หลายคนคงประหลาดใจ ถ้าพูดถึงการใส่ฟันปลอมในเด็ก เพราะโดยทั่วไปการรักษาทางทันตกรรมด้วยการใส่ฟันปลอมมักจะพบเห็นในวัยผู้ใหญ่มากกว่า คงไม่ค่อยมีคนนึกไปถึงว่า เด็กเล็กๆ ก็มีการใส่ฟันปลอมได้เช่นกัน
ฟันปลอมในเด็ก
ฟันน้ำนมมีหน้าที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ การออกเสียง การบดเคี้ยว การป้องกันนิสัยกัดสบที่ผิดปกติ และเก็บรักษาพื้นที่ให้กับฟันแท้ที่กำลังขึ้น เป็นต้น ดังนั้น ถ้าเด็กต้องสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนดจากสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคฟันผุ ภยันตรายที่เกิดกับฟัน การที่เด็กไม่มีฟันมาแต่กำเนิด (Congenital missing) ความผิดปกติในการสร้างฟันที่เกิดร่วมกับโรคทางระบบต่างๆ หรือโรคทางพันธุกรรมบางโรค หรือผู้ป่วยเพดานโหว่ เป็นต้น การใส่ฟันปลอมให้เด็กที่มีปัญหาลักษณะนี้ จะช่วยป้องกันและแก้ไขผลเสียที่จะตามมาในอนาคตได้
ประโยชน์ของการใส่ฟันปลอม
- บูรณะรูปร่างใบหน้าให้เหมือนปกติ ซึ่งผู้ป่วยที่มีการสูญเสียฟันหน้ามักประสบปัญหาถูกเพื่อนล้อเลียน ทำให้มีผลต่อสภาพจิตใจและบุคลิกภาพ
- บูรณะประสิทธิภาพของการบดเคี้ยว
- ป้องกันและแก้ไขปัญหาทางการพูด มีการศึกษาพบว่า ถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีมีการสูญเสียฟันหน้าน้ำนมไปก่อนกำหนด และไม่ได้ใส่ฟันปลอม อาจมีผลทำให้เด็กพูดไม่ชัด และอาจติดเป็นนิสัยไปจนโต
- ป้องกันนิสัยที่ผิดปกติ เช่น ดูดริมฝีปาก ตำแหน่งลิ้นผิดปกติขณะกลืน (Tongue thrust)
- รักษาช่องว่างให้กับฟันแท้ที่กำลังขึ้น เมื่อมีการสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อน
- บูรณะปิดช่องที่เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดหรือภายหลัง เช่น เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ และความผิดปกติที่เกิดจากอุบัติเหตุ หรือจากผลของการผ่าตัด ซึ่งต้องมีการใส่เครื่องมือหรือฟันปลอมปิดช่องว่าง เพื่อให้สามารถรับประทานอาหาร หรือพูดได้ปกติ และสวยงาม
ฟันปลอมในผู้ป่วยเด็ก มี 3 ชนิดคือ ฟันปลอมบางส่วนชนิดถอดได้ ฟันปลอมทั้งปาก และฟันปลอมชนิดติดแน่น ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างฟันปลอมบางส่วนชนิดถอดได้ เนื่องจากพบได้บ่อยในเด็ก
ขั้นตอนการทำฟันปลอมบางส่วนชนิดถอดได้ในผู้ป่วยเด็ก
- ทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็ก จะวางแผนการรักษาร่วมกับผู้ปกครอง เริ่มต้นควรประเมินความต้องการของเด็กในการใส่ฟันปลอมก่อน ยกตัวอย่าง เด็กมีนิสัยรักสวย รักงาม เด็กอายเมื่อถูกเพื่อนล้อ มีการถามทันตแพทย์บ่อยๆ เรื่องการใส่ฟันปลอม เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากการที่เด็กอาจต้องใส่ฟันปลอมหลายปี การที่พ่อแม่เด็กบังคับให้เริ่มรักษาโดยที่เด็กไม่ต้องการ มักจะทำให้เกิดความล้มเหลวตามมาได้ ดังนั้นควรเริ่มการรักษาต่อเมื่อเป็นความต้องการของเด็กเอง
- ออกแบบฟันปลอมเพื่อให้เหมาะสมต่อเด็กแต่ละคน
- พิมพ์ปากโดยใช้ถาดพิมพ์ปาก เลือกสีฟัน และนำไปทำในเครื่องจำลองขากรรไกร
- ลองถาดแผ่นฐานฟันปลอมชั่วคราวที่มีการเรียงฟันเรียบร้อยแล้ว โดยใช้ซี่ฟันปลอมของผู้ใหญ่ที่มีการกรอแต่งให้ได้ขนาดและรูปร่างที่เหมาะสมสำหรับเด็กนั้นๆ และส่งห้องปฎิบัติการ
- ใส่ฟันปลอมบางส่วนชนิดถอดได้ให้เด็ก
หลังจากใส่ฟันปลอมให้เด็กแล้ว ทันตแพทย์จะนัดให้กลับมาตรวจซ้ำหลังใส่ฟันปลอม 1 วัน 1 สัปดาห์ และทุก 3 เดือนจนกว่าฟันแท้จะขึ้น
การดูแลรักษาฟันปลอมสำหรับเด็ก แตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างไร
- ช่วงแรกที่เด็กใส่ฟันปลอม แนะนำให้เด็กหมั่นเคี้ยวอาหารบ่อยๆ
- ผู้ปกครองควรให้กำลังใจ และยกย่องชมเชยเวลาที่เด็กใส่ฟันปลอม
- ผู้ปกครองหมั่นสังเกตว่า มีฟันที่กำลังขึ้นหรือฟันปลอมไม่พอดีกับขนาดขากรรไกรหรือไม่ ถ้าพบให้รีบนำฟันปลอมกลับมาให้ทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็กแก้ไขทันที
เริ่มต้นดูแลสุขภาพปากและฟันตั้งแต่ยังเด็ก อย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี เพื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่จะได้มีฟันที่สวยงาม แข็งแรง ยิ้มได้อย่างมั่นใจ
สอบถามเพิ่มเติมที่ ศูนย์ทันตกรรม
โทร. 0-2734-0366-7, 0-2734-0000 ต่อ 3000, 3001
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating