“โรคอ้วน” เป็นภาวะที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากกว่าปกติ จนเกิดผลเสียต่อสุขภาพ
เมื่อไหร่ถึงเรียกอ้วน ประเมินโดยใช้กราฟแสดงน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง ตามอายุและเพศของเด็ก แล้วอยู่ในเกณฑ์เริ่มอ้วนหรืออ้วน
สาเหตุของโรคอ้วน
- โรคทางกายหรือกลุ่มอาการทางพันธุกรรมที่มีภาวะอ้วนร่วมด้วย โดยกลุ่มนี้มักมีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ เช่น Down’s syndrome, Prader-Willi syndrome และโรคทางต่อมไร้ท่อ เช่น ขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต (growth hormone) หรือขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
- อ้วนธรรมดา เกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เมื่อพลังงานที่เข้ามากกว่าที่เราใช้ออก ทำให้เกิดไขมันสะสมในร่างกาย
“กินมาก” เกินกว่าความต้องการ
”กินไม่เหมาะ” ชอบกินอาหารพลังงานสูง ในขณะที่ กินผักและผลไม้น้อย
”ใช้ไม่หมด” เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ไม่ค่อยออกกำลังกาย และใช้เวลาส่วนมากอยู่หน้าจอโทรทัศน์
ผลเสียของโรคอ้วน
กระดูกและข้อ เมื่อข้อรับน้ำหนักมากนาน ๆ ทำให้มีขาโก่งในวัยเด็ก และหัวกระดูกสะโพกเลื่อนในวัยรุ่นได้
หัวใจและหลอดเลือด พบมีความดันโลหิตสูง และมีความเสี่ยงของหลอดเลือดอุดตันที่หัวใจหรือสมองเพิ่มขึ้น
ทางเดินหายใจ มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น เด็กนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้เด็กง่วง หลับในห้องเรียน มีผลต่อการเรียนได้
ทางเดินอาหารและโรคตับ พบโรคนิ่วในถุงน้ำดี ภาวะไขมันสะสมที่ตับ นำไปสู่ โรคตับอักเสบ ตับแข็ง และตับวายได้
ระบบต่อมไร้ท่อ ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ มีภาวะต่อต้านอินซูลินนำไปสู่เบาหวานชนิดที่ 2 โดยในเด็กอ้วนอาจพบผื่น acanthosis nigricans เป็นสีน้ำตาลดำนูนหนาที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบ ซึ่งพบร่วมกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
จิตใจและสังคม พบว่า เด็กอ้วนขาดความภูมิใจในตนเอง วิตกกังวล และมีภาวะซึมเศร้าได้ และเมื่อติดตามเด็กโรคอ้วน พบว่า 69% ของเด็กอายุ 6 – 9 ปี และถึง 83% ของวัยรุ่นอายุ 10 – 14 ปี กลายเป็นโรคอ้วนในผู้ใหญ่
แนวทางการรักษาเด็กที่เป็นโรคอ้วน
- เมื่อเด็กอ้วน ควรมาพบแพทย์ เพื่อประเมินความรุนแรง ภาวะแทรกซ้อน และพิจารณาเจาะเลือดเพิ่มเติมเมื่อมีข้อบ่งชี้
- เป้าหมาย เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้คงเดิม หรือลดลงโดยมีส่วนสูงเพิ่มขึ้นตามปกติ และป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยขึ้นกับอายุของเด็กและความรุนแรงโรคอ้วน
- ปรับพฤติกรรมการกิน โดยกินอาหารครบ 5 หมู่ ในปริมาณพอดี ลดอาหารพลังงานสูง เช่น ขนมขบเคี้ยว น้ำหวาน เลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ไขมันสูง ปรับเปลี่ยนการทำอาหาร จากทอด ผัด เจียว เป็น ต้ม นึ่ง ย่าง แทน เพิ่มการกินผักและผลไม้ และในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปให้กินนมพร่องมันเนยหรือนมขาดมันเนยแทน
- ปรับพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ โดยเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน เช่น เดินแทนนั่งรถ ทำงานบ้านเอง ออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น ลดเวลาหน้าจอโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ ให้น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน จากการศึกษาพบว่า เด็กที่ใช้เวลาหน้าจอโทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์ มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน เป็นโรคอ้วนมากกว่ากลุ่มที่อยู่หน้าจอน้อยกว่า 2 ชั่วโมง ทั้งจากพฤติกรรมกินไปดูโทรทัศน์ไป และจากการซื้ออาหารและขนมตามโฆษณาเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การรักษาโรคอ้วนในเด็กนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของครอบครัวเป็นหลัก โดยดูแลเด็กไปในทิศทางเดียวกัน เป็นแบบอย่างที่ดีในการเลือกกินอาหาร ชมเชยให้กำลังใจเด็กเมื่อมีพฤติกรรมที่เหมาะสม รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมในบ้าน เช่น ไม่เก็บขนมในบ้านให้เด็กหยิบกินได้ง่าย
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-27340000 ต่อ 3310, 3312, 3319
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating