“หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม (Degenerative disc)” เป็นภาวะที่สามารถพบได้ในผู้สูงอายุ ที่มีความเสื่อมเกิดขึ้นในร่างกายตามวัยที่สูงขึ้น แต่เชื่อหรือไม่ว่าอาการปวดหลังเรื้อรังนั้นพบมากขึ้นในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่ 25 – 50 ปี โดยพบว่าในกลุ่มช่วงอายุนี้นั้นมีอัตราการเกิดภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมนี้สูงที่สุดอีกด้วย
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม
- ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม เกิดจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการหลัก คือ
การสึกหรอตามอายุการใช้งาน เช่นนั่งนานๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ นั่งขับรถเป็นระยะทางไกลๆ เป็นประจำ - การยกของหนัก
- เกิดภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่นสูบบุหรี่ ซึ่งเชื่อว่ามีผลทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูกน้อยลง ส่งผลให้กระดูกเสื่อมเร็วก่อนเวลาอันควร เหล่านี้เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดหลังทั้งสิ้น
การสังเกตอาการหมอนรองกระดูกเสื่อม เบื้องต้น
อาการที่แสดงว่าหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมที่เห็นเด่นชัดคือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณเอว ลักษณะอาการปวดจะตื้อๆ ระดับเอวอาจร้าวลงมาที่บริเวณกล้ามเนื้อด้านข้างของหลังและสะโพก ซึ่งอาการปวดจะมีส่วนสัมพันธ์กับการใช้งาน เช่น มีอาการปวดเมื่อยนั่งนาน ขับรถนาน ยืนนาน หรือเดินนาน บางรายอาจนั่งได้เพียง 10-15 นาทีก็จะมีอาการ แต่เมื่อนอนพักอาการปวดจะทุเลาลง ส่วนผู้ป่วยภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมที่มีอาการกดทับเส้นประสาทมากจะมีอาการปวดร้าวลงขา บางรายมีอาการชาและอ่อนแรงของขาหรือเท้าตามเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับ
การวินิจฉัยและการรักษาภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม
แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้วินิจฉัยจากการถามอาการและการตรวจร่างกายผู้ป่วย บางครั้งอาการของโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมอาจจะคล้ายกัน มีความจำเป็นต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีทำให้การวินิจฉัยนั้นแม่นยำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเลือด การตรวจเส้นประสาท การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจเอกซเรย์คลื่นสนามแม่เหล็ก เป็นต้น
นอกจากการพัฒนาในด้านการวินิจฉัยแล้ว การพัฒนาด้านการรักษาก็ควบคู่กันไป เมื่อเราทราบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ทราบตำแหน่งของปัญหา ทำให้เราสามารถหาตำแหน่งเป้าหมาย ที่จะแก้ไขโดยไปรบกวนอวัยวะข้างเคียงที่ไม่จำเป็นน้อยที่สุด จึงมีการพัฒนาการผ่าตัดที่ใช้กล้องเข้ามาช่วย โดยเฉพาะโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่ปวดหลังเรื้อรัง จากโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม สามารถรักษาด้วย การผ่าตัดโดยใช้กล้องเข้ามาช่วย มีทั้งแบบที่สอดกล้องเข้าไปในร่างกาย และการใช้กล้องช่วยผ่าตัดอยู่ด้านนอก ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
เมื่อวินิจฉัยโรคถูกต้องมากขึ้น เทคโนโลยีและเทคนิคการผ่าตัดรักษาหมอนรองกระดูกเสื่อมจะดีขึ้น อัตราการหายของผู้ป่วยก็สูงขึ้น และผลข้างเคียงจากการรักษาลดลง
อย่างไรก็ดี แม้ว่าสิ่งต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมา จะช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังหรือหมอนรองกระดูกเสื่อมให้ดีขึ้นได้ แต่การป้องกันไม่ให้มีอาการปวดหลัง น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
สำหรับการป้องกันหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม คือการใช้หลังในชีวิตประจำวันอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรงสามารถช่วยพยุงให้สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติและควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรค ได้แก่ การสูบบุหรี่ การใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องนั่งนานๆ การใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานมากขึ้น รวมถึงการขับรถระยะทางไกล การยกของหนัก น้ำหนักตัวที่มากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญทำให้เกิดโรค
ดังนั้น เมื่อคุณมีอาการปวดหลังและร้าวลงขาเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาก่อนที่จะมีอาการปวดมากขึ้นเนื่องจากหมอนรองกระดูกเสื่อมที่เสียหายมากขึ้น ทำให้ยากต่อการรักษาตามไปด้วย
หมอนรองกระดูกเสื่อมกับอาการปวดหลังเรื้อรัง
- Readers Rating
- Rated 3.5 stars
3.5 / 5 (Reviewers) - Very Good
- Your Rating