โรคลมชัก (epilepsy) เรื่องใหญ่!! แต่แก้ไขได้ - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

โรคลมชัก (epilepsy) เรื่องใหญ่!! แต่แก้ไขได้

Share:

โรคลมชัก (epilepsy) เป็นหนึ่งในความผิดปกติ ของเซลล์ในสมอง เกิดจากการเปลี่ยนแปลง อย่างเฉียบพลัน ของไฟฟ้าสมองที่ออกมาจากกลุ่มเซลล์ที่ผิดปกติพร้อมๆกัน และทำให้มีอาการชัก (seizure) ถ้าอาการชักมีมากกว่าหนึ่งครั้งโดยที่ไม่มีเหตุกระตุ้น (provoking factors) จะเรียกผู้ป่วยรายนั้นว่าเป็น โรคลมชัก (epilepsy)

สาเหตุของโรคลมชัก

สาเหตุโรคลมชักนั้นยังไม่ชัดเจน แต่ส่วนหนึ่งพบว่ามีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ รวมถึงการที่สมองเคยได้รับอันตรายต่างๆ มาก่อน เช่น ภาวะขาดออกซิเจนขณะคลอด อุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมอง เนื้องอกในสมอง หลอดเลือดสมองผิดปกติ การติดเชื้อของระบบประสาท ความผิดปกติทางสมองมาตั้งแต่กำเนิด โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักจากสาเหตุเหล่านี้ อาจจะมีพัฒนาการด้านร่างกาย และสมองผิดปกติร่วมด้วย

อาการของโรคลมชัก

อาการโรคลมชักขึ้นกับหน้าที่ของสมองในตำแหน่งที่ถูกรบกวนด้วยคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติในขณะชัก เช่น ถ้าขณะชักไฟฟ้าสมองรบกวนสมองส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว (primary motor cortex) ผู้ป่วยจะมีอาการชักแบบเกร็งกระตุก ถ้ารบกวนส่วนที่ควบคุมการมองเห็น (visual cortex) ผู้ป่วยอาจเห็นแสง (flashing light) ในขณะที่มีอาการชัก แต่อาการชักชนิดที่พบได้บ่อยคือ อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว (generalized tonic clonic or grand mal seizure) ส่วนใหญ่จะเกร็งกระตุกนาน 2-3 นาที โดยผู้ป่วยไม่รู้ตัวในขณะชัก จำเหตุการณ์ไม่ได้ คนทั่วไปมักเรียกอาการชนิดนี้ว่า ลมบ้าหมู อาการปัสสาวะ อุจจาระราดก็พบได้พร้อมอาการชัก

นอกจากนี้ ยังมีอาการชักที่พบบ่อยเช่นเดียวกันคือ “ชักเหม่อ” (complex partial seizure) ผู้ป่วยไม่รู้ตัวในขณะที่ชัก จำเหตุการณ์ในขณะชักไม่ได้ อาจมีการเคลื่อนไหวอัตโนมัติ (automatism) ร่วมด้วยเช่น เคี้ยวปาก (lip smacking) มือคลำเสื้อผ้า สิ่งของ หรือจับคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว (fumbling)
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเตือน (aura) ก่อนจะมีอาการชักหมดสติ อาการเตือนมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นาน ส่วนใหญ่เป็นวินาทีก่อนที่จะมีอาการชักหมดสติ อาการเตือนที่พบได้เช่น มีอาการเหมือนลมตีขึ้นที่ลิ้นปี่ (gastricrising sensation ซึ่งเรียกอาการเตือนแบบนี้ว่า epigastric aura อาการใจสั่น (palpitation ซึ่งเรียกอาการเตือน แบบนี้ว่า autonomic aura)

การตรวจวินิจฉัยและการรักษา

แพทย์จะวินิจฉัยโรคลมชักจากประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด จากนั้น จะใช้วิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) การถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) เพื่อช่วยสนับสนุน การวินิจฉัย โดยการตรวจอาจมีมากกว่า 1 ครั้งก็ได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องเตรียมตัวมาก่อนตรวจคลื่นสมอง ทั้งเรื่อง การงดดื่มสุรา เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างน้อย 12 ชั่วโมง, สระผม ให้เรียบร้อย และแห้งก่อนตรวจ ไม่ควร ใส่ครีมนวด หรือ สารเคมีใส่ผม ส่วนกรณีถ้าเป็น เด็กเล็ก พ่อแม่ต้องเตรียมขวดนมน้ำ รวมทั้งของเล่นที่เขาชอบ ที่สำคัญควรไม่ให้เด็กนอนหลับมาก่อน เพราะเวลาตรวจจะได้ง่วงหลับไปเองโดยไม่ต้องใช้ยานอนหลับช่วย

แม้ว่าโรคลมชักจะอันตรายก็ตาม แต่ปัจจุบันในผู้ป่วยประมาณ 70% สามารถรักษาให้หายขาดได้ ได้ด้วยการใช้ยา ซึ่งผู้ป่วยต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการชักเช่น การอดนอน การดื่มสุรา เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชักมาตรฐานตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ควรได้รับการตรวจประเมินว่าสามารถผ่าตัดนำจุดกำเนิดชักออกได้หรือไม่ เช่นการกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่สิบด้านซ้าย (Vagus nerve stimulation) การรักษาด้วยการควบคุมอาหารแบบ Ketogenic diet วิธีนี้มักใช้ในเด็กทั้งนี้สำหรับคนใกล้ชิดหรือผู้เห็นเหตุการณ์เมื่อพบ ผู้ป่วยชัก ควรจัดท่าให้นอนตะแคง เพื่อป้องกันการสำลัก และเพื่อช่วยให้หายใจสะดวก คลายเสื้อผ้าให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่ข้อควรระวังคือ อย่าพยายามงัดปาก ล้วงปากผู้ป่วยที่กำลังชัก เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายมากกว่า อาจจะไปงัดฟันหักหลุดเข้าหลอดลม หรือมือผู้ช่วยเหลืออาจจะถูกกัดได้ และโดยธรรมชาติของผู้ป่วยโรคลมชักทั่วไปจะชักเพีย งช่วงสั้นๆ ประมาณ 1-2 นาทีก็จะหยุด แต่ถ้ารายไหนที่ชักนานมากเกิน 5 นาทีขึ้นไป หรือชักซ้ำอีก กรณีนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5400

  • Readers Rating
  • Rated 4.1 stars
    4.1 / 5 (9 )
  • Your Rating