ไม่น่าแปลกใจหากช่วงนี้ไปไหนมาไหนจะเห็นคนส่วนใหญ่ก้มหน้าก้มตาให้กับโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน เพราะปัจจุบันสมาร์ทโฟนได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะด้วยฟังก์ชั่นหรือแอพพลิเคชั่นที่มีมากมายจนทำให้คนใช้เพลิดเพลิน การติดต่อสื่อสารกับเพื่อนสนิทคนรู้ใจสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่มีข้อจำกัดด้านเสียงว่าจะรบกวนผู้อื่น เพราะสามารถพูดคุยผ่านตัวหนังสือจากการแชทได้อย่างสะดวก หรือบางคนเป็นคอเกมสมาร์ทโฟนก็มีเกมยอดฮิตให้เล่นกันตลอดเวลา แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าการเสพติดสมาร์ทโฟนอาจนำมาซึ่งโรคเส้นเอ็นนิ้วโป้งอักเสบ
เส้นเอ็นของคนเราจะถูกหุ้มด้วยปลอกหุ้มเส้นเอ็น (A1 Pulley) เหมือนกับสายไฟในท่อร้อยสายไฟ เมื่องอหรือเหยียดนิ้ว เส้นเอ็นจะขยับอยู่ในปลอกหุ้ม ซึ่งการเล่นเกม แชท หรือกดหน้าจอสมาร์ทโฟนที่ค่อนข้างเล็กบ่อยๆจะทำให้นิ้วโป้งมีการงอที่มากกว่าปกติ เกิดการเสียดสีระหว่างปลอกหุ้มกับเส้นเอ็น จนอักเสบ บวม เอ็นจะผ่านปลอกหุ้มได้ไม่สะดวก ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณที่โคนนิ้วโป้ง เป็นมากๆ อาจเกิดนิ้วล็อก เหยียดไม่ออกได้
ซึ่งโรคดังกล่าวมักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมักพบในกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวต่างๆ หรือคนที่งอนิ้วบ่อยๆ เป็นระยะเวลานาน เช่น พิมพ์งาน, หิ้วถุงใส่ของ, หรือกำมือหยิบของ สำหรับอาการที่กลุ่มคนเหล่านี้จะมาพบแพทย์ คือ ปวดบริเวณโคนนิ้วด้านในฝ่ามือ มีอาการนิ้วสะดุดหรืองอเหยียดนิ้วได้ไม่สุด มีอาการปวดช่วงเช้าและจะดีขึ้นเมื่อขยับมือสักพัก ในการรักษาโรคดังกล่าวแพทย์ต้องประเมินก่อนว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะใดของอาการ แค่การอักเสบ หรือถึงขั้นเป็นโรคนิ้วล็อกแล้ว ซึ่งแพทย์จะเริ่มต้นการรักษาด้วยการให้หยุดพักการใช้งานนิ้วมือ ร่วมกับการทานยาต้านการอักเสบของเส้นเอ็นหรือยาแก้ปวด และการกายภาพเอ็นข้อนิ้ว โดยใช้หนังยางหนาใส่นิ้วและถ่างออก โดยทำอย่างน้อยวันละ 30-60 รอบ หากอาการยังไม่ดีขึ้น อาจต้องฉีดยาลดการอักเสบสเตอรอยด์ หรืออาจต้องเข้ารับการผ่าตัดขยายปลอกหุ้มเส้นเอ็นให้เอ็นเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและพยายามหลีกเลี่ยงการเล่นสมาร์ทโฟนที่บ่อยเกินไป
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 2298
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating