สำหรับนักบริหารรุ่นใหญ่จนถึงเด็กรุ่นใหม่ ที่ใช้เวลานั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือวุ่นวายกับเอกสารที่ต้องพิมพ์จนแทบจะไม่ได้ลุกเดินออกไปไหน มิหนำซ้ำบางคนยังต้องเอางานกลับมาทำที่บ้านจนไม่ได้พักผ่อน ซึ่งแน่นอนร่างกายของเราไม่ใช่เครื่องจักรย่อมมีวันเหนื่อยและอ่อนล้า สิ่งที่ตามมาก็คือ ความเสื่อมถอยของร่างกายซึ่งไปสู่ความเสี่ยงต่อการคุกคามด้วยโรคต่างๆ ได้ไม่น้อย ลองให้เวลาสำรวจความผิดปกติของร่างกายตัวเองสักนิด จะได้รู้ว่าร่ายการของคุณส่งสัญญาณเตือนภัยแล้ว
คุณเคยมีอาการในลักษณะนี้หรือไม่?
- อาการปวดตามโคนนิ้ว มีเสียงเวลากำเหยียดนิ้ว นิ้วติด กำมือได้ไม่สุด
- อาการมือชา (บางคนต้องตื่นจากการนอนเพื่อมาสะบัดมือตอนกลางคืน) สังเกตพบกล้ามเนื้อลีบลง อาการอ่อนแรงเวลาหยิบ จับของ
- อาการปวดบริเวณข้อมือ เวลาหิ้วของ ยกของหนัก เวลาใช้คอมพิวเตอร์ ทำงานบ้าน
- อาการปวดข้อศอก เวลางอ เหยียดข้อศอก
- อาการปวดคอ ปวดบ่า เรื้อรัง บางครั้งสามารถคลำได้ก้อนแข็งร่วมกับ กดเจ็บ
คุณรู้จักโรคเหล่านี้ดีแล้วหรือยัง?
- โรคนิ้วล๊อค หรือ โรคปลอกหุ้มเอ็นนิ้วมืออักเสบ (Trigger Finger) อาการโดยทั่วไป เวลากำมืองอนิ้วได้ แต่เวลาเหยียดนิ้วออก นิ้วใดนิ้วหนึ่งเกิดเหยียดไม่ออกเหมือนโดนล็อคไว้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “นิ้วล็อค” ซึ่งโรคดังกล่าวจะพบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และอายุที่พบบ่อยอยู่ที่ประมาณ 40-50 ปี โดยมากจะเกิดกับผู้ใช้งานมือในลักษณะเกร็งนิ้วบ่อยๆ เช่น การทำงานบ้านต่างๆ การบิดผ้า การหิ้วของหนัก การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตัดผ้า กายยกของหนักต่างๆเป็นต้น
- โรคพังผืด กดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) จะมีอาการ ชานิ้วมือ ซึ่งมักจะเป็นที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง เริ่มแรกมักจะมีอาการชาตอนกลางคืน ถ้าสะบัดข้อมืออาการจะดีขึ้น ต่อมาอาการชาจะเป็นมากและบ่อยขึ้น จนกระทั่งชาเกือบตลอดเวลา นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีแรง ทำของหลุดจากมือโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งหากเป็นนานๆ โดยไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการอุ้งมือด้านข้างลีบได้
- โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain Tenosynovitis) สาเหตุปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มักจะพบในสตรีวัยกลางคนอายุประมาณ 30-50 ปี และพบในผู้หญิงบ่อยกว่าผู้ชาย ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้งานข้อมือและนิ้วหัวแม่มือซ้ำๆกัน เช่น การทำงานบ้าน การทำสวน การยกของ การเล่นกอล์ฟ เป็นต้น สำหรับอาการผู้ป่วยจะปวดข้อมือด้านโคนนิ้วหัวแม่มือ โดยเฉพาะเวลากำมือเพื่อหยิบจับสิ่งของ การบิดหมุนข้อมือ หรือการทำงานบางอย่าง เช่น การกวาดบ้าน การบิดผ้า ถ้ามีการอักเสบมากอาจปวดร้าวขึ้นไปบริเวณแขนหรืออาจมีอาการบวมของข้อมือบริเวณนั้นร่วมด้วย
- โรคจุดเกาะเอ็นข้อศอกอักเสบ (Tennis Elbow, Lateral Epicondylitis) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเล็กๆ น้อยๆ มาเป็นเวลานานบริเวณข้อศอกด้านนอก อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อยกของ หรือ บิดแขน บางครั้งจะมีอาการปวดร้าวไปบริเวณแขน หรือต้นแขน มีจุดกดเจ็บทางด้านนอกของข้อศอก เมื่อผู้ป่วยคว่ำมือ หรือกระดกข้อมืออย่างแรงในขณะเหยียดข้อศอก จะเจ็บข้อศอกอย่างมาก ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าวเนื่องจากการใช้กล้ามเนื้อกลุ่มดังกล่าวซ้ำๆมากเกินไป เช่น การเล่นกีฬาที่มีการใช้แร็กเก็ต(การเหวี่ยงแขนในท่าหลังมือ) หรือการถือของหนักเป็นเวลานานๆ เช่นการถือแฟ้มเอกสาร ถือหนังสือ หรือการอุ้มเด็ก
- โรคกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ (Myofascial Pain Syndrome) ซึ่งโรคปวดกล้ามเนื้อที่พบบ่อยมาก คือ กลุ่มอาการปวดจากปมกล้ามเนื้อหดตัว ซึ่งเป็นบริเวณที่ขาดเลือดไปเลี้ยงและแสดงอาการปวดออกมาเฉพาะแบบตามแต่กล้ามเนื้อนั้นๆ และทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการชา ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง และรักษาได้ยาก อย่างไรก็ตามการรักษาโรคดังกล่าวให้ได้ผลดีที่สุด คือต้องหาสาเหตุและแก้ปัจจัยกระตุ้นที่เป็นต้นเหตุ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ เช่นการปรับท่าทางการทำงานให้ถูกต้อง ปรับโต๊ะ เก้าอี้ทำงานให้เหมาะกับสรีระ กำจัดความเครียด ไม่ทำงานหักโหมเกินไป ออกกำลังกายเฉพาะส่วน เพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้ทนต่องานมากขึ้น
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-7340000 ต่อ 2298 , 2299
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating