หัวใจเต้นผิดจังหวะ จังหวะหัวใจผิดเพี้ยน ใช้คลื่นเสียงจี้หาย ไม่ต้องทานยา
หัวใจเต้นผิดจังหวะ สม่ำเสมอ ถือได้ว่าเป็นโรคหัวใจชนิดหนึ่ง อาจส่งผลให้ใจสั่น วูบ หรือรู้สึกหวิวๆ กระทบต่อการชีวิตประจำวัน ดีไม่ดีอาจหมดสติ เราเรียกว่า “ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ”
ภาวะของ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นโรคหัวใจที่พบได้บ่อย ส่วนมากมักพบในผู้ใหญ่ โดยผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นแรง ใจสั่น หัวใจเต้นสะดุด หรือบางครั้งมีอาการเหมือนกับหัวใจหยุดเดินไป 1-2 จังหวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะเพราะเต้นเร็วเกินไป ในบางรายมีอาการใจหวิว วูบ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการเป็นลม หมดสติ บางรายอาจมีอาการเหนื่อยง่าย หรือเจ็บหน้าอก ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถรักษาได้ด้วยยา หรือการจี้ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งจะทำให้หายเป็นปกติได้
การตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจผิดจังหวะ สามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาขณะมีอาการ การตรวจโดยฝังเครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจ และการตรวจทางสรีระวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งมักทำร่วมไปกับการจี้ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านสายสวนหัวใจ
นอกจากนั้น การตรวจในภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจต้องตรวจดูว่าผู้ป่วยมีโรคหัวใจชนิดอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งได้แก่ การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง การตรวจโดยวิธี Tilt Table Test การตรวจหัวใจโดยใช้คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง และ Cardiac MRI รวมทั้งการฉีดสีผ่านสายสวนหัวใจ เป็นต้น
สำหรับการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในกรณีที่หัวใจยังทำงานเป็นปกติ สามารถรักษาให้หายได้ โดยใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ โดยวิธีการจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) เป็นการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่มีแผลจากการผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยาสลบและไม่เจ็บตัวขณะที่ทำการรักษา
วิธีการคือ แพทย์จะทำการสวนสายสวนหัวใจ จากบริเวณขาหนีบ หลังจากฉีดยาชาเฉพาะที่ (เช่นเดียวกับการตรวจสวนหัวใจเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจโดยการฉีดสี) สายสวนหัวใจชนิดพิเศษดังกล่าวจะมีขั้วโลหะที่ส่วนปลาย จึงสามารถบันทึกกระแสไฟฟ้าในหัวใจ แสดงให้เห็นบนจอ Monitor ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะขยับสายสวนหัวใจดังกล่าวไปยังตำแหน่งต่างๆ ของหัวใจ เพื่อหาตำแหน่งของวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งอาจทำร่วมกับการกระตุ้นหัวใจช่วงสั้นๆ เมื่อพบตำแหน่งแล้ว จะส่งคลื่นเสียงความถี่สูงไปยังตำแหน่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 30 – 60 วินาที คลื่นเสียงความถี่สูงดังกล่าวจะทำให้เกิดความร้อนขึ้นที่ปลายสายสวนหัวใจ ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นจาก 37 องศา เป็น 55 องศา ซึ่งเท่ากับอุณหภูมิของน้ำอุ่น การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยวิธีดังกล่าวได้ผล 95% โดยมีผลแทรกซ้อนน้อยกว่า 1% และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1 คืนหลังจากทำเสร็จ และภาวะการเต้นหัวใจผิดปกติ ที่พบร่วมกับโรคของหัวใจ ควรรักษาโรคของหัวใจดังกล่าวร่วมด้วย
ในบางกรณีการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเป็นลม หรือเหนื่อยง่าย สามารถรักษาได้ด้วยการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) หรือในรายที่หัวใจเต้นผิดจังหวะเร็วอย่างมาก เช่น Ventricular Tachycardia, Ventricular Fibrillation สามารถรักษาได้โดยการฝังเครื่องช็อคหัวใจอัตโนมัติ (AICD : Automatic Implantable Cardioverter Defibrillator)
ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ควรมีการดูแลรักษาตนเอง โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ หลีกเลี่ยงชา กาแฟ แอลกอฮอล์ หรือยากระตุ้นบางชนิด ยาบางชนิดอาจมีผลต่อการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนรับประทานยา
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์หัวใจ ชั้น 5 โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5300, 5301
- Readers Rating
- Rated 4.1 stars
4.1 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating