความผิดปกติ หรือเสียงเตือนภัย รวมถึงสามารถบอกทิศทางของเสียงได้
- การสื่อสาร ทำให้เราสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ง่ายยิ่งขึ้น สามารถพูดคุยและเข้าใจกันมากขึ้น
- การทำงานของสมอง การสูญเสียการได้ยินมีความสัมพันธ์กับโรคสมองเสื่อม ซึ่งส่งผลต่อความจำ ความคิด และการใช้เหตุผล
- สุขภาพจิต เนื่องจากสมองทำงานหนักขึ้น เพื่อที่จะพยายามฟังมากขึ้น
เช็กอาการเบื้องต้น เราควรต้องเข้าทดสอบการได้ยินหรือยัง
สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่ามีปัญหาเรื่องระบบการได้ยิน แนะนำให้สำรวจอาการเบื้องต้นดังต่อไปนี้
- ไม่ได้ยินเสียงที่คนอื่นพูดกัน หรือได้ยินเบาลง
- ต้องถามคนอื่นอยู่บ่อยครั้งว่าพูดอะไร
- พูดเสียงดังมากกว่าปกติ
- มักจะได้ยินเสียงวี้ด ๆ ในหูอยู่บ่อยครั้ง
- หูอื้อบ่อย ๆ
- เปิดเสียงโทรทัศน์ เครื่องเสียง หรือโทรศัพท์ดังกว่าปกติ
- ได้ยินเสียงสูงไม่ชัด
- สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการป่วยเรื่องระบบการได้ยิน
การทดสอบการได้ยินคืออะไร
การทดสอบการได้ยิน คือ การทดสอบสมรรถภาพการฟังเสียงว่าอยู่ในระดับใด (เดซิเบล) สามารถเข้าใจความหมายของคำพูดหรือไม่ โดยการทดสอบจะแบ่งเป็นการตรวจเพื่อคัดกรอง และการตรวจเพื่อวินิจฉัย
การตรวจเพื่อคัดกรอง
วิธีแรกจะเป็นการเคาะส้อมเสียง แล้วดูว่าคนไข้ได้ยินหรือไม่ อีกวิธีหนึ่งจะใช้วิธีนั่งห่างจากคนไข้ประมาณ 1 เมตร จากนั้นพูดถามคำถามคนไข้ หากได้ยินไม่ครบ หรือได้ยินน้อยอาจจะมีความบกพร่องทางการได้ยิน
การตรวจเพื่อ
แบ่งเป็น 2 วิธีหลัก ๆ คือ
- การตรวจโดยการใช้เสียงบริสุทธิ์ โดยค่อย ๆ ลดระดับเสียงลงเรื่อย ๆ แล้วดูว่าคนไข้ได้ยินในช่วงความดังที่เท่าไร ซึ่งเกณฑ์ปกติจะอยู่ที่ -10 ถึง 25 เดซิเบล แต่หากว่าได้ยินมากกว่า 25 เดซิเบล แสดงว่าการได้ยินมีความผิดปกติ
- การตรวจโดยการใช้คำพูด อาจจะให้พูดตาม โดยลดระดับเสียงลงเรื่อย ๆ
ผู้ที่ควรเข้ารับการทดสอบการได้ยิน
ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ก็มีโอกาสที่จะมีความผิดปกติทางการได้ยิน ซึ่งหากเกิดขึ้นกับเด็ก ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการได้ พ่อแม่และผู้ปกครองจึงควรสังเกตความผิดปกติ ดังต่อไปนี้
เด็ก
- มีพัฒนาการทางภาษาช้า หรือขาดทักษะทางการพูด
- มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับหู คอ จมูก หรืออาจจะเป็นหวัดเรื้อรังเป็นเวลานาน
- เด็กที่คลอดก่อนกำหนด มีภาวะตัวเหลือง หรือตัวเขียว
ผู้ใหญ่
- ผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีเสียงดังเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาฆ่าเชื้อวัณโรค, ยาขับปัสสาวะ, การฉีดยาฆ่าเชื้อทางกระแสเลือดบางชนิด
- มีอาการปวดหู หูอื้อ
ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี
แนวทางการรักษา
หากตรวจพบว่าคนไข้มีความผิดปกติทางการได้ยิน แพทย์เฉพาะทางจะวินิจฉัยว่าเป็นความผิดปกติในลักษณะใด เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม โดยแนวทางการรักษาจะมีทั้งการใช้ยารักษาโรค การผ่าตัด หรือการใช้เครื่องช่วยฟัง เพื่อให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับคนปกติทั่วไป
สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าทดสอบการได้ยิน เพื่อตรวจหาความผิดปกติ สามารถติดต่อได้ที่ คลินิกการได้ยิน (Hearing Clinic) ศูนย์หูคอจมูก ชั้น 1 โรงพยาบาลเวชธานี ให้บริการตรวจการทำงานระบบหูชั้นกลาง (Audiogram and Tympanometry) การตรวจสภาพหูชั้นนอก ชั้นใน และแก้วหูด้วยกล้อง (Ear Microscope) และตรวจการได้ยินด้วยนักโสตสัมผัสวิทยา (Audiological Assessment by Audiologist)
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์หูคอจมูก ชั้น 1 โรงพยาบาลเวชธานี
โทรศัพท์ 02-734-0000 ต่อ 3400
- Readers Rating
- No Rating Yet!
- Your Rating