ความยาวปากมดลูกนั้นสำคัญไฉน
ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด คือ ภาวะที่มีการหดรัดตัวของมดลูกอย่างสม่ำเสมอและแรงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกตามมา อันจะนำไปสู่การคลอดทารกก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์เต็ม ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพพลภาพและมีอัตราตายสูง โดยขึ้นกับอายุครรภ์ที่คลอดและสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดนั้น ยิ่งคลอดขณะอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์หรือคลอดจากภาวะติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพพลภาพ/เสียชีวิตสูงมากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดมีหลายประการ เช่น
- อายุมารดามากกว่า 35 ปี หรือน้อยกว่า 18 ปี
- มีประวัติการคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ก่อน
- มีความผิดปกติของโพรงมดลูกหรือปากมดลูก
- การตั้งครรภ์แฝด หรือมีภาวะน้ำคร่ำมาก
- การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ / ระบบสืบพันธุ์
- การสูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติดในมารดา
- ภาวะทุพโภชนาการ
จะเห็นได้ว่าปัจจัยเสี่ยงของภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดนั้น มีทั้งปัจจัยที่ป้องกันได้และป้องกันไม่ได้ สตรีตั้งครรภ์จึงควรให้ความใส่ใจในการเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ ตรวจคัดกรองและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดในครรภ์นั้นๆ เมื่อเริ่มตั้งครรภ์แล้วควรรีบไปฝากครรภ์เพื่อให้แพทย์ช่วยประเมินความเสี่ยง และให้การป้องกันด้วยยาเพื่อลดโอกาสเกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจคัดกรองที่สำคัญอยู่ 2 วิธี คือ การพิจารณาประวัติคลอดก่อนกำหนด / แท้งบุตรไตรมาส 2 และการวัดความยาวปากมดลูกโดยตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด (Transvaginal Cervical Length Measurement)
มีประวัติคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ก่อนหน้า
หากสตรีตั้งครรภ์มีประวัติเคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน แนะนำให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนชนิดฉีดเข้ากล้าม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตั้งแต่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ และตรวจวัดความยาวปากมดลูกทุก 2 สัปดาห์ หากพบว่าสั้นกว่า 2.5 cm แนะนำทำการเย็บผูกปากมดลูก (Cervical Cerclage)
กรณีเคยแท้งบุตรไตรมาส 2 ติดต่อกัน 3 ครรภ์ก่อนหน้า จากภาวะ Cervical incompetence แนะนำทำการเย็บผูกปากมดลูกเลย ก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์
ไม่มีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน
แนะนำรับการตรวจคัดกรองวัดความยาวปากมดลูกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงตั้งแต่อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ขึ้นไป โดยเพิ่มเติมจากการตรวจดูความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงทางหน้าท้อง ถ้าพบว่าสั้นมากกว่า 2 cm แพทย์จะให้ยาฮอร์โมนเหน็บทางช่องคลอดทุกวัน แต่ถ้าปากมดลูกสั้นกว่า 1.5 cm อาจได้รับการแนะนำให้ทำการเย็บผูกปากมดลูกเลยเพื่อลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด / แท้งในไตรมาส 2
จะเห็นได้ว่าการตรวจวัดความยาวปากมดลูกนั้น มีความสำคัญและมีประโยชน์ในการคัดกรองความเสี่ยง เพราะเป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย และหากพบว่าปากมดลูกสั้น ก็มีวิธีการดูแลด้วยยาฮอร์โมนรองรับ ดังนั้น เมื่อสตรีตั้งครรภ์ไปรับการตรวจดูความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงตามนัดแล้ว ควรได้รับการตรวจประเมินความยาวปากมดลูกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอดเพิ่มเติมไปด้วยในคราวเดียวกัน
นอกจากการตรวจคัดกรองความเสี่ยงด้วยการวัดความยาวปากมดลูกและจากประวัติแล้ว สตรีตั้งครรภ์สามารถลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดลงได้อีก ด้วยการดูแลสุขอนามัยขณะตั้งครรภ์ ฝากครรภ์สม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติ เช่น อาการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ / ระบบสืบพันธุ์สตรี ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เฝ้าสังเกตอาการมดลูกหดรัดตัวก่อนกำหนด หากมีอาการเจ็บครรภ์ / มีมูกเลือด / น้ำเดิน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจประเมินภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด และให้ยายับยั้งการหดรัดตัวของมดลูกตามความเหมาะสม
มาช่วยกันลดภาวะทารกคลอดก่อนกำหนด ด้วยการตรวจคัดกรองภาวะปากมดลูกสั้นกันนะคะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-7340000 ต่อ 3200 , 3204
- Readers Rating
- Rated 3.5 stars
3.5 / 5 (Reviewers) - Very Good
- Your Rating