ชีวิตกินด่วนของคนเมืองในปัจจุบัน หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้หลายโรคก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งกลุ่มโรคที่พบบ่อยและเด่นชัดกลุ่มหนึ่งคือโรคระบบทางเดินอาหาร และภาวะหนึ่งที่พบบ่อยคือ ท้องอืด ที่ดูเหมือนเป็นอาการธรรมดาทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เมื่อรับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ แต่หากเป็นบ่อย เป็นนาน จนเข้าข่ายเป็นโรคท้องอืดเรื้อรัง นั่นหมายถึงการรับประทานยาก็ไม่มีผลทำให้หายได้อีกต่อไป
สาเหตุของท้องอืด
อาการท้องอืด เป็นอาการที่พบได้บ่อยของโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากปริมาณแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้มากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น เรอบ่อย อึดอัดแน่นท้อง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ท้องโตเป็นพักๆ หรือผายลมบ่อย เป็นต้น โดยทั่วไปอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นกับคนทั่วไปได้ ถ้ารับประทานอาหารปริมาณมากและเร็วเกินไป หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแก๊ส แต่ถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นเรื้อรัง รับประทานอาหารชนิดไหนก็มีอาการหรือมีความรุนแรง เช่น มีอาการมากจนทำให้รับประทานอาหารน้อยลง ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาต่อไป
ผู้ป่วยบางรายไปพบแพทย์ ได้รับยามากิน เช่น ยาลดกรด ยาช่วยย่อยขับลม ก็ยังไม่หายขาด หรือแม้กระทั่งได้รับการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่แล้ว ซึ่งผลการตรวจก็ปกติดีและไม่สามารถอธิบายอาการของโรคได้ ซึ่งในความเป็นจริง สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะท้องอืดเรื้อรังเกิดจาก 3 ภาวะ ได้แก่ ปริมาณแบคทีเรียในลำไส้มากเกิน, ภาวะขาดเอนไซม์ย่อยนม และโรคลำไส้แปรปรวน ซึ่งภาวะดังกล่าวนั้น ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่ามาจากปัจจัยใด
พ่นลมหายใจ ตรวจหาสาเหตุที่เฉพาะเจาะจง
ปัจจุบันการตรวจไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนและให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน สำหรับการตรวจหาสาเหตุของโรคท้องอืดเรื้อรัง จะใช้วิธีการตรวจด้วย เครื่องตรวจลมหายใจ (Breath test) อาศัยหลักการตรวจหาก๊าซที่ผลิตจากแบคทีเรียในทางเดินอาหารซึ่งจะซึมผ่านเข้ากระแสเลือดและปล่อยออกทางลมหายใจ โดยก๊าซที่ตรวจนั้น ได้แก่ ก๊าซไฮโดรเจน และก๊าซมีเทน ขั้นตอนการตรวจเริ่มด้วยงดอาหารและน้ำก่อน 12 ชั่วโมง จากนั้นให้รับประทานสารที่ใช้ในการตรวจแยกโรค ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุที่แพทย์สงสัย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสงสัยภาวะขาดเอนไซม์ย่อยนม ก็จะให้รับประทานน้ำตาลแลคโตส แต่ถ้าสงสัยภาวะแบคทีเรียในลำไส้มากเกิน ก็จะให้รับประทานน้ำตาลกลูโคสหรือสารแลคตูโลส เป็นต้น จากนั้นจะให้ผู้ป่วยเป่าลมหายใจใส่ในถุงตรวจ ทุกๆ 15 นาที จนครบ 120 นาที แล้วนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ต่อไป
รู้ที่มารักษาตรงจุด
เมื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องแล้ว ผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องตามมา เช่น กรณีเป็นภาวะขาดเอนไซม์ย่อยนม ให้งดอาหารจำพวกนมและผลิตภัณฑ์ของนมทุกชนิด ได้แก่ เนย โยเกิร์ต ไอศกรีม เป็นต้น หรือกรณีภาวะแบคทีเรียในลำไส้มากเกิน ก็ควรได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อลดปริมาณเชื้อในลำไส้ ร่วมกับการให้ยาปรับการเคลื่อนไหวลำไส้และการหลีกเลี่ยงอาหารที่ส่งเสริมให้แบคทีเรียในลำไส้เติบโต (FODMAPS) ได้แก่ อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมได้น้อยในลำไส้เล็กและผ่านเข้าสู่ลำไส้ใหญ่จนกลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย ยกตัวอย่างเช่น กระเทียม หอม ถั่ว กะหล่ำ น้ำเชื่อมเข้มข้น แอปเปิ้ล มะม่วง พรุน รวมถึงน้ำตาลเทียม เป็นต้น
- Readers Rating
- Rated 4.5 stars
4.5 / 5 (Reviewers) - Outstanding
- Your Rating