แพทย์เตือนสิงห์นักดื่ม ระวังโรคกระดูกเสื่อมที่ข้อสะโพก - Vejthani Hospital

บทความสุขภาพ

แพทย์เตือนสิงห์นักดื่ม ระวังโรคกระดูกเสื่อมที่ข้อสะโพก

Share:

โรคกระดูกเสื่อมที่บริเวณข้อสะโพก คืออะไร

ข้อสะโพก ถือเป็นอวัยวะสำคัญส่วนหนึ่งในร่างกายของคนเรา ใช้ในการเคลื่อนไหว แบกรับน้ำหนักตัว การใช้งานเป็นเวลานาน และไม่ดูแล จึงมีโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บ และเกิดโรคกระดูกเสี่อมสึกหรอได้ เช่นเดียวกับข้ออื่นๆในร่างกาย ซึ่งหากเป็นผู้ที่มีอาการของโรคกระดูกเสื่อมที่บริเวณข้อสะโพกแล้ว จะเกิดอาการเจ็บปวดทรมาน เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก ซึ่งการเกิดโรคกระดูกเสื่อมนั้น ไม่เพียงที่จะเกิดได้แค่กับผู้สูงอายุเท่านั้น วัยหนุ่มสาวหากดูแลตัวเองไม่ดี อาจจะเป็นโรคกระดูกเสื่อมก่อนวัยได้

นพ. วิโรจน์ ลาภไพบูลย์พงศ์ ศัลยแพทย์เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ – การผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายถึงอาการปวดสะโพกเรื้อรังในคนไทยว่า อาการข้อสะโพกอักเสบเรื้อรังมาจากหลายสาเหตุ เช่น อาการข้ออักเสบจากรูมาตอยด์ ข้อสะโพกขาดเลือด เนื่องจากการดื่มเหล้าเป็นเวลานาน โรคกระดูกเสื่อมก่อนวัยจากการพัฒนาการผิดปกติ อย่างไรก็ตามในคนไทยสาเหตุที่พบส่วนใหญ่จะเกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ซึ่งโรคกระดูกเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย

“การเกิดโรคกระดูกเสื่อมที่ข้อสะโพก บางคนอาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือพัฒนาการผิดปกติ เช่น เบ้าสะโพกชันผิดปกติ จะมีปัญหาสะโพกเสื่อมก่อนเวลาเช่น ในวัย 40-50 ปี หรือผู้ที่ข้อสะโพกติดเชื้อตั้งแต่เด็กก็เกิดโรคกระดูกเสื่อมที่ข้อสะโพกในอายุน้อยได้ นอกจากนี้ ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งในผู้ชายพบบ่อย คือเป็นโรคกระดูกเสื่อมที่ข้อสะโพกร่วมกับอาการกระดูกสันหลังแข็ง ที่เรียกว่าโรค Ankylosing Spondylitis หรือ AS ซึ่งจะเกิดอาการปวดข้อสะโพกในอายุที่น้อยมาก ประมาณว่า 20-30 ปี ส่วนผู้ชายไทยทั่วไป จะเริ่มพบข้อสะโพกขาดเลือดบ่อยขึ้น จากการดื่มเหล้า”

วิธีการรักษาโรคกระดูกเสื่อมที่ข้อสะโพก

นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า หากผู้ป่วยโรคกระดูกเสื่อมมีอาการปวดข้อสะโพก ซึ่งจะมีอาการบริเวณขาหนีบ อาจจะปวดร้าวลงมาหน้าตัก ในขั้นแรกแพทย์จะแนะนำให้ทานยาแก้ปวดก่อน พร้อมๆกับลดการใช้ข้อสะโพก เช่น หลีกเลี่ยงการยกของหนัก วิ่ง กระโดด ลดระดับการออกกำลังกาย ว่ายน้ำจะเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด การขึ้นลงบันไดบ่อยๆ การนั่งยองๆ อาจจะทำให้อาการแย่ลง หากไม่ดีขึ้นจะประคับประคองต่อ โดยการทานยาแก้ปวดแก้อักเสบตามอาการที่เป็น ซึ่งจะบรรเทาอาการได้ดีในระยะเวลาหนึ่ง จนเมื่ออาการเป็นมากแล้วผู้ป่วยโรคกระดูกเสื่อม มักมีอาการปวดมาก ตลอดการเคลื่อนไหว และเป็นอาการปวดเรื้อรัง แพทย์อาจจะต้องแนะนำใช้วิธีการเปลี่ยนข้อสะโพก ซึ่งถือเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่ง โดยวัสดุในการเปลี่ยนข้อสะโพกสำหรับวัยหนุ่มสาว

ปัจจุบันมีทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกเสื่อมมากขึ้น ได้แก่ ประเภทของข้อสะโพกเทียมที่แบ่งเป็นใช้ซีเมนต์และไม่ใช้ซีเมนต์ ข้อสะโพกเทียมที่ใส่ซีเมนต์จะนิยมใช้กับผู้ป่วยที่มีอายุประมาณ 60-70 ปีขึ้นไป ส่วนข้อสะโพกแบบไม่ใส่ซีเมนต์ จะเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกเสื่อมที่อายุน้อยกว่า เนื่องจากมีอายุการใช้งานนานกว่า ถนอมโพรงกระดูก เพื่อผ่าตัดแก้ไขในอนาคตได้ดีกว่า อีกกรณีหนึ่ง คือเรื่องของข้อต่อ ยังมีหลายแบบ เช่น หัวโลหะเบ้าพลาสติก หัวเซรามิคเบ้าเซรามิค หากเป็นผู้สูงอายุจะแนะนำให้ใช้ข้อสะโพกที่เป็นหัวโลหะและเป็นเบ้าพลาสติก ซึ่งมีอายุการใช้งานนานเพียงพอและราคาประหยัดกว่า หากเป็นวัยหนุ่มสาว หากใช้ข้อสะโพกแบบเป็นพลาสติกอายุการใช้งานจะสั้นมากเพียง 10-15 ปีก็ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการรักษาโรคกระดูกเสื่อมจึงมีเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นข้อและเบ้าเซรามิคออกมา โดยมีจุดเด่นคือ แข็งแกร่งกว่า ทนทานต่อการใช้งานมากกว่า ไม่แตกง่าย และมีอายุการใช้งานประมาณ 20-30 ปี ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคน เทคโนโลยีใหม่ของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม การผ่าตัดเข้าทางด้านหน้าแผล หรือ Direct Anterior Approach (DAA) เป็นวิทยาการใหม่ล่าสุดที่ได้รับความนิยมในอเมริกาและยุโรปในปัจจุบัน ข้อดีของการรักษาโรคกระดูกเสื่อมด้วยวิธีนี้คือ แผลผ่าตัดเล็กขนาด 8-10 ซม. ฟื้นตัวเร็ว ข้อสะโพกหลุดยากกว่าการผ่าตัดวิธีอื่นๆ

การเตรียมตัวสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า แพทย์ผู้ผ่าตัดจะต้องได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติม ต้องมีความเข้าใจข้อสะโพกใหม่ที่ใส่เข้าไปอย่างดี โดยปกติแพทย์จะเป็นผู้อธิบายขั้นตอนทั้งหมดก่อนรับการผ่าตัดทั้งการดูแลก่อนการผ่าตัดและหลังการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยจะต้องให้ความร่วมมือในเรื่องข้อห้ามที่แพทย์แจ้ง เช่น ข้อสะโพกเทียมจะมีขนาดเล็กลงกว่าข้อสะโพกปกติเสมอ การเล็กลงของหัวข้อสะโพกเทียมอาจะทำให้ข้อสะโพกหลุดง่าย เวลานั่งยองๆ เวลาพลิกแรงๆ ผิดท่า ดังนั้นหากแพทย์แนะนำว่าห้ามนั่งยองๆ ห้ามใช้สะโพกมาก เราต้องหลีกเลี่ยง ต้องระวังอย่างมากโดยเฉพาะช่วง 6 สัปดาห์แรก ผู้ป่วยโรคกระดูกเสื่อมที่เข้ารับการผ่าตัดหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน จะใช้เวลาในการอยู่โรงพยาบาลรวมกายภาพประมาณ 5 วัน

จะเห็นได้ว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเป็นเทคโนโลยีใหม่ทางการแพทย์ ที่ใช้รักษาอาการของโรคกระดูกเสื่อมที่ข้อสะโพกได้ผลดีที่สุดในปัจจุบันนั่นเอง หากมีข้อสงสัยก่อนทำการรักษาควรศึกษาข้อมูลโดยการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์เฉพาะทาง เพื่อการได้รับคำแนะนำและการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง แม่นยำ และเกิดความสบายใจในการรักษา

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์ฟื้นฟูข้อเสื่อม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-7340000 ต่อ 2222 , 2224

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating