“งูสวัด” โรคผิวหนังจากไวรัส รู้ทันป้องกันได้
โรคงูสวัด (Shingles) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีสุกอีใส (Varicella Zoster) หลังจากติดเชื้อแล้ว ไวรัสนี้จะเดินทางจากผิวหนังไปหลบในปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอ มีความเครียด ไม่สบาย พักผ่อนไม่เพียงพอ และอายุที่มากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ไวรัสกำเริบ ก่อให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาท และมีอาการแสดงตามแนวผิวหนังที่เลี้ยงโดยเส้นประสาท โดยจะเกิดตุ่มแดง หรือตุ่มน้ำใสบนพื้นสีแดง ซึ่งมักขึ้นบริเวณข้างเดียวของร่างกาย และอาจมีอาการปวดร้าวหรือแสบร้อนร่วมด้วย
ทั้งนี้ ผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอัตราการเป็นโรคงูสวัด และเกิดผลข้างเคียงจากโรค มากกว่าผู้ป่วยในวัยอื่น อาทิ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน รอยโรคเกิดหลายบริเวณ และมีอาการปวดเส้นประสาท เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผลข้างเคียงดังกล่าวจะลดลง หากผู้ป่วยได้รับยาต้านเชื้อไวรัสภายในเวลาไม่เกิน 3 วันหลังเกิดอาการ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมักมีผิวแห้ง การทาครีมบำรุงผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณรอยโรคที่หายแล้ว อาจช่วยป้องกันการปวดเส้นประสาทได้
การรักษา
- รับประทานยาต้านเชื้อไวรัสเป็นเวลา 7-10 วัน และเพื่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ควรเริ่มรับประทานยาต้านเชื้อไวรัสภายในเวลา 3 วันหลังเกิดอาการ
- รับประทาน หรือใช้ยาบรรเทาอาการตามความเหมาะสม
วัคซีนป้องกัน
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันงูสวัด ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า Zostavax โดยแนะนำการฉีดวัคซีนดังกล่าวในผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่เคยเป็นอีสุกอีใส ซึ่งเคยหรือไม่เคยเป็นงูสวัดก็ได้ และไม่มีข้อห้ามใด ๆ ในการฉีดวัคซีน โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 เข็ม สามารถลดอัตราการเกิดโรคงูสวัด การเกิดรอยโรครุนแรง และลดการเกิดอาการปวดแสบร้อนปลายประสาทตามหลังการติดเชื้อได้
เกร็ดน่ารู้
- ควรระวังภาวะกระจกตาอักเสบ หากมีตุ่มขึ้นบริเวณปลายจมูก เปลือกตา มีอาการเคืองตา
- สามารถติดต่อในคนที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสได้ โดยจะเกิดเป็นโรคอีสุกอีใส ไม่ใช่งูสวัด
- แม้ผื่นหายแล้ว อาจยังมีอาการปวดบริเวณรอยโรคได้นานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน แต่อาการปวดนี้ สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทาน หรือทายาแก้ปวดบางชนิด
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating