คุณผู้ชายพึงระวัง! กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ต่อมลูกหมากโต

บทความสุขภาพ

คุณผู้ชายพึงระวัง! กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ต่อมลูกหมากโต

Share:

โรคยอดฮิตของคุณผู้ชายที่อายุมากกว่า 40 ปี อีกโรคหนึ่ง คงหนีไม่พ้นโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งพบได้ประมาณ 80% ของผู้ชาย นพ.ไพบูลย์ เอี่ยมสุภัคกุล ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ กล่าวถึงโรคต่อมลูกหมากโตว่า เกิดจากเซลล์ต่อมลูกหมากที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่และทำให้เกิดความผิดปกติต่อทางเดินปัสสาวะ 

ต่อมลูกหมากกดเบียดท่อปัสสาวะทำให้ผู้ป่วยต้องปัสสาวะบ่อยขึ้น รู้สึกรำคาญ รบกวนชีวิตประจำวัน หรือบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ ไตวายเฉียบพลัน เป็นต้น

ผู้ชายที่อายุมากกว่า 40 ปี ต่อมลูกหมากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นโรตต่อมลูกหมากโต และมักจะโตมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น รวมถึงฮอร์โมนเพศชายก็มีบทบาทต่อการเกิดโรคเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะอาจไม่ได้เกิดจากต่อมลูกหมากโตเสมอไป จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัย เพื่อแยกความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ

You-May-Have-an-Enlarged-Prostate-BPH-pic2

อาการของโรคต่อมลูกหมากโต

  • ปัสสาวะไม่พุ่ง ต้องออกแรงเบ่ง
  • ปัสสาวะบ่อยเวลากลางวัน หรือต้องลุกเวลากลางคืนมากกว่า 1 ครั้ง
  • ปวดต้องปัสสาวะทันที กลั้นปัสสาวะลำบาก
  • ปัสสาวะไม่สุด หรือปัสสาวะแล้วแต่หยดตามมา

การวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโตนั้น แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด รวมถึงการตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก การตรวจปัสสาวะโดยกล้องจุลทรรศน์ การตรวจค่าการทำงานของไต และการตรวจเลือดเพื่อดูระดับ PSA (Prostate Specific Antigen) หรือสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนั้นแล้วยังอาจมีการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ การวัดอัตราไหลของปัสสาวะ การวัดปริมาณปัสสาวะคงค้างหลังปัสสาวะ และการส่องกล้อง เป็นต้น

ส่วนการรักษาขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค เริ่มต้นแพทย์จะรักษาโดยการให้ยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไข้ หากคนไข้อาการยังไม่ดีขึ้นหรือไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา ยังมีอาการปัสสาวะไม่ออกจนต้องใส่สายปัสสาวะซ้ำๆ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ มีเลือดปนในปัสสาวะ เกิดภาวะไตวายจากต่อมลูกหมาก และเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดในปัจจุบันมีทั้งการผ่าตัดส่องกล้องทางท่อปัสสาวะแบบปกติและการผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์ PVP (พีวีพี)

การผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์พีวีพี มีข้อดีคือเสียเลือดน้อย และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้น เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องกินยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือดเป็นประจำ การผ่าตัดด้วยเลเซอร์พีวีพี จึงไม่จำเป็นต้องหยุดยาดังกล่าว

การดูแลหลังการผ่าตัด

  1. ควรหลีกเลี่ยงการออกแรงเบ่งอุจจาระหรือยกของหนักในช่วง 1-2 เดือนแรก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ปัสสาวะเป็นเลือดได้หลังการผ่าตัด
  2. ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อลดอาการปัสสาวะปนเลือดและอาการแสบขัด
  3. กินอาหารที่มีกากใย เพื่อช่วยในการขับถ่าย ถ้าท้องผูกมากควรกินยาระบาย
  4. ถ้ามีอาการดังนี้ควรรีบมาพบแพทย์ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะปนเลือดมากหรือปัสสาวะไม่หมด

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 4500 , 4501

  • Readers Rating
  • Rated 4.7 stars
    4.7 / 5 (12 )
  • Your Rating