การมีน้ำมูกไหล คัดจมูก และปวดหัว เป็นอาการที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน หลายคนมักคิดว่าเป็นเพียงอาการหวัดธรรมดา แต่อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคไซนัสอักเสบที่ร้ายแรงกว่าหวัดได้
![ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบ](https://www.vejthani.com/wp-content/uploads/2025/02/1400x933-1.jpg)
![ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบ](https://www.vejthani.com/wp-content/uploads/2025/02/1400x933-1.jpg)
รู้จัก”โรคไซนัสอักเสบ”
โรคไซนัสอักเสบ (Sinusitis) เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบของเยื่อบุโพรงอากาศข้างจมูก หรือที่เรียกว่า “ไซนัส” ซึ่งเป็นโพรงอากาศที่อยู่บริเวณใบหน้าและศีรษะ
ไซนัสมีหน้าที่ผลิตเมือกเพื่อทำความสะอาดและป้องกันจมูกจากสิ่งแปลกปลอม แต่เมื่อเกิดการอักเสบขึ้น จะทำให้เยื่อบุบวม ผลิตเมือกมากเกินไป ทำให้ท่อระบายอากาศอุดตัน และกลายเป็นหนองอักเสบหรือมีน้ำมูกเขียวข้น ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา
ชนิดของโรคไซนัสอักเสบ
โรคไซนัสอักเสบ หรือการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกและโพรงอากาศข้างจมูก มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือได้รับสารก่อภูมิแพ้ โดยจะแบ่งประเภทตามระยะของอาการ ดังนี้
- ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน : ผู้ป่วยมีอาการไม่เกิน 4 สัปดาห์
- ไซนัสอักเสบกึ่งเฉียบพลัน : ผู้ป่วยมีอาการนานตั้งแต่ 4-12 สัปดาห์
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง : ผู้ป่วยมีอาการนานกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป และอาจมีอาการของไซนัสอักเสบเฉียบพลันแทรกเป็นระยะ ๆ
- ไซนัสอักเสบซ้ำซ้อน : ผู้ป่วยเกิดอาการอักเสบและเป็นซ้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อปี โดยแต่ละครั้งมีอาการนานกว่า 10 วัน
อาการของโรคไซนัสอักเสบ
คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าไซนัสอักเสบเป็นแค่หวัดธรรมดา หรือเป็นภูมิแพ้อากาศ แต่ที่จริงแล้ว อาการของโรคไซนัสอักเสบมีความแตกต่างจากโรคหวัด โดยมีอาการหลักที่พบบ่อยได้แก่
- มีน้ำมูกข้นเหนียว สีเหลืองหรือเขียวในลำคอ หรือไหลลงคอ
- คัดจมูก หายใจลำบาก
- ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น หรือคนรอบข้างบอกว่ามีกลิ่น
- ปวดบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะหน้าผาก โหนกแก้ม สันจมูก และรอบกระบอกตา
- ความสามารถในการดมกลิ่นลดลง
- ปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย
ความแตกต่างระหว่าง โรคไซนัสอักเสบ vs โรคหวัด
แม้ว่าอาการของโรคไซนัสอักเสบและหวัดจะคล้ายกัน แต่ก็มีความแตกต่าง ดังนี้
- ระยะเวลา : โรคหวัดมักมีอาการไม่เกิน 10 วัน ในขณะที่ไซนัสอักเสบอาจมีอาการนานกว่านั้น
- ลักษณะน้ำมูก : โรคหวัดมักมีน้ำมูกใส ส่วนไซนัสอักเสบมักมีน้ำมูกข้นเหนียว สีเหลืองหรือเขียว
- อาการปวด : โรคหวัดอาจมีอาการปวดบ้างเล็กน้อย ในขณะที่ไซนัสอักเสบมักมีอาการปวดบริเวณตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของโพรงไซนัส
![ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบ](https://www.vejthani.com/wp-content/uploads/2025/02/shutterstock_2337392023_1400w.jpg)
![ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบ](https://www.vejthani.com/wp-content/uploads/2025/02/shutterstock_2337392023_1400w.jpg)
การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อย และมักสับสนกับอาการหวัดธรรมดา แต่การวินิจฉัยที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมและหายจากโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยมีขั้นตอนดังนี้
- การซักประวัติและตรวจร่างกาย : แพทย์จะสอบถามอาการและตรวจดูอาการต่าง ๆ
- การส่องกล้องตรวจจมูก : เพื่อดูความผิดปกติภายในโพรงจมูก
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) : เพื่อหาตำแหน่งของรอยโรคในโพรงจมูกและไซนัส รวมถึงบอกระยะและระดับความรุนแรงของโรค
- การเพาะเชื้อ : เพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราที่เป็นต้นเหตุของภาวะไซนัสอักเสบ
การรักษาโรคไซนัสอักเสบ
การรักษาโรคไซนัสอักเสบนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
การรักษาด้วยยา
- ไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส : มักจะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวดลดไข้, ให้ยาลดน้ำมูก, ให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือและให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก
- ไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย : ให้ยาปฏิชีวนะประมาณ 10-14 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง : ให้การรักษาโดยใช้ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ ช่วยลดการอักเสบ หรือสเตียรอยด์ผสมน้ำเกลือสำหรับล้างจมูก
- ไซนัสอักเสบซ้ำซ้อน : แพทย์จะทำการเพาะเชื้อเพื่อเลือกชนิดยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม
การรักษาด้วยการผ่าตัด
ในกรณีที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope เพื่อนำเนื้อเยื่ออักเสบออกบางส่วนและเปิดโพรงไซนัสเพื่อช่วยระบาย เป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัย ทำให้เลือดออกน้อย เจ็บแผลน้อย หายใจทางจมูกได้ดีขึ้น และฟื้นตัวเร็ว
การดูแลตัวเองเพื่อรักษาและบรรเทาอาการไซนัสอักเสบ
การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมสามารถช่วยบรรเทาอาการไซนัสอักเสบ และลดความรุนแรงของโรคได้ โดยสามารถปฏิบัติตามวิธีการดูแลตัวเองดังนี้
- ล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ เพื่อช่วยลดการอุดตันของน้ำมูกและบรรเทาอาการอักเสบ รวมถึงช่วยล้างเชื้อโรคและสิ่งสกปรกที่สะสมในโพรงจมูก
- ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ เพื่อช่วยลดอาการคัดจมูกและส่งเสริมการระบายของเหลวในโพรงไซนัส
- พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสการเกิดอาการอักเสบซ้ำ
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยให้น้ำมูกไม่เหนียวข้นและระบายออกได้ง่ายขึ้น
- หลีกเลี่ยงสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง และมลพิษทางอากาศที่อาจทำให้โพรงไซนัสอักเสบมากขึ้น
- ประคบร้อนบริเวณใบหน้าหากเกิดอาการปวด เช่น หน้าผาก โหนกแก้ม หรือสันจมูก เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบในโพรงไซนัส
- ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดินเร็วหรือโยคะ เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตและช่วยให้โพรงจมูกระบายของเสียได้ดีขึ้น
อาหารที่ควรกินและไม่ควรกินสำหรับผู้ป่วยไซนัสอักเสบ
การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมสามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคไซนัสอักเสบได้ โดยเฉพาะอาหารที่มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยมีอาหารที่ควรกินและไม่ควรกิน ดังนี้
นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น การล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่และมลพิษทางอากาศ รวมถึงการรักษาสุขภาพระบบทางเดินหายใจให้แข็งแรง จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไซนัสอักเสบได้
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมหรือต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาโรคไซนัสอักเสบ สามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่ ศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลเวชธานี พร้อมดูแลอย่างครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เช่น การรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องระบบเนวิเกเตอร์ ช่วยให้การผ่าตัดแม่นยำ รวดเร็ว และฟื้นตัวไวขึ้น โดยแพทย์ชำนาญการด้านโสต ศอ นาสิก เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์หู คอ จมูก ชั้น 1 โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 3400
- Readers Rating
- No Rating Yet!
- Your Rating