โรคมะเร็งตับ ถือเป็นโรคใกล้ตัวและพบได้บ่อยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย แตกต่างจากมะเร็งตับอ่อนที่พบได้ไม่บ่อยนัก และเป็นมะเร็งที่มีการเจริญเติบโตของโรคที่รวดเร็วมาก โดยเฉพาะหากตรวจพบในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายในระยะเวลา 3-6 เดือน แต่หากรู้จักวิธีการดูแลตัวเองและหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยให้การรักษามะเร็งตับมีประสิทธิภาพและมีโอกาสหายขาดได้
รู้จักโรคมะเร็งตับ
โรคมะเร็งตับ หลายคนอาจคิดว่าเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วโรคมะเร็งตับยังมีสาเหตุการเกิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ได้อีกด้วย
แพทย์หญิงศศิพิมพ์ จามิกร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายถึงโรคมะเร็งตับว่า ตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ในการจัดการสารอาหารที่ดูดซึมเข้าจากลำไส้ ผลิตสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน และการแข็งตัวของเลือด รวมถึงมีหน้าที่ทำลายของเสียและสารพิษออกจากร่างกาย เมื่อเซลล์ตับมีการแบ่งตัวที่ผิดปกติ จะทำให้เกิดก้อนเนื้อที่ตับ และอาจส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งตับได้
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งตับ
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็งตับ ได้แก่
- ติดเชื้อโรคตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบบีและซี แบบเรื้อรัง
- โรคตับแข็ง
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- รับประทานยา อาหารเสริมบางชนิด หรือได้รับสารพิษมากเกินไป
- ภาวะไขมันพอกตับ พบได้ในกลุ่มคนที่เป็นโรคอ้วน อ้วนลงพุง เป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูงและความดันโลหิตสูง
อย่างไรก็ตาม แม้คนที่ไม่เคยเป็นโรคตับแข็ง ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับได้เช่นกัน จึงต้องหมั่นเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองอยู่เสมอ
ประเภทของมะเร็งตับ
โรคมะเร็งตับในประเทศไทยที่พบมากมี 2 ชนิด คือ
- มะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma) เป็นมะเร็งที่พบได้ทั่วทุกภาค
- มะเร็งท่อน้ำดีตับ (Cholangiocarcinoma) เป็นมะเร็งที่พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ สัมพันธ์กับการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ
นอกจากนั้น มะเร็งที่พบที่ตับอาจจะเป็นมะเร็งที่ลุกลามจากอวัยวะอื่นมายังตับได้เช่นกัน เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอดมะเร็งเต้านม และมะเร็งทวารหนัก
ระยะของโรค
แพทย์หญิงศศิพิมพ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการแบ่งระยะโรคมะเร็งตับได้ 5 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 จะมีก้อนเนื้อที่ตับขนาดเล็กเพียงก้อนเดียวไม่เกิน 2 เซนติเมตร ระยะนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้
ระยะที่ 2 จะมีก้อนเนื้อมะเร็งเพียงก้อนเดียว หรือมีก้อนเนื้อไม่เกิน 3 ก้อน ขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร ระยะนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้เช่นเดียวกัน
ระยะที่ 3 จะมีก้อนเนื้อมะเร็งหลายก้อนขนาดโตกว่ามะเร็งระยะที่ 2
ระยะที่ 4 ก้อนเนื้อที่ตับโตมาก อาจมีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงตับ หรือเข้าหลอดเลือดดำในท้อง หรือลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ตับ หรือแพร่กระจายตามกระแสเลือดเข้าสู่ตับกลีบอื่น ๆ รวมถึงอาจลุกลามไปสู่อวัยวะอื่น ๆ
ระยะที่ 5 ผู้ป่วยเริ่มมีสุขภาพทรุดโทรม อาจมีภาวะแทรกซ้อน นอนติดเตียงเป็นส่วนใหญ่ และ/หรือตับทำงานแย่ลง ระยะนี้แพทย์จะเลือกวิธีรักษาตามอาการเพื่อให้ผู้ป่วยสบายขึ้น และเจ็บปวดน้อยลง
อาการ การวินิจฉัย และการรักษา
อาการที่พบบ่อย
ผู้ป่วยมะเร็งตับระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการผิดปกติชัดเจน ส่วนอาการแสดงที่สามารถพบได้และควรสังเกตอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่
- ปวดจุกแน่นท้อง
- รับประทานอาหารแล้วอิ่มเร็ว
- อ่อนเพลียง่าย
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
- คันผิวหนัง
ในกรณีที่เป็นมากขึ้นจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และท้องมานร่วมด้วย
การวินิจฉัย
เมื่อพบว่ามีอาการต้องสงสัย ควรรีบมาพบแพทย์ โดยแพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
- อัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound) เพื่อตรวจว่ามีก้อนเนื้อที่ตับหรือไม่
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ( MRI ) ของช่องท้อง ร่วมกับการตรวจเลือดหรือทำการเจาะตรวจชิ้นก้อนเนื้อที่ตับ
- การฉีดสีเพื่อตรวจและวางแผนการผ่าตัดมะเร็งตับ
การรักษามะเร็งตับ
เมื่อผลการตรวจวินิจฉัยระบุว่าเป็นโรคมะเร็งตับ แพทย์จะเริ่มวางแผนการรักษาที่เหมาะสมตามชนิด และระยะของโรค ซึ่งหากตรวจว่าเป็นระยะแรก ๆ มีโอกาสรักษาหายขาดได้ โดยวิธีรักษาที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันได้แก่
- การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก เป็นวิธีรักษามาตรฐาน โดยผู้ป่วยควรได้รับการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคตับและทางเดินน้ำดี
- การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ การรักษานี้มักใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้โดยวิธีอื่น ซึ่งการปลูกถ่ายตับจะทำให้ตับสามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง
- ใช้ความร้อนฆ่าเซลล์มะเร็งตับ โดยแพทย์อาจเลือกใช้พลังงานความร้อนจากคลื่นความถี่วิทยุ (RFA) จี้ทำลายก้อนมะเร็ง หากตับทำงานแย่ลงมาก
- การให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดแดง (TACE) เป็นการให้ยาคีโมรักษามะเร็งตับ โดยฉีดไปที่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งตับโดยตรง และอุดหลอดเลือดบริเวณที่ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งค่อย ๆ ตายไป เหมาะกับผู้ที่ไม่สามารถผ่าตัดได้
- การให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เพื่อช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง
- การให้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) สำหรับมะเร็งตับ เป็นยาที่ออกฤทธิ์กับเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ มีผลข้างเคียงกับเซลล์ปกติน้อยกว่าการใช้ยาคีโมรักษามะเร็งตับ
ปัจจุบันการรักษามะเร็งตับก้าวหน้าไปมาก ทั้งในด้านวิธีการรักษา สูตรยาที่ใช้ ตลอดจนเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม การดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคมะเร็งตับก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ปรับพฤติกรรมการรับประทาน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจและรักษาโรคมะเร็งตับ สามารถนัดหมายและติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ชั้น 2 โรงพยาบาลเวชธานี โทร. 02-7340000 ต่อ 2960, 2961, 2966 วันจันทร์-วันอาทิตย์ เวลา 08.00 – 17.00 น.
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating