ฤดูฝนพรำ…ต้องระวัง! “โรคระบบทางเดินหายใจ” - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

ฤดูฝนพรำ…ต้องระวัง! “โรคระบบทางเดินหายใจ”

Share:

โรคระบบทางเดินหายใจ

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ฝนตกมากขึ้น ปริมาณความชื้นในอากาศเพิ่มขึ้น แถมบางวันอากาศก็ร้อนมากกว่าปกติ เป็นผลทำให้ร่างกายปรับตัวรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ไม่ทัน นอกจากนี้ยังเป็นฤดูที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางระบบหายใจหลายชนิด ทำให้เกิดการเจ็บป่วยของโรคระบบหายใจทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่เป็นกันถ้วนหน้า ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กโต คุณพ่อ คุณแม่ ในวันนี้จะขอกล่าวถึงโรคระบบทางเดินหายใจในเด็กที่พบได้บ่อยๆ ขณะนี้ โดยจะแยกง่ายๆ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน และระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง

“โรคหวัด” เรื่องธรรมดาที่ไม่อาจหนีพ้น

โรคของระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่พบได้บ่อยสุดคงหนีไม่พ้นโรคหวัด แม้กระทั่งข้อมูลของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกายังพบอุบัติการณ์ของโรคหวัดในเด็กวัยเรียน ที่ถือว่าเป็นปกติประมาณปีละ 6-8 ครั้ง ดังนั้นคุณพ่อ คุณแม่ที่มีลูกวัยเข้าเรียนที่พอเริ่มไปโรงเรียนปุ๊บ! เป็นหวัดปั๊บ! บางคนไปโรงเรียน 2 วัน หยุด 1 อาทิตย์ บางคนไปอาทิตย์เว้นอาทิตย์ อย่าเพิ่งรีบคิดว่า ลูกของคุณพ่อ คุณแม่ ผิดปกติมากมาย เพราะว่าเดิมอยู่ที่บ้านโอกาสที่จะติดเชื้อน้อยกว่า ภูมิต้านทานก็ยังไม่แข็งแรง พอเริ่มไปโรงเรียนเพื่อนๆ เป็นหวัดโอกาสติดต่อก็เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งถ้าห้องเรียนเป็นห้องแอร์ โอกาสการติดเชื้อยิ่งง่ายกว่าปกติ โรคหวัดจะติดต่อกันโดยผ่านทางลมหายใจ และสารคัดหลั่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูก น้ำลาย เป็นต้น
สาเหตุของโรคหวัดในเด็กมากกว่า 60-70% เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีมากมาย ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางระบบหายใจมีมากกว่า 200 ชนิดขึ้นไป และนอกจากนี้ อาจจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้ หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสจะทำให้มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เจ็บคอ ไอจาม คัดจมูก แสบตา น้ำตาไหล ตาแดง ส่วนใหญ่จะมีอาการอยู่ประมาณ 5-7 วัน ก็จะหายเป็นปกติ ถ้าเป็นหวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้สูง บายรายอาจหนาวสั่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ซึ่งลักษณะของน้ำมูกมักจะมีสีเขียวปนเหลืองให้เห็นตั้งแต่วันแรกๆ ของโรค อาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ และกดเจ็บร่วมด้วย จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้อักเสบร่วมกับการรักษาตามอาการ

โรคของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง…เรื่องนี้ต้องรู้

ในที่นี้จะกล่าวถึง โรคหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อย และมีอาการตั้งแต่รุนแรงน้อยจนถึงมาก อาการของโรคหลอดลมอักเสบ เกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ เช่น การติดเชื้อ การแพ้ และการระคายเคืองจากสารเคมี จะขอกล่าวถึงเฉพาะโรคหลอดลมอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ อาการโดยทั่วไปมักเริ่มด้วยอาการของโรคหวัดนำมาก่อน เช่น ไข้ น้ำมูกใส ต่อมามีอาการไอ เริ่มต้นมักจะไอแห้งๆ แล้วตามมาด้วยไอมีเสมหะขาวใส หรือเหลือง ขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอาการ เป็นได้ทั้งเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย อาการไอเป็นอาการเด่นที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ บางคนจะให้ประวัติว่าไอ มากจนอาเจียน หรือไอจนนอนไม่ได้ บางครั้งจะมีลักษณะของอาการหอบร่วมด้วย

โรคปอดอักเสบ

เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอดเอง พบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และมักจะรุนแรงมากกว่า เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาการที่พบจะประกอบด้วย ไข้ ไอ หายใจหอบ หรือมีลักษณะหายใจลำบาก ในเด็กเล็กมักจะมีอาการงอแงมากกว่าปกติ ไม่ยอมกินอาหารและน้ำ แยกจากภาวะหลอดลมอักเสบ ได้จากการตรวจร่างกาย จะฟังได้ยินเสียงผิดปกติของปอด และเสียงหายใจ สาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งพบได้ทั้งจากเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย นอกจากนั้น อาจเกิดจากการสูดสำลักอาหาร และน้ำ รวมทั้งสารเคมีต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา ในเด็กที่เป็นปอดอักเสบหลายๆ ครั้ง อาจจะทำให้เกิดความผิดปกติของทางเดินหายใจอย่างถาวรได้ เช่น อาจจะทำให้เกิดเป็นโรคหลอดลมโป่งพอง ส่งผลทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ถดถอย และจำเป็นต้องให้การรักษาอย่างต่อเนื่องเหมาะสมตลอดชีวิต

“โรคระบบทางเดินหายใจ” เป็นแล้วรีบรักษา…ไม่สายเกินแก้

สำหรับข้อบ่งชี้ที่ต้องรีบนำผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจมาพบแพทย์ ก็คือ
  • เป็นผู้ป่วยเด็กอายุน้อย โดยเฉพาะถ้าน้อยกว่า 3 เดือน
  • มีอาการไข้สูง หายใจหอบ เหนื่อย
  • เจ็บคอ หรือมีน้ำมูกเขียวเหลืองร่วมกับมีไข้มากกว่า หรือเท่ากับ 38.5 องศา
  • มีอาการปวดบริเวณโพรงจมูก
  • ปฏิเสธไม่ยอมกินอาหาร และน้ำ
  • อาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 อาทิตย์

รู้เท่าทัน ป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจในฤดูฝน

จะเห็นได้ว่าในช่วงฤดูฝน หรือฤดูหนาว เด็กจะป่วยด้วยปัญหาทางเดินหายใจจำนวนมาก และบ่อยกว่าปกติ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และการแพร่ระบาดของเชื้อโรค หากคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองไม่อยากจะให้ลูกหลานต้องป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ ก็ควรให้การดูแลที่เหมาะสมเพื่อเป็นการป้องกัน ตัวอย่างเช่น การจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านที่อยู่อาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ  ไม่เข้าไปบริเวณที่มีคนแออัดจำนวนมาก  ล้างมือก่อนรับประทานขนม หรืออาหาร รวมทั้งมีการออกกำลังกายที่เหมาะสม   กินอาหารครบ 5 หมู่ รวมทั้งดื่มน้ำสะอาดก็จะช่วยให้โอกาสการติดเชื้อลดลง นอกจากนี้ ในปัจจุบันก็มีวิวัฒนาการของวัคซีนต่างๆ มากมายที่สามารถป้องกันโรคติดเชื้อทางระบบหายใจที่มีประสิทธิภาพ และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
สอบถามเพิ่มเติมที่ Super Kid’s Center
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 3310, 3312 และ 3319
  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating