ปัจจุบันมีการตื่นตัวเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนเป็นอย่างมาก ทั้งในประเทศไทย และทั่วโลกองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้กำหนดความสำคัญของโรคกระดูกพรุนไว้เป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคกระดูกพรุนคืออะไร
โดยปกติ กระดูกของคนเราเป็นอวัยวะที่มีชีวิต กระดูกมีเซลล์หลักอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นเซลกระดูกที่มีหน้าที่สลายกระดูกเรียกว่า Osteoclast เซลล์อีกชนิดหนึ่งมีหน้าที่สร้างกระดูกใหม่เรียกว่า Osteoblast เซลล์ทั้ง 2 ชนิดนี้ทำงานอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย
ช่วงเวลาของการสร้างและสลายกระดูกสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงดังนี้
- ช่วงของการสร้างมวลกระดูก เริ่มต้นเมื่อแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 30 ปี ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการสร้างมวลกระดูกมากกว่าการสลายมวลกระดูก มวลกระดูกของร่างกายจึงเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดที่เรียกว่า Peak Bone Mass
- ช่วงของการคงมวลกระดูก หลังจากอายุ 30 ปีไปแล้วการสร้างกระดูกจะลดลงจนเท่ากับการสลายกระดูก มวลกระดูกรวมจึงคงที่ ไปจนถึงอายุประมาณ 45 ปี
- ช่วงการสลายมวลกระดูก จากอายุ 45 ปีขึ้นไป การสร้างมวลกระดูกจะลดลงเรื่อยๆ มวลกระดูกรวมของร่างกายจึงลดลงตามลำดับ สตรีในช่วงหมดประจำเดือน การสลายมวลกระดูกจะรวดเร็วมากทำให้มวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็ว
โรคกระดูกพรุน คือ โรคที่ผู้ป่วยมีมวลกระดูกต่ำกว่าปกติ และมีแนวโน้มจะต่ำลงเรื่อยๆ จนเป็นสาเหตุให้เกิดกระดูกหักจากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย และมีโอกาสที่กระดูกที่หักจะไม่ติดกัน
อันตรายของโรคกระดูกพรุน
แม้ว่าโรคกระดูกพรุนจะไม่ได้ทำให้เสียชีวิตโดยตรง แต่โรคกระดูกพรุนเป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่างๆ มากมาย จากการเคลื่อนไหวร่างกายที่ทำได้ไม่เต็มที่อันเนื่องมาจากอาการปวด หรือภาวะกระดูกหัก
การพักรักษาตัวเป็นเวลานาน ย่อมทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้นได้ เช่น ภาวะถุงลมโป่งพอง ภาวะการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือด อันเป็นสาเหตุให้สุขภาพโดยรวมเลวลงอย่างรวดเร็วจนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
เมื่อผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนได้รับอุบัติเหตุทำให้เกิดภาวะกระดูกหักขึ้น กระดูกนั้นจะใช้เวลาในการเชื่อมต่อตัวเองนานกว่ากระดูกปกติ หรืออาจไม่ติดเลยก็ได้ ผู้ป่วยจะต้องอยู่ในเฝือกนานขึ้นเป็นสาเหตุให้เกิดอาการข้อยึดติด ไม่สามารถใช้ร่างกายส่วนนั้นได้เป็นระยะเวลานาน หรืออาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดยึดกระดูกซึ่งผลการรักษามักไม่ได้ผลดี
อาการของโรคกระดูกพรุน
ปวดหลัง เป็นอาการหนึ่งที่พบได้ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคกระดูกพรุน ในผู้ป่วยที่อายุยังน้อย โรคกระดูกพรุนมักจะไม่มีอาการใดๆ
การตรวจหาโรคกระดูกพรุน
การตรวจหาโรคกระดูกพรุนด้วยเครื่องตรวจมวลกระดูก (Bone Densitometer) เป็นวิธีที่จะทราบถึงสภาวะมวลกระดูกของเราได้ดีที่สุด การตรวจหามวลกระดูกจะแปรผลออกมาเป็นค่าทางสถิติ โดยใช้การเปรียบเทียบมวลกระดูกของเรากับมวลกระดูกของประชากรในอายุและเพศเดียวกัน
การแปรผลการตรวจมวลกระดูกจะแปรผลออกมา คือ
- มวลกระดูกปกติ (Normal) หมายถึง มีมวลกระดูกหนาแน่นเป็นปกติในอายุยังน้อย
- มวลกระดูกบาง (Osteopenia) หมายถึง มีมวลกระดูกน้อยกว่าปกติ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นโรคกระดูกพรุน เป็นภาวะที่ต้องรับการรักษาก่อนที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน
- กระดูกพรุน (Osteoporosis) หมายถึง มีมวลกระดูกน้อยกว่าปกติมากจนเสี่ยงต่อกระดูกหักหรือกระดูกยุบตัว
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน
เมื่อผลตรวจมวลกระดูกพบว่ากระดูกปกติ สิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคกระดูกพรุนคือ
- ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับเพศและวัยเป็นประจำ
- รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม
- ตรวจมวลกระดูกประจำทุกปี
- ตรวจสุขภาพประจำปี ดูแลสุขภาพโดยรวมให้ดีอยู่ตลอดเวลา
การรักษาโรคกระดูกพรุน
ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาโรคกระดูกพรุนคือ
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกบาง (Osteopenia)
- ผู้ป่วยที่มีมวลกระดูกปกติ แต่ลดลงจากปีที่แล้วมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป
ยารักษาโรคกระดูกพรุนมีหลายกลุ่ม ประกอบด้วย
- ยาออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูก ได้แก่ Estrogen, Calcitonin, Biphosphonate
- ยาออกฤทธิ์กระตุ้นการสร้างกระดูก ได้แก่ Vitamin D, Fluoride
- ฮอร์โมนออกฤทธิ์กระตุ้นการสร้างกระดูก ได้แก่ Parathyroid Hormone และ Anabolic steroids
- ยาออกฤทธิ์ประเภทอื่นๆ ได้แก่ Ipriflavone, Tibolone และ Vitamin D metabolites
การรักษาโรคกระดูกพรุนด้วยยาต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกบางและโรคกระดูกพรุน นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยหายทรมานจากอาการปวดหลังเรื้อรังแล้ว ยังลดโอกาสที่ผู้ป่วยมีเกิดภาวะกระดูกหักจากอุบัติเหตุได้อีกด้วย
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 2298
- Readers Rating
- No Rating Yet!
- Your Rating