แม้ลูกเกิดมาเตี้ย ก็สูงขึ้นได้ถ้าเลี้ยงถูกวิธี ! | Vejthani

บทความสุขภาพ

ลูกเตี้ย เลี้ยงอย่างไรให้สูง

Share:

พ่อแม่ทุกคนใฝ่ฝันที่จะเห็นลูกเป็นอย่างนั้น บางคนก็สมใจแต่บางคนก็ไม่ได้อย่างที่หวังเพราะขณะที่ลูกลืมตาดูโลก ในช่วงขวบปีแรกอาจจะยังไม่เห็นความผิดปกติ แต่พอเลยผ่านขวบปีแรกไปแล้ว ความสูงลูกที่ควรจะเพิ่มขึ้น กลับไม่ขยับเพิ่มขึ้น ถ้าเผลอปล่อยให้ผ่านเลยไป เพราะคิดว่าเดี๋ยวก็สูงขึ้นเอง กว่าจะรู้ตัวอาจสายเกินแก้ ยิ่งถ้ารอจนกระทั่งมีลูกอีกคนแล้วน้องซึ่งเกิดทีหลังสูงกว่าพี่ อย่างนี้มีปัญหาแน่นอน

ฉะนั้นพ่อแม่มือใหม่ต้องหัดสังเกตว่า หลังหนึ่งขวบปีความสูงของลูกอยู่กับที่หรือไม่ หากพบว่าผิดปกติต้องรีบปรึกษาหมอจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที

สาเหตุการเตี้ยกว่าเกณฑ์ของเด็ก

การที่เด็กเตี้ยกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น มีที่มาจากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลัก ๆ คือ กรรมพันธุ์ มีพ่อแม่เตี้ย และสาเหตุจากสิ่งแวดล้อม เช่น ขณะตั้งท้อง หากแม่ดูแลตัวเองไม่ดีก็ส่งผลถึงลูกได้เช่นกัน เช่น ระหว่างตั้งท้องแม่ติดเชื้อเอชไอวี สูบบุหรี่จัด ดื่มเหล้าจัด จนอยู่ในข่ายแอลกอฮอลิซึ่ม ขาดสารอาหารและการขาดฮอร์โมน อย่างเช่น โกรทฮอร์โมน และไทรอยด์ฮอร์โมน จะมีผลต่อด้านสติปัญญา เช่น โรคเอ๋อ และมีผลต่อฮอร์โมนความสูงเพราะเกี่ยวเนื่องกับการเจริญเติบโตด้านกระดูกแขนขา ส่วน โกรทฮอร์โมน เป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต จะหลั่งออกมาหลังจากหลับสนิทไปแล้วประมาณ 90 นาที ถ้าเด็กนอนไม่หลับ หรืออดนอนก็จะไม่มีฮอร์โมนตัวนี้หลั่งออกมา ก็จะทำให้เด็กเตี้ยได้

ทั้งนี้ การเตี้ยที่มาจากกรรมพันธุ์ต้องทำใจไว้เลยว่าลูกอาจจะสูงเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย หรือสูงได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดมาตรฐานของเด็กไทยคือ เมื่ออายุ 19 ปี เด็กผู้ชายควรจะสูง 170 เซนติเมตร ส่วนเด็กผู้หญิง 157-160 เซนติเมตร

แนวทางการรักษา

การรักษาลูกจากโรคเตี้ยนั้น หมอจะเริ่มจากการซักถามประวัติโดยเริ่มจากแม่ ระหว่างตั้งครรภ์ว่ามีโรคติดเชื้อ แอลกอฮอลิซึ่ม สูบบุหรี่จัด กินยาบางอย่าง เกิดภาวะแทรกซ้อน ขาดสารอาหารหรือไม่ ส่วนตัวลูกจะถูกตรวจซักประวัติ น้ำหนัก ความยาวแรกคลอด หรือมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคไต โรคเลือด ธาลัสซีเมีย เป็นต้น เพราะทำให้เด็กไม่โตตามเกณฑ์

หลังจากตรวจพบสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเตี้ย แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ถ้าเป็นกรรมพันธุ์ ก็ต้องเสริมอาหาร ให้กินนม ออกกำลังกาย เพื่อกระตุ้นกระดูกแขนขา ไม่นอนดึก ถ้าขาดไทรอยด์ฮอร์โมน รักษาด้วยการให้กินยา หรือถ้ามีผลมาจากโรคภัยไข้เจ็บ ก็ต้องรักษาจากโรคก่อน และดูแลเรื่องการขาดสารอาหาร ทั้งนี้ในเมืองไทยการฉีดโกรทฮอร์โมนยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เพื่อรักษาโรคเตี้ย จะฉีดได้ก็ต่อเมื่อหมอเฉพาะทางอย่างหมอต่อมไร้ท่อสั่งเท่านั้น ทางที่ดีถ้าพ่อแม่สังเกตเห็นความผิดปกติของลูกแล้ว รีบให้หมอตรวจ หากไม่อยู่ในข่ายที่ต้องกินหรือฉีดฮอร์โมน การออกกำลังกาย ดื่มนมมาก ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก จะทำให้บุตรของท่านเติบโตปกติได้

อย่างไรก็ตาม “ลูก” คือความหวังและความสุขของพ่อแม่ ถ้าลูกมีความสุขและเป็นไปอย่างที่พ่อแม่หวังไว้ครอบครัวก็จะมีความสุข แต่ถ้าไม่เป็นไปตามที่หวัง การให้กำลังใจ ห่วงใยซึ่งกันก็จะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวให้ครอบครัวร่มเย็นเป็นสุขได้เช่นกัน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 3310, 3312 และ 3319

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating