บอลลูนลดความอ้วน - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

บอลลูนลดความอ้วน

Share:

ทีมแพทย์ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี ได้อธิบายถึงโรคที่จะเกิดขึ้นตามมากับความอ้วน ซึ่งนอกจากโรคอ้วนแล้ว ยังประกอบด้วยโรคอื่นๆ อีก 4 กลุ่ม

ได้แก่
กลุ่มที่ 1 โรคเมตาบอลิกซินโดรม ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คลอเลสเตอรอลในเลือดสูงโรคเก๊าท์
กลุ่มที่ 2 โรคหัวใจและปอด ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพฤกษ์อัมพาต โรคนอนกรน เป็นต้น
กลุ่มที่ 3 โรคทางเดินอาหารและตับ ได้แก่ กรดไหลย้อน ตับอักเสบจากไขมันเกาะตับ นิ่วในถุงน้ำดี
กลุ่มที่ 4 โรคมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งตับ ลำไส้ใหญ่ ปากมดลูก รังไข่ ตับอ่อน

นอกจากนี้ยังส่งผลต่อร่างกายด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ข้อเข่ากระดูกเสื่อมเร็ว การเข้าสังคม บุคลิกท่าทาง รวมถึงการสมัครเข้าทำงาน ซึ่งบางแห่งก็ไม่รับคนอ้วน
จากการศึกษาพบว่าคนอ้วนมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนผอม โดยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจและสมองขาดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคทางเดินหายใจ เห็นได้ชัดว่าโรคอ้วนเป็นโรคที่อันตรายมากกว่าที่คิด

วิธีลดน้ำหนักด้วยบอลลูน

นพ.บุญเลิศ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีการรักษาแบบใหม่ซึ่งเป็นวิธีลดน้ำหนักของผู้ป่วย โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดรัดกระเพาะ คือ การใส่บอลลูนไว้ในกระเพาะอาหารด้วยการส่องกล้อง มีภาวะแทรกซ้อนน้อยและโดยเฉลี่ยสามารถลดน้ำหนักได้ 24 กิโลกรัม

การใส่บอลลูนลดน้ำหนัก

สำหรับขั้นตอนการใส่บอลลูนลดน้ำหนัก จะเหมือนการส่องกล้องกระเพาะอาหารทั่วไป แต่ต้องให้ยานอนหลับขณะใส่บอลลูนลดน้ำหนักที่เป็นซิลิโคนเข้าไปในกระเพาะอาหาร หลังจากนั้นจะใส่น้ำที่ผสมกับสารสีฟ้าชื่อว่าเมธิลีนบลู (Methylene Blue) เข้าไปในบอลลูน ประมาณ 400-500 ซีซี แล้วจึงนำเอากล้องออก โดยลูกบอลลูนสามารถ ปรับขนาดเพิ่มหรือลดได้ตามความต้องการในภายหลัง

ภาวะแทรกซ้อนของวิธีลดน้ำหนักด้วยบอลลูนลดน้ำหนัก

นพ.บุญเลิศ กล่าวถึงภาวะแทรกซ้อนสำหรับการใส่บอลลูนลดน้ำหนักว่า โดยรวมพบเพียง 0.27% เมื่อเทียบกับการผ่าตัดรัดกระเพาะอาหารที่มีภาวะแทรกซ้อนถึง 7-9% โดยภาวะแทรกซ้อนของการใช้บอลลูนลดน้ำหนักส่วนใหญ่เกิดจากอาการคลื่นไส้อาเจียน แน่นท้องในสัปดาห์แรกหลังใส่บอลลูนลดน้ำหนัก

ข้อห้ามในการใส่บอลลูนลดน้ำหนัก

  • เป็นสตรีที่กำลังตั้งครรภ์
  • มีความผิดปกติของหลอดอาหารกระเพาะอาหาร เช่น เป็นแผลในกระเพาะ กรดไหลย้อนรุนแรง หรือเคยผ่าตัดกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร เป็นต้น
  • แพ้ยางซิลิโคน
  • มีภาวะเลือดออกง่ายหรือกินยาละลายลิ่มเลือด
  • คนที่มีโรคประจำตัวรุนแรง

ใส่บอลลูนลดน้ำหนักป้องกันโรคอ้วนเพื่อสุขภาพที่ดี

น้ำหนักตัวไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเลขหรือเป็นเรื่องของความสวยความงามเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงเรื่องสุขภาพที่นอกจากจะทำให้เกิดโรคอ้วนแล้วยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน รวมถึงทำให้มีโอกาสเสียชีวิตเร็วขึ้นอีกด้วย ดังนั้นเราควรหันกลับมาใส่ใจในสุขภาพ การรับประทาอาหารโดยคำนึงถึงแคลอรี่ทุกครั้ง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพยายามรักษาระดับดัชนีมวลกายให้น้อยกว่า 23 เพียงเท่านี้เราก็สามารถปลอดจากโรคภัยต่างๆ ได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลเวชธานี

  • Readers Rating
  • Rated 4.9 stars
    4.9 / 5 (4 )
  • Your Rating