กินอย่างไร ห่างไกลกรดไหลย้อน
เป็นที่ทราบกันดีว่า พฤติกรรมในการรับประทานอาหาร เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของสาเหตุที่ส่งเสริมให้เกิดอาการกรดไหลย้อน ปวดแสบปวดร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่ เรอเปรี้ยว มีรสขม ยังไม่พอยังเป็นสาเหตุให้มีกลิ่นปากอีกด้วย เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ลองมาสำรวจพฤติกรรมการรับประทาน รวมถึงอาหารที่จะช่วยทำให้ห่างไกลจากภาวะกรดไหลย้อน หรือทำให้อาการบรรเทาเบาบางลง
ลด งด เลิก
- หลังรับประทานอาหารทันที หลีกเลี่ยงการนอนราบ การออกกำลัง การยกของหนัก เอี้ยวตัว หรือก้มตัว
- รับประทานแต่พอดี ไม่ควรกินอิ่มจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก ไม่ควรรับประทานอาหารใดๆ อย่างน้อยภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมงก่อนนอน
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยการทอด อาหารมัน ฟาสต์ฟู้ด เนย นม
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊ส เช่น ถั่วทุกชนิด อาหารที่มีเครื่องเทศมากๆ หรือพืชผักที่มีกลิ่นแรง เช่น หัวหอม กระเทียม เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ ชา ชอคโกแลต น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะเขือเทศ เป็นต้น
ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนอย่าเพิ่งถอดใจว่า ดูจากรายการพฤติกรรมการรับประทานที่ควรงด ลด และหลีกเลี่ยงแล้ว จะเหลืออะไรที่สามารถรับประทานได้อีก ความจริงยังมีอาหารที่เป็นมิตรกับผู้มีภาวะกรดไหลย้อนอีกมากมายที่สามารถรับประทานได้ ส่วนอาหารทั่วไปก็รับประทานได้บ้าง เพียงแต่ควรปรับพฤติกรรมการรับประทาน ซึ่งอาหารที่เป็นมิตรกับผู้เป็นกรดไหลย้อน เช่น
- อาหารที่ย่อยง่าย ที่มีไขมันต่ำ เช่น ปลานึ่ง ปลาต้ม ข้าวกล้องต้ม ขนมปังโฮลวีท
- อาหารที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรด เช่น มันฝรั่ง มันเทศ
- ผักและผลไม้ที่มีสภาพความเป็นด่าง เช่น กล้วยน้ำว้า ซึ่งมีเส้นใยเพ็คตินที่ช่วยในการรระบายท้องให้สบาย
- เครื่องดื่ม ไม่ควรเป็นเครื่องดื่มที่สร้างกรดหรือแก๊ส ควรรับประทานน้ำเปล่าดีที่สุด
กรดไหลย้อน ถึงแม้ว่าจะเป็นภาวะเรื้อรัง เพียงแค่ปรับพฤติกรรมและปรับอาหาร ก็สามารถลดความรุนแรงของโรคได้
- Readers Rating
- Rated 4.9 stars
4.9 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating