ภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือโรคอ้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายมากมาย หากต้องการดูแลสุขภาพ จึงต้องหาวิธีลดความอ้วนอย่างปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
การลดน้ำหนัก
พญ. ศศิพิมพ์ จามิกร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า วิธีการลดน้ำหนักมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี
เริ่มตั้งแต่การคุมอาหาร การใช้ยาเม็ดลดความอ้วนที่ช่วยลดการย่อยและดูดซึมอาหารพวกแป้งและไขมัน โดยหลักการของยาตัวนี้จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานจากอาหารลดลง อาจมีผลข้างเคียงเรื่องท้องเสีย ปวดท้อง ท้องอืด ในคนไข้ที่อ้วนมากอาจจะใช้วิธีนี้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ผล ส่วนยาลดความอ้วนอื่น ๆ อาจช่วยเรื่องลดความอยากอาหาร ซึ่งยาตัวนี้มีผลข้างเคียงมาก และยาบางชนิดเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ในระยะยาว ไม่สามารถใช้เพื่อรักษาได้จริง
อีกทางเลือกสำหรับคนไข้โรคอ้วน คือ การผ่าตัดลดน้ำหนัก ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี หมอจะขอยกตัวอย่างวิธีลดน้ำหนักที่นิยมทำกันได้แก่ การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วน ซึ่งมีการทำมานานแล้ว สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ดีมาก หลักการคือทำให้กระเพาะมีขนาดเล็กลง ซึ่งจะทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น พอทานได้น้อย แคลอรีต่อมื้อก็จะได้น้อยลงไปด้วย น้ำหนักจากเดิมก็จะค่อย ๆ ลดลง ผลเสียคือไม่สามารถผ่าตัดซ้ำได้อีก
แต่ล่าสุดมีวิธีการลดความอ้วนแบบที่ไม่ต้องผ่าตัด คือการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้วิธีนี้มา 10 ปีแล้ว โดยการนำบอลลูนเข้าไปแทนที่อยู่ในกระเพาะอาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลงและรู้สึกอิ่มตลอดเวลา อาจมีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอมได้ในช่วง 3 – 5 วันแรก ไม่เกิน 1 สัปดาห์ อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น
ในช่วงแรกหมอจะจัดโปรแกรมการรับประทานให้ โดยจะให้รับประทานอาหารแบบเหลว 1 – 2 วันต่อมา จะเริ่มให้รับประทานอาหารอ่อนและย่อยง่ายในปริมาณไม่มาก แต่ให้ทานบ่อย ๆ เมื่อพ้นสัปดาห์ที่ 3 สามารถรับประทานได้ตามปกติ แต่ปริมาณที่รับประทานต่อมื้อต้องลดลง เพราะควรควบคุมอาหารด้วย
วิธีลดน้ำหนักด้วยการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร
คุณจินตนา ทองนิล หรือ ปาล์มมี่ ได้เปิดเผยว่า ก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษาด้วยการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร ตัวเองมีโรคประจำตัวเป็นหอบหืด ทำให้เมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจะรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว ทำงานไม่คล่องตัว จึงกังวลว่าในอนาคตอาจเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาอีก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลองวิธีลดความอ้วนหลายวิธีด้วยกัน เช่น อดอาหาร ทานยาลดความอ้วน หรือเพื่อนแนะนำที่ไหนดีแม้ราคาแพงแค่ไหนก็ไป ผลปรากฏว่าในช่วงแรก น้ำหนักตัวก็ลด แต่ไม่นานน้ำหนักก็ปรับเพิ่มขึ้นเหมือนเดิม แต่เมื่อได้ลองหาข้อมูลก็พบว่า ที่โรงพยาบาลเวชธานีมีวิธีลดความอ้วนอย่างปลอดภัยด้วยการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร เพื่อให้น้ำหนักตัวลดลงและทำงานได้คล่องตัวขึ้น จึงได้ปรึกษากับคุณพ่อ คุณแม่ ซึ่งท่านก็ไม่ได้ห้ามอะไรและอนุญาตให้ทำ
ก่อนการรักษา คุณปาล์มมี่ซึ่งถือว่าเป็นคนไข้โรคอ้วน มีความกังวลเกี่ยวกับวิธีการลดน้ำหนักวิธีนี้ จึงเข้ามาปรึกษากับ พญ. ศศิพิมพ์ จามิกร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี ทำให้คลายความกังวลใจไปบ้าง โดยก่อนเข้ารับการรักษา คุณปาล์มมี่มีน้ำหนักตัว 101.5 กิโลกรัม แต่เมื่อใส่บอลลูนในช่วง 3 เดือนแรก น้ำหนักลดลงมาอยู่ที่ 89 กิโลกรัม และตั้งใจไว้ว่าจะลดลงให้เหลือ 65 กิโลกรัม
“พอใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารแล้ว สัปดาห์แรกจะรู้สึกอิ่มท้อง แน่นท้อง และคลื่นไส้อาเจียนเล็กน้อย ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง ซึ่งเป็นอาการทั่วไปของคนที่ใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร แต่หลังจากนั้นก็สามารถรับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น ข้าวต้มหรือโจ๊กได้ โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาน้ำหนักลดลงไป 13 กิโลกรัม หลังจากนั้น คุณหมอจะนัดดูอาการทุกเดือนเพื่อติดตามผล”
อย่างไรก็ตาม วิธีลดความอ้วนด้วยวิธีนี้ยังคงต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย ซึ่งข้อดีของการใช้วิธีลดน้ำหนักประเภทนี้ คือ มีขั้นตอนการทำที่ง่าย สามารถลดน้ำหนักได้ค่อนข้างเยอะ ภายใน 6 เดือนสามารถลดได้กว่า 20 กิโลกรัม หรือโดยเฉลี่ยตามการศึกษาประมาณ 22–24 กิโลกรัม และถ้าเราพอใจในน้ำหนักตัวแล้วก็สามารถหยุดได้หรือสามารถทำซ้ำได้ด้วยหลังจากที่ผ่านไปแล้ว 1 ปี
“ถ้าน้ำหนักกลับมาเพิ่มขึ้นอีก เช่น น้ำหนักอยู่ที่ 100 กิโลกรัม แล้วทำบอลลูนใส่ในกระเพาะอาหารจนน้ำหนักลดลงไป 20 กิโลกรัม เหลืออยู่ที่ 80 กิโลกรัม แต่กลับมาเพิ่มขึ้นอีก 5 กิโลกรัม เป็น 85 กิโลกรัม สามารถกลับมาใส่บอลลูนได้อีกรอบหนึ่งเพื่อลดน้ำหนักลงได้อีก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการปฎิบัติตัวและการปรับตัวของร่างกายในแต่ละคน บางคนสามารถลดได้มากกว่านี้ บางคนก็ลดได้น้อยกว่านี้”
พญ. ศศิพิมพ์ จามิกร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการส่องกล้องใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารเป็นวิธีลดความอ้วนที่ทำได้ไม่ยุ่งยาก ไม่น่ากลัว และไม่เจ็บ โดยจะมีการฉีดยาชาบริเวณคอและฉีดยานอนหลับเหมือนการส่องกล้องกระเพาะอาหารทั่วไป จากนั้นจะส่องกล้องเข้าไปทางหลอดอาหารในขณะที่หลับแล้ว และจะสอดอุปกรณ์ผ่านกล้อง ส่วนบอลลูนที่สอดเข้าไปจะขยายขณะที่อยู่ในกระเพาะแล้ว ตอนใส่เข้าไปบอลลูนจะมีขนาดเล็ก จากนั้นจะค่อย ๆ ใส่น้ำเกลือเข้าไปในบอลลูนประมาณ 500 ซีซี เพื่อให้บอลลูนขยายออก โดยจะใช้เวลาทำประมาณ 15-30 นาที ข้อดีของวิธีลดความอ้วนแบบนี้คือ ช่วยลดน้ำหนักได้ดีกว่าการรับประทานยา สะดวก ไม่มีแผล พักฟื้นเร็ว และสามารถปรับขนาดของบอลลูนได้ ส่วนข้อเสียคือ น้ำหนักอาจจะเพิ่มขึ้นได้ หากเราไม่ควบคุมอาหาร ในระยะยาวก็จะอาจกลับมาอ้วนได้อีก
“ในส่วนของคุณปาล์มมี่ หลังจากใช้วิธีลดน้ำหนักวิธีนี้ ก็สามารถลดลงมาได้ประมาณ 13 กิโลกรัมภายใน 3 เดือน ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ หากติดตามต่อไปแล้วพบว่าน้ำหนักคนไข้เริ่มคงที่ หมอก็มีแผนที่จะทำการเพิ่มขนาดของบอลลูน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ถ้าเราใส่น้ำเกลือในบอลลูนเพิ่มประมาณ 200-300 ซีซี จะทำให้น้ำหนักตัวลงไปอีก เนื่องจากร่างกายของคนเราเก่ง สามารถปรับตัวให้ชินกับบอลลูนในท้องได้ ทำให้สามารถรับประทานได้ตามปกติ”
ซึ่งตามโปรแกรมจะมีการเพิ่มขนาดของบอลลูนอยู่แล้วในช่วงประมาณ 3-6 เดือน และหลังจากที่ใส่บอลลูนเข้าไปในช่วงเดือนแรก ก็จะมีการตรวจสุขภาพทุกสัปดาห์ หลังจากนั้นก็จะเป็นเดือนละครั้งต่อไป
ส่วน “คุณแจง สธาทิพย์ มาตโคกสูง” ปัจจุบันอายุ 31 ปีแล้ว สาเหตุที่ใช้วิธีการลดน้ำหนักด้วยบอลลูนเนื่องจากมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป เวลาเคลื่อนไหวทำให้รู้สึกไม่คล่องตัว เหนื่อย และเวลาทำงานหนัก ๆ ในบางครั้งจะมีอาการเจ็บหลัง เจ็บขา จึงได้เข้ามาปรึกษากับ นพ. รัชวิชญ์ เจริญกุล อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี โดยก่อนที่จะมารักษากับคุณหมอ มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 105 กิโลกรัม ผ่านไป 3 เดือน น้ำหนักลดลงกว่า 14 กิโลกรัม ซึ่งคุณหมอได้แจ้งก่อนหน้านี้ว่า การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารจะสามารถลดน้ำหนักได้ประมาณ 30 กิโลกรัมภายในหนึ่งปี
แต่อย่างไรก็ตาม หลักการกลุ่มที่เป็นคลาสสิกบอลลูนจะลดน้ำหนักประมาณ 80% ใน 3 เดือนแรก หลังจาก 3 เดือนน้ำหนักจะนิ่ง ในบางคนก็จะปรับตัวได้
ทั้งนี้ วิธีลดน้ำหนักดังกล่าวอาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์แรก คือ มีอาการอึดอัด จุก แน่นท้อง ทานอะไรเข้าไปจะรู้สึกแน่น เหมือนอาหารไม่ย่อย เหมือนกับว่าบอลลูนไปแทนที่ในกระเพาะอาหาร แต่หลังจากนั้นจะเริ่มรู้สึกสบายตัว เป็นปกติ เดินไม่จุก เริ่มกินได้ตามปกติ โดยคุณหมอจะมีโปรแกรมในการรับประทานอาหารให้ด้วย ตอนที่ใส่บอลลูนแรก ๆ คุณหมอยังไม่ให้รับประทานข้าว แต่จะให้รับประทานแค่นมจืด ผัก หรือผลไม้ก่อน
“คุณหมอรัชวิชญ์แนะนำในเรื่องของวิธีลดความอ้วนกับการควบคุมอาหารช่วง 3 เดือนแรก คือ ทานแป้งได้ แต่ยังไม่ควรทานข้าว เพราะตัวแป้งในข้าวจะทำให้น้ำหนักลดลงช้าหรือไม่ลงเลย ซึ่งส่วนตัวก็รู้สึกเป็นอย่างนั้นจริง ในช่วงแรกจะมีอาการหิว ๆ แต่จะใช้วิธีดื่มนมจืดหรือนมชนิดที่หวานน้อยเพื่อทำให้รู้สึกอิ่มท้อง”
“คุณแจง” ได้บอกเพิ่มเติมว่า เท่าที่ศึกษาหาข้อมูลมา วิธีลดความอ้วนโดยการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารแบบไม่ผ่าตัดถือว่ามีความปลอดภัยมาก และวิธีการลดน้ำหนักครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นไปตามที่คาดหวัง ได้ทำตามที่คุณหมอแนะนำทุกอย่าง มีการควบคุมอาหารตามโปรแกรมที่คุณหมอจัดให้ และหลังจากที่ใส่บอลลูนมา ยังไม่มีอันตรายอะไรเกิดขึ้นเลย
สำหรับขั้นตอนในการใส่บอลลูน เริ่มแรกคุณหมอรัชวิชญ์จะส่องกล้องดูกระเพาะอาหารก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมว่าข้างในกระเพาะอาหารไม่มีบาดแผล ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ หลังจากนั้นก็เริ่มใส่บอลลูนเข้าไป…
โดยคุณหมอได้บอกว่าวิธีลดความอ้วนดังกล่าวจะเห็นผลประมาณเดือนที่ 6-12 ซึ่งจะไม่ได้เป็นการลดฮวบฮาบ แต่จะค่อย ๆ ลดลงและเป็นการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารไปด้วย เพราะจะสามารถรับประทานอาหารได้ไม่มากนัก ซึ่งคุณหมอจะถ่ายรูปเก่าไว้เปรียบเทียบพัฒนาการอยู่เรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลาที่ทำการรักษา
นพ. รัชวิชญ์ เจริญกุล ได้ให้ข้อมูลว่า โรงพยาบาลเวชธานีถือเป็นที่แรกที่มีการนำบอลลูนในกระเพาะอาหารมาใช้เป็นวิธีลดความอ้วน ขั้นตอนการทำไม่ซับซ้อน ผลแทรกซ้อนน้อยมาก ทำประมาณ 15–30 นาที และฟื้นตัวเร็ว ที่ต่างประเทศมีการทำแบบนี้กันอย่างแพร่หลาย
ข้อดีของวิธีลดความอ้วนด้วยการทำบอลลูน คือ บอลลูนสามารถปรับลดขนาดได้ ซึ่งจะมีความแตกต่างกับการผ่าตัดรัดกระเพาะ สำหรับขั้นตอนการใส่บอลลูน จะเหมือนการส่องกล้องกระเพาะอาหารทั่วไป จากนั้นจะใส่น้ำเกลือที่ผสมกับสารสีฟ้า (เมธิลีนบลู-Methylene Blue) เข้าไปในบอลลูน ประมาณ 400-500 ซีซี และใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยลูกบอลลูนสามารถปรับเพิ่มหรือลดขนาดได้ตามความต้องการ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ หลังจากที่ทำเสร็จคุณหมอจะนัดตรวจดูอาการทุกสัปดาห์ในช่วงเดือนแรก จากนั้นเดือนต่อไปคุณหมอจะนัดดูอาการประมาณครึ่งเดือนครั้งเพื่อติดตามอาการ ลูกบอลลูนที่ใส่ลงไปสามารถอยู่ได้นานสูงสุด 1 ปี แต่หากผู้ป่วยพอใจในน้ำหนักที่ลดลงก่อน 1 ปีสามารถนำออกได้ โดยปล่อยน้ำในลูกบอลลูนออก และส่องกล้องเพื่อนำลูกบอลลูนออกจากร่างกาย
ภาวะแทรกซ้อนจากวิธีลดความอ้วนด้วยการใส่บอลลูน
นพ.รัชวิชญ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะแทรกซ้อนจากวิธีลดความอ้วนด้วยการใส่บอลลูนนั้น โดยรวมพบเพียง 0.27% ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับวิธีลดน้ำหนักอื่น ๆ และส่วนใหญ่ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นคือ คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้องช่วงสัปดาห์แรกหลังใส่บอลลูน
ส่วนข้อห้ามในการใส่บอลลูน ได้แก่ การตั้งครรภ์ มีความผิดปกติของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร เช่น เป็นแผลในกระเพาะ กรดไหลย้อนรุนแรง หรือเคยผ่าตัดรัดกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร แพ้ยางซิลิโคน เป็นผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่ายหรือกินยาละลายลิ่มเลือด และคนที่มีโรคประจำตัวรุนแรง เช่น โรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ชั้น 2 โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 2960
- Readers Rating
- Rated 4.1 stars
4.1 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating