ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมหนึ่งในระบบต่อมไร้ท่อ ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ซึ่ง พญ.สมพร วงศ์เราประเสริฐ อายุรแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อและเบาหวาน โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่าฮอร์โมนที่ต่อมไทรอยด์ผลิตนั้นมีความเกี่ยวข้องกับระบบในร่างกายดังนี้
1. วิวัฒนาการ และการเจริญเติบโตของร่างกาย และอวัยวะต่างๆ
2. ระบบสันดาปอาหาร(Metabolism)ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน มีทั้งการสังเคราะห์และการสลาย เพื่อให้การทำงานของอวัยวะเป็นไปอย่างปกติ
3. ผลิตความร้อน รักษาอุณหภูมิในร่างกาย
4. กระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ส่วนหนึ่งจะผ่านระบบประสาทอัตโนมัติ
5. สัมพันธ์กับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งเกียวข้องกับการทำงานระบบต่างๆ ในร่างกายเช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาทสมอง
6. ประสานการทำงานของระบบฮอร์โมนอื่นๆ หลายชนิดในร่างกาย
ด้วยเหตุนี้ต่อมไทรอยด์จึงมีความสำคัญไม่แพ้อวัยวะอื่นๆ ดังนั้นถ้าต่อมไทรอยด์เกิดความผิดปกติ จึงมีผลต่อร่างกายอย่างมาก ซึ่ง พญ.สมพร ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ว่า สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ
ความผิดปกติทางขนาด หรือภาวะต่อมไทรอยด์โต
คอพอก (Goiter) ในความรู้สึกของคนทั่วไปอาจมีความหมายที่ค่อนข้างน่ากลัว มองเห็นภาพคอโตยื่นออกมาเป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำ นึกถึงการขาดสารไอโอดีน ซึ่งในทางการแพทย์ต่อมไทรอยด์ที่มีขนาดโตเรียกว่าGoiter (กอยเตอร์) ลักษณะเป็นก้อนหลายแบบ เช่น โตทั่วๆ ไปทั้งต่อม, โตเป็นก้อนเดียวโดดๆข้างใดข้างหนึ่ง ขนาดแตกต่างกันไป และโตเป็นก้อนมากกว่า 1 ก้อน
ผู้ที่มีต่อมไทรอยด์โต อันที่จริงแล้วยังสามารถสร้างฮอร์โมนได้ตามปกติ ส่วนมากจะไม่มีอาการใดๆ จนกระทั่งมีคนทัก หมอตรวจพบ หรือคลำได้เอง ยกเว้นบางภาวะเช่น มีเลือดออกในต่อมไทรอยด์อย่างกระทันหัน ทำให้มีอาการเจ็บบริเวณที่เป็นก้อน เวลานอนหายใจลำบาก กลืนลำบาก
นอกจากนี้ในการตรวจก้อนที่ต่อมไทรอยด์ตือการตรวจมะเร็งไทรอยด์โดยการดูดเซลล์ที่ก้อนเนื้อ ถ้าต่อมไทรอยด์โตร่วมกับมีภาวะสร้างฮอร์โมนผิดปกติ จะส่งผลให้มีอาการแสดงของโรคไทรอยด์เป็นพิษด้วย ความผิดปกติทางการทำงานของต่อมไทรอยด์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
1. ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป จนระดับฮอร์โมนในเลือดสูงกว่าปกติ อาการที่พบเช่น เหนื่อยง่าย, ใจสั่น, ขี้ร้อน, เหงื่อออกมาก, หิวบ่อย, น้ำหนักลดถึงแม้รับประทานมาก, สมาธิสั้น, เครียด, นอนไม่หลับ, บางรายถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้นวันละ 2-3 ครั้ง สำหรับในผู้หญิงประจำเดือนอาจมาน้อยลง ส่วนผู้ชายจะมีอาการกล้ามเนื้อขาและแขนส่วนต้นอ่อนแรง ทั้งนี้บางรายอาจตับโต ตัวและตาเหลือง อีกทั้งในรายที่ต่อมไทรอยด์เป็นพิษรุนแรงอาจมีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวได้
การรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษมีอยู่ 3 วิธีคือ การให้ยายับยั้งการสร้างฮอร์โมนต่อมไทรอยด์, การให้ยาไอโอดีนเคลือบสารกัมมันตรังสี Iodine 131 และการผ่าตัด ทั้งนี้การเลือกวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของอาการผู้ป่วยแต่ละราย
2. ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป เป็นภาวะที่เกิดจากฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดอยู่ในระดับน้อยเกินไป โดยอาการที่พบอย่างเช่น เฉื่อยชา, ขี้เกียจ, ง่วงหาวบ่อย, คิดช้า, พูดช้า, ซึมเศร้าไม่มีสมาธิ, น้ำหนักเพิ่มขึ้นบวกแบบกดไม่บุ๋ม, เหนื่อยง่าย, หายใจได้ไม่เต็มที่, ท้องผูก, ผิวหนังแห้ง หยาบ, ผมหยาบหนาเปราะร่วงง่าย, กล้ามเนื้อ่อนแรง เป็นตะคริวง่าย, ในผู้หญิงประจำเดือนอาจมามากกว่าปกติ หรือประจำเดือนขาด และในรายที่อาการรุนแรงมากอาจพบน้ำอยู่ในช่องต่างๆ ของร่างกาย เช่น ช่องปอด, ช่องหัวใจ
การรักษาต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย ใช้วิธีการให้ฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อชดเชยที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ จึงต้องรักษาไปตลอดชีวิต เมื่อชดเชยฮอร์โมนได้เพียงพอ ร่างกายจะกลับสู่ภาวะปกติ สิ่งสำคัญคือต้องชดเชยให้ฮอร์โมนจอยู่ในระดับปกติตลอดไป
อายุรแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อและเบาหวาน โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 1071, 1072