การผ่าตัดส่องกล้องไหล่ - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

การผ่าตัดส่องกล้องไหล่

Share:



อาการปวดไหล่เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากที่สุดปัญหาหนึ่ง เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุของอาการปวดไหล่อาจเกิดจากปัญหาของโครงสร้างในข้อไหล่เอง (กระดูก, กระดูกอ่อน, เนื้อเยื่อต่างๆ เช่น เยื่อหุ้มข้อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ หรือถุงหุ้มเส้นเอ็น), จากภาวะข้อไหล่ไม่มั่นคง (Instability pain) หรืออาการปวดจากบริเวณอื่น (referred pain) เช่น จากกระดูกต้นคอ, ทรวงอกหรือในช่องท้อง ซึ่งอาการปวดในแต่ละโรคอาจมีลักษณะเหมือนกันหรือแตกต่างกันก็ได้

สาเหตุที่พบบ่อยของอาการปวดไหล่ได้แก่

  • กระดูกงอกทับเส้นเอ็นหัวไหล่ (Impingement syndrome)
  • ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก (Rotator cuff tear)
  • ข้อไหล่ติด (Frozen shoulder)
  • ข้อไหล่หลุด (Shoulder instability)
  • ข้ออักเสบ (arthritis)

ปัจจุบันการผ่าตัดไม่น่ากลัวเหมือนในอดีต เนื่องจากแผลผ่าตัดเล็ก เสียเลือดขณะผ่าตัดน้อย พักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน และฟื้นตัวไวขึ้น

วิธีการรักษาโรคข้อไหล่ที่พบบ่อยและสามารถรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง

การผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่

การรักษาโดยการผ่าตัดผ่านส่องกล้อง ปัจจุบันถือเป็นมาตรฐานการรักษาโรคของข้อไหล่ที่ยอมรับกันทั่วโลก นอกจากสามารถให้การวินิจฉัยแล้วยังเป็นการรักษาในคราวเดียวกัน ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่ คือ โรคของข้อไหล่ที่รักษาด้วยอนุรักษ์นิยมอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งประกอบด้วย รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล, ยาลดอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และยาคลายกล้ามเนื้อร่วมกับการกายภาพบำบัดแล้วไม่ได้ผลเป็นเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน โดยวิธีการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับโรคที่ผู้ป่วยเป็น วีธีของการผ่าตัดส่องกล้องนั้นสามารถทำได้โดยการเปิดแผลขนาด 0.5 – 1 cm ประมาณ 2-3 แผล เพื่อใส่กล้องขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร ใส่น้ำเกลือเข้าไปในข้อเพื่อขยายพื้นที่ในการผ่าตัด และใส่อุปกรณ์การผ่าตัดเพื่อทำการรักษา

กระดูกงอกทับเส้นเอ็นหัวไหล่ (Impingement syndrome), ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก( Rotator cuff tear)

เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ  เกิดจากการเสียดสีระหว่างเส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่ (Rotator Cuff) กับปลายกระดูกสะบัก (Acromion process) ในขณะที่ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ   จึงทำให้เกิดอาการปวดไหล่ เป็น ๆ หาย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะยกแขนขึ้นสูงหรือกางแขนออก ผลที่ตามมาคือจะมีการเสื่อมสภาพของเส้นเอ็น จนท้ายที่สุดอาจทำให้เส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่ขาดได้  มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงานได้อย่างมาก  ช่วงแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณไหล่โดยเฉพาะด้านหน้าและด้านข้างของหัวไหล่  อาจร้าวลงไปถึงข้อศอกได้  อาการปวดเป็นมากขึ้นเวลายกแขนขึ้นด้านหน้าและด้านข้าง  ส่วนมากจะมีประวัติปวดไหล่เวลากลางคืน จะปวดมากเวลานอนตะแคงทับแขนข้างที่มีอาการ  ในระยะที่รุนแรงมากจะพบเส้นเอ็นฉีกขาดร่วมด้วย ทำให้แขนอ่อนแรงขณะที่กางไหล่ ยกไหล่ขึ้นลำบากหรือไม่ได้

ข้อไหล่ติด (Adhesive causalities of shoulder, Frozen shoulder) :

อุบัติการการเกิดโรคไหล่ติดพบได้ประมาณ 2% ของประชาการปกติ พบมากในช่วงอายุ 50-60 ปี โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (3:2) สาเหตุเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อไหล่ แล้วเกิดพังผืดในข้อไหล่ ทำให้ข้อไหล่ขยับได้น้อยลง จะพบบ่อยในกรณีที่กระดูกหักบริเวณแขน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยขยับแขนลดลง หรือพบบ่อยกับโรคบางอย่างเช่น โรคเบาหวาน, ไขมันในเลือดสูง, โรคไทรอยด์ เป็นต้น ในช่วงแรกของการดำเนินโรคจะมีอาการปวดไหล่ แล้วตามมาด้วยข้อไหล่เริ่มติดและอาการปวดค่อยๆลดลง แต่ข้อไหล่จะติดมากขึ้น  อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ข้อไหล่หลุด :

ข้อไหล่เป็นข้อที่พบอุบัติการณ์การเกิดข้อไหล่หลุดสูงที่สุดในร่างกาย คิดเป็น 45-50% ของอุบัติการณ์ข้อหลุดทั้งหมดในร่างกาย สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดข้อไหล่หลุดคือ จากอุบัติเหตุ ซึ่งอาจสูงได้ถึง 96% ข้อไหล่หลุดประเภทหลุดเคลื่อนมาทางด้านหน้า ผลของการรักษาข้อไหล่ไม่มั่นคงทางด้านหน้าด้วยวิธีการอนุรักษ์นั้นไม่ค่อยดีนัก อัตราการเกิดโรคซ้ำอยู่ที่ 17-100% และพบว่าสูงมากขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่อายุน้อย ดังนั้นการรักษาที่ยอมรับในปัจจุบันคือการผ่าตัดซ่อมเยื่อหุ้มข้อที่มีการฉีกขาด ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง ผลการรักษาในปัจจุบันพบว่าอัตราหลุดซ้ำหลังผ่าตัดประมาณ 3-5% ซึ่งใกล้เคียงกับการผ่าตัดแบบเปิด

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี โทร 02-734-0000 ต่อ 2298

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (4 )
  • Your Rating