อาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นและการรักษา | โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

Share:

หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หรือ กระดูกทับเส้น ที่ผู้ป่วยนิยมพูดกันบ่อยๆ คือ ภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ซึ่งเกิดจากอายุที่มากขึ้นและการเสื่อมสภาพจะเกี่ยวข้องกับการใช้งาน การยกของหนัก ตลอดจนอุบัติเหตุกระแทกบริเวณกระดูกสันหลังบ่อยๆ ทำให้กระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น พบว่ามีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังและข้อต่อกระดูกสันหลังด้านหลัง (ข้อต่อฟาเซ็ท) ทำให้เกิดการทรุดตัวของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ร่างกายจะมีการตอบสนองโดยการสร้าง กระดูกงอก หรือหินปูนขึ้นมา เพื่อต้านการทรุดตัวดังกล่าว กระดูกงอกที่ร่างกายสร้างขึ้นมาใหม่ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่บางรายเกิดกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทและทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาท ทำให้ปวดขาชาขา ผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังเสื่อมและทรุดพบว่าถ้ามีการทรุดตัวมากขึ้นก็จะทำ ให้เกิดกระดูกสันหลังคด หรือบางรายผู้ป่วยก็พบว่าหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาททำให้กระดูกสันหลังเคลื่อน

อาการภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

อาการหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทหรือ กระดูกทับเส้น เบื้องต้นที่พบบ่อยๆ มีอาการปวดหลัง เป็นๆ หายๆ เป็นเวลานาน มีอาการปวดขาตั้งแต่บริเวณสะโพกร้าวไปบริเวณน่อง เท้า ซึ่งจะปวดมากเวลาเดิน ทำ ให้เดินได้ไม่ไกล ต้องหยุดเดินเป็นระยะๆ อาการปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง เป็นอาการเด่นของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ปวดมากหรือปวดน้อยขึ้นอยู่ว่ากดมากหรือน้อยเป็นสำคัญ ถ้าทิ้งไว้นาน เส้นประสาทจะทำงานได้น้อยลง อาการชาและอ่อนแรงของขาซีกนั้นจะเริ่มเด่นชัดขั้น อาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นทั้งหมดจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น คนที่เป็นหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทจะคุ้นเคยกับอาการและบอกรายละเอียดของอาการได้เป็นอย่างดี พบว่ามี 1-2 % ของผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทอย่างรุนแรง มีอาการ กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง เดินไม่ได้ และควบคุมการขับถ่ายไม่ได้อาการกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โดย โรงพยาบาลเวชธานี

การป้องกันภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

สำหรับวิธีป้องกันหมอนรองกระดูกทับเส้นอันดับแรก คือ การเล่นกีฬา การออกกลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ประการที่สอง ลดการใช้งานของกล้ามเนื้อหลังลง โดยการปรับท่านั่งให้หลังตรง หรือเดินตัวตรง และประการที่สามคือ การลดน้ำหนัก สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักที่มากเกินไป เนื่องจากหลังจะต้องเป็นส่วนที่รับน้ำหนักตัวของคนเรา เมื่อมีน้ำหนักตัวมากเกินไป การทำงานของกล้ามเนื้อหลังก็จะมากไปด้วยอาจทำให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้น การลดน้ำหนักจึงถือเป็นการผ่อนคลายการใช้งานของกล้ามเนื้อหลังให้เบาแรงในการทำงานลงด้วย

การรักษาหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทหรือ กระดูกทับเส้น มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการกดทับเส้นประสาท แนวทางการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังหรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง และแนวทางในการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของหมอนรองกระดูกบวมแตกไปกดทับเส้นประสาทและส่งผลขั้นรุนแรง รักษาโดย

1. การผ่าตัด

เพื่อที่จะตัดเอาส่วนกระดูกทับเส้นประสาทออก หรืออาจจะมีการเปลี่ยนหมอนรองกระดูกใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีการรักษาที่ทันสมัยขึ้น และมีความเสี่ยงน้อยลง การผ่าตัดแผลเล็ก ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และโอกาสในการติดเชื้อน้องลง เทคโนโลยีในการรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยกล้องจุลทัศน์มาช่วยในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทขั้นรุนแรง ซึ่งต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว

การผ่าตัดด้วยกล้องจุลทัศน์มี 2 แบบ โดยแบบที่หนึ่ง เป็นกล้องจุลทัศน์ที่เป็นตัวขยายเฉพาะจุด และแบบที่สองเป็นกล้องนำทาง ซึ่งจะเป็นการเจาะท่อเข้าไปภายในเพื่อที่จะสามารถมองเห็นในจุดที่จะทำงานผ่าตัด โดยแพทย์สามารถมองที่จอแสดงผลผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต่อกับตัวกล้อง และจะมีอุปกรณ์ผ่าตัดอีกชุดหนึ่ง ที่จะทำหน้าที่ในการผ่าตัด ซึ่งแพทย์สามารถมองจากจอแสดงผลได้และทำการผ่าตัดเฉพาะจุดได้ง่ายขึ้นก่อนการทำผ่าตัดทุกครั้ง ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังรุนแรงมากจะต้องทำการเอกซเรย์สนามแม่เหล็กหรือ MRI ก่อนทุกครั้ง เพื่อที่จะหาจุดที่เป็นสาเหตุของอาการ และบอกได้แน่นอนที่สุดว่าความที่จะแก้ที่จุดไหน

2. รักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดร่วมกับการผ่าตัด

เพื่อช่วยลดอาการเกร็ง และบิดตัวของกล้ามเนื้อหลัง

3. รักษาด้วยนวัตกรรมใหม่ (NUCLOPLASTY)

ได้ผ่านการ รับรองโดยองค์การอาหารและยาจากสหรัฐอเมริกา การรักษาโดยวิธี Nucleoplasty (Coblation) โดยใช้คลื่น RF (RADIOFREQUENCY) ความร้อนประมาณ 40-70° C สลายหมอนรองกระดูกสันหลังที่เคลื่อนกดทับเส้นประสาท โดยไม่มีการทำลายหรืออันตรายต่อเนื้อเยื่อที่ใกล้เคียง ซึ่งหัวเข็มที่ปล่อยคลื่น RF ขนาดเข็มฉีดยาเบอร์ 17 สอดผ่านผิวหนังเข้าไปในหมอนรองกระดูกสันหลัง

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0 2734 0000 ต่อ 5500, 5550

ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลัง ทับเส้นประสาท

  • Readers Rating
  • Rated 4.3 stars
    4.3 / 5 (6 )
  • Your Rating