เตือนภาวะปวดหลังเรื้อรัง ! เสี่ยงหมอนรองกระดูกเคลื่อน - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

เตือนภาวะปวดหลังเรื้อรัง ! เสี่ยงหมอนรองกระดูกเคลื่อน

Share:

เมื่อคนเราอายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกซึ่งเป็นหนึ่งในข้อต่อของกระดูกสันหลังจะเริ่มมีการเสื่อมตามอายุขัย โดยในข้อต่อของกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก มักเป็นตำแหน่งแรกที่มีการเสื่อม ซึ่งส่วนมากจะเริ่มที่อายุประมาณ 30 ปี โดยจะมีส่วนหนึ่งของคนที่มีหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม แล้วเกิดการฉีกแยกของเนื้อเยื่อหุ้มหมอนรองกระดูก ทำให้เกิดหมอนรองกระดูกเคลื่อนออกมา และอาจเกิดหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ซึ่งส่วนใหญ่คนไข้จะมีอาการปวดหลังนำมาก่อน และตามมาด้วยอาการปวดหลังร้าวลงขาอาจจะมีอาการชา อ่อนแรง หรือการขับถ่ายผิดปกติร่วมด้วย

นพ.เอกพล ลาภอำนวยผล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า การรักษาโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนนั้น จะใช้การกายภาพบำบัดร่วมกับการใช้ยาเพื่อระงับอาการปวดในระยะแรก และมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีเหล่านี้ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้การผ่าตัดเพื่อการรักษา โดยแบ่งออกเป็นการผ่าตัดแบบเปิดแผลปกติ (open, microdiscectomy) และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (endoscopic discectomy, microendoscopic discectomy)

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกเคลื่อนด้วยกล้อง endoscope ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นการผ่าตัดที่มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย และให้ผลการรักษาเท่ากับการผ่าตัดแบบเปิดแผลปกติ โดยหลักการคือเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง endoscope ที่มีขนาดน้อยกว่า 1 เซนติเมตร มองผ่านเลนส์ของกล้อง และมีการใช้ระบบน้ำร่วมด้วย ช่วยให้การมองเห็นชัดเจนเป็นอย่างดี ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับการผ่าตัดส่องกล้องในข้อเข่าและข้อไหล่

ข้อดีของการผ่าตัดแบบส่องกล้อง endoscope คือ

  1. ทำงานภายใต้การมองเห็นที่ดี
  2. มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและกระดูกน้อย
  3. แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เจ็บแผลน้อย และลดเวลาในการนอนโรงพยาบาล
  4. ลดการเกิดแผลเป็นในโพรงกระดูกสันหลัง ทำให้ถ้าต้องมีการผ่าตัดในครั้งต่อไป เป็นไปด้วยความไม่ยากลำบาก
  5. ใช้เวลาใน การผ่าตัดน้อยในกรณีที่มีความชำนาญ

ในปัจจุบัน การผ่าตัดโดยวิธีใช้กล้อง endoscope เป็นที่นิยมโดยเฉพาะในประเทศทางฝั่งยุโรป เช่น เยอรมนี และประเทศในเอเชียโดยเฉพาะในเกาหลี และคาดว่าจะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในอนาคต โดยวิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีที่ดึงดูด น่าสนใจ และได้ผลดี แผลผ่าตัดเล็ก บาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย อาการเจ็บปวดจากแผลผ่าตัดน้อย ใช้เวลาในการนอนโรงพยาบาลสั้น และนอกจากจะใช้ในการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทที่เป็นครั้งแรกแล้ว ยังสามารถใช้ในผู้ป่วยที่มีการกลับเป็นซ้ำของหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทได้ด้วย และปัจจุบันยังสามารถนำมาใช้รักษาโรคอื่น เช่น โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบทับเส้นประสาทที่เป็นระดับเดียวและโรคถุงน้ำจากข้อต่อกระดูกสันหลังได้อีกด้วย โดยได้ผลการรักษาที่ดีไม่ต่างจากการผ่าตัดแบบเปิดแผลปกติ.

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5500

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (1 )
  • Your Rating