Q&A ที่คุณแม่มือใหม่ฝากครรภ์ครั้งแรกควรทราบเพื่อความมั่นใจ - โรงพยาบาลเวชธานี

ไม่มีหมวดหมู่

เตรียมพร้อมก่อนฝากครรภ์ครั้งแรกและอาหารสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

Share:

แพทย์กำลังตรวจครรภ์ให้คุณแม่ที่ฝากครรภ์ครั้งแรก

การตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิตของคุณแม่มือใหม่ที่ทุกคน การฝากครรภ์ครั้งแรกมักมาพร้อมกับคำถามและความกังวลมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการฝากครรภ์ การดูแลด้านโภชนาการ อาหารสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ควรและไม่ควรรับประทาน เพื่อให้สามารถดูแลสุขภาพทั้งของตนเองและลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างเหมาะสม

การฝากครรภ์คืออะไร ?

การฝากครรภ์ คือการที่คุณแม่ตั้งครรภ์เข้ารับการตรวจสุขภาพและติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ โดยสูตินรีแพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์จะเป็นผู้ดูแล เพื่อให้แน่ใจว่าทั้งคุณแม่และทารกจะมีสุขภาพที่ดี ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ เและนำไปสู่การคลอดอย่างราบรื่นและปลอดภัยต่อไป

ทำไมต้องฝากครรภ์ ?

สำหรับความสำคัญของการฝากครรภ์มีอยู่หลายประการด้วยกัน ซึ่งประโยชน์หลัก ๆ มีดังต่อไปนี้

ตรวจติดตามการตั้งครรภ์ ดูแลการเจริญเติบโตของทารก

แพทย์จะติดตามการเจริญเติบโตของทารก การเจริญของอวัยวะต่าง ๆ ของทารก และประเมินน้ำหนักของทารกว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ หากยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์จะได้ปรับปรุงทั้งด้านโภชนาการและการดูแลตนเองของคุณแม่เพิ่มเติม หรือหาสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักไม่เป็นไปตามเกณฑ์

ป้องกันและลดอาการแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์

นอกจากการฝากครรภ์จะทำให้รู้ถึงการเติบโตของทารกแล้ว ยังช่วยให้แพทย์พบความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที เพื่อการคลอดลูกอย่างปลอดภัยมากที่สุด

ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับทารกในครรภ์

การฝากครรภ์ทำให้แพทย์สามารถตรวจหาความผิดปกติได้แต่เนิ่น ๆ ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด, ทารกเสียชีวิตในครรภ์

ส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณแม่

การฝากครรภ์ช่วยให้คุณแม่ได้รับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม รวมไปถึงการดูแลด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียด โดยทีมสูตินรีแพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์

ฝากครรภ์ครั้งแรกต้องเตรียมตัวอย่างไร ?

เอกสารที่ต้องเตรียม

  • บัตรประชาชนของคุณแม่และคุณพ่อ
  • ประวัติการเจ็บป่วย การแพ้ยา โรคประจำตัว รวมไปถึงการแท้งบุตร และความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรม
  • ข้อมูลการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย

การเลือกสถานที่ฝากครรภ์

  • ควรเลือกโรงพยาบาลที่มีทีมสูตินรีแพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
  •  ซึ่งพร้อมติดตามอาการและให้การดูแลคุณแม่และทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด
  • ควรเลือกโรงพยาบาลที่มีสถานที่ตั้งใกล้บ้าน หรือเดินทางได้อย่างสะดวก สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
  • ควรเลือกโรงพยาบาลที่มีแพ็กเกจฝากครรภ์และคลอดบุตรที่ตรงตามงบประมาณที่ตนเองมี เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกังวลกับเรื่องค่าใช้จ่ายในภายหลัง

การเตรียมตัวด้านร่างกายและจิตใจ

คุณแม่ควรเตรียมพร้อมทั้งด้านร่างกาย เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเบา ๆ และดูแลจิตใจโดยการพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อการมีสุขภาพที่ดีของทั้งตนเองและทารกในครรภ์

ฝากครรภ์ตรวจอะไรบ้าง ?

เมื่อฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะทำการตรวจหลายอย่าง เพื่อประเมินสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ ซึ่งสิ่งที่มักจะตรวจเป็นหลัก คือ

  • ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ซึ่งเป็นการประเมินขนาดของเชิงกราน เพื่อวางแผนให้ทารกมีขนาดตัวที่สอดคล้อง จะช่วยให้คุณแม่สามารถคลอดได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังต้องชั่งน้ำหนักทุกครั้งที่ตรวจติดตามการตั้งครรภ์ เพื่อควบคุมให้น้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • วัดความดันโลหิต โดยจะต้องวัดทุกครั้งที่เข้ามาตรวจติดตามการตั้งครรภ์ เพื่อประเมินความเสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูง
  • ตรวจทางหน้าท้องหรืออัลตราซาวนด์ เพื่อดูพัฒนาการของทารกในครรภ์ และตรวจสอบว่ามีการเติบโตที่เหมาะสม
  • ตรวจเลือด เพื่อนำไปตรวจความเข้มข้นของเลือด หาความเสี่ยงของโรคธาลัสซีเมีย รวมถึงโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น  ไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิส หัดเยอรมัน และเอดส์
  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อดูระดับน้ำตาลในปัสสาวะ และประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ 
  • การตรวจตามไตรมาส เป็นการตรวจแบบเฉพาะเจาะจงในแต่ละระยะของการตั้งครรภ์ แบ่งออกเป็น ดังนี้
    • ไตรมาสที่ 1 ตรวจยืนยันการตั้งครรภ์ ประเมินอายุครรภ์ ตรวจคัดกรองการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ และตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม
    • ไตรมาสที่ 2 ตรวจการเจริญเติบโตของทารก ตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจหาความผิดปกติทางโครงสร้างของทารก ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่, โควิด (ไตรมาส 2) การตรวจคัดกรองเบาหวานในครรภ์
    • ไตรมาสที่ 3 ตรวจเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอด ฉีดวัคซีนป้องกันไอกรน, RSV  และติดตามการเจริญเติบโตของทารกอย่างใกล้ชิด
  • การตรวจพิเศษ เพื่อประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ แบ่งออกเป็นดังนี้
    • การตรวจวินิจฉัยโรคของทารกในครรภ์ เพื่อการคัดกรองดาวน์ซินโดรม โดยการตรวจ NIPT และหากผิดปกติยืนยันโดยการเจาะเนื้อรก น้ำคร่ำ หรือเลือดจากสายสะดือของทารกในครรภ์ต่อไป
    • การตรวจอัลตราซาวนด์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินการเจริญเติบโตของทารก และเก็บความประทับใจในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยอัลตราซาวนด์ 2 มิติ 3 มิติ และ 4 มิติ
    • การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ (NST)
ผู้หญิงกำลังกินอาหารสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

การดูแลด้านโภชนาการและอาหารสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาหารสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

สำหรับการดูแลโภชนาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่ว เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตของทารก อีกทั้งยังควรรับประทานผักและผลไม้สด รวมถึงธัญพืชที่มีเส้นใยอาหารสูง ซึ่งมีส่วนช่วยในการรักษาสมดุลของระบบย่อยอาหารและขับถ่ายของคุณแม่อีกด้วย

วิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น

นอกจากการรับประทานอาหารมื้อหลักแล้ว ยังควรเสริมด้วยวิตามินที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก เช่น

  • กรดโฟลิก ช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว รวมถึงยังส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสมองของทารก 
  • ธาตุเหล็ก ช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด เพื่อส่งออกซิเจนจากแม่ไปสู่ทารก และส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง
  • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างพัฒนากระดูกของทารก

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์

ในระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทต่อไปนี้

  • อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • ปลาที่มีสารปรอทสูง เช่น ปลาทูน่า ปลาดาบเงิน และปลากระโทงแทง เพราะอาจทำให้พัฒนาการสมองและระบบประสาทของทารกในครรภ์ผิดปกติ
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทารก
  • หลีกเลี่ยงคาเฟอีน โดยควรจำกัดการดื่มกาแฟหรือชาให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม สามารถดื่มได้แต่ให้จำกัดปริมาณ
  • อาหารที่มีรสหวานจัด เพราะเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ได้

การฝากครรภ์และการดูแลโภชนาการที่ดีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน หากเตรียมตัวให้พร้อมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะช่วยให้การดำเนินการฝากครรภ์ครั้งแรกเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย

หากคุณแม่ท่านใดสนใจบริการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเวชธานี มีทีมสูตินรีแพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ดูแลและให้คำปรึกษา พร้อมเครื่องมือทางการแพทย์อันทันสมัย เพื่อให้การตรวจติดตามการตั้งครรภ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สุขภาพสตรี โทร. 02-734-0000 ต่อ 3200, 3204

  • Readers Rating
  • No Rating Yet!
  • Your Rating




บทความที่เกี่ยวข้อง