ผู้สูงอายุ-อ้วน เสี่ยงความดันโลหิตสูง เช็กก่อนสาย | Vejthani

บทความสุขภาพ

ผู้สูงอายุ-อ้วนเสี่ยงเป็น โรคความดันโลหิตสูง

Share:

โรคความดันโลหิตสูง มีอุบัติการณ์ของโรคพบในผู้ป่วยวัยกลางคนและผู้สูงวัย โดยมีปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคจากภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน, โรคอ้วน, การบริโภคเกลือเกิน, ภาวะเครียดและการมีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่พบร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง เช่น เบาหวาน โรคไต

โรคความดันโลหิตสูงนั้นมักไม่มีสัญญาณเตือนจึงทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ โดยกว่า 90% ของคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในช่วง 2-3 ปีแรก แต่เมื่อความดันเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีภาวะแทรกซ้อนจึงเริ่มปรากฏอาการ เช่น เริ่มปวดศีรษะหรือรู้สึกเวียนศีรษะบ่อย ๆ

หากพบว่ามีอาการปวดศีรษะหรือเวียนศีรษะบ่อยๆ ควรตรวจวัดความดันโลหิตและเมื่อพบว่าความดันโลหิตเริ่มสูง เช่น มากกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท ถือว่า เริ่มมีภาวะความดันโลหิตสูงควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับคำแนะนำในการรักษาตามลำดับขั้นตอน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูงมักส่งผลให้เกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดในอวัยวะที่สำคัญ เช่น สมอง ไต หัวใจ และจอประสาทตา

การวินิจฉัยและแนวทางในการรักษา

การตรวจวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงนั้นสามารถทำได้ด้วยการวัดความดันโลหิตซึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์วัดความดันโลหิตวางจำหน่ายในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก แต่การใช้งานที่เหมาะสมนั้นจะต้องวัดให้ถูกต้องตามขั้นตอนและเลือกใช้ขนาดของที่วัดความดันโลหิตให้เหมาะสมกับขนาดแขน โดยก่อนที่จะเริ่มวัดความดันโลหิตผู้ป่วยต้องไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือกาแฟเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์นั้นมีผลกระทบต่อค่าความดันโลหิต และต้องนั่งพัก 5-10 นาทีก่อนจะตรวจวัด เพื่อให้ค่าความดันโลหิตคงที่และได้ผลการตรวจวัดที่แม่นยำที่สุด ทั้งนี้ ความดันโลหิตของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงสามารถขึ้นลงได้ตลอดเวลา จึงมี Ambulatory Blood Pressure Monitoring เครื่องตรวจวัดความดันโลหิตที่ติดตัวผู้ป่วยไว้ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับวัดค่าความดันโลหิตขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อปรับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงให้ได้ผลของความดันโลหิตที่พึงประสงค์ให้มากที่สุด

สำหรับวิธีการรักษาโรคความดันโลหิตสูงจำเป็นต้องใช้วิธีการปรับพฤติกรรม ร่วมกับการใช้ยาตามดุลย์พินิจของแพทย์ วิธีปรับพฤติกรรม ได้แก่ การลดความเครียด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ งดรับประทานอาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบมากเกินไป ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน งดดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ หากปรับพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือไม่ได้ผล แพทย์จะรักษาด้วยยาในขั้นต่อไป

โรคความดันโลหิตสูงถือเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว และมักมาพร้อมกับอาการแทรกซ้อนต่างๆ ดังนั้นควรตรวจเช็กร่างกายว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคนี้หรือไม่ เพื่อวางแผนป้องกันหรือรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด
โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111

  • Readers Rating
  • Rated 4.5 stars
    4.5 / 5 (7 )
  • Your Rating