แผล เบาหวาน รักษาถูกวิธีดูแลให้เป็น ไม่ต้องตัดขา l Vejthani Hospital

บทความสุขภาพ

แผล เบาหวาน ที่เท้ารักษาถูกวิธี ไม่ต้องตัดขา

Share:

ภาวะแทรกซ้อนของแผล เบาหวาน ที่เท้า เป็นปัญหาสำคัญในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากเมื่อเกิดแผล เบาหวาน ไม่ว่าจะส่วนใดของร่างกายขึ้นมาแล้ว มักจะใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนานกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตลดลงและมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มมากขึ้น โดยสาเหตุที่ทำให้แผลเบาหวานบริเวณเท้าหายยากนั่น มาจากโรคเบาหวานที่ส่งผลกระทบให้เกิดความผิดปกติต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น

  1. ระบบประสาทรับความรู้สึก ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวด ความรู้สึกร้อนเย็น จึงทำให้ผู้ป่วยที่มีแผล เบาหวาน ไม่รู้สึกเจ็บปวดและยังคงใช้เท้าตามปกติ ทำให้เกิดแรงกดบริเวณแผลตลอดเวลา แผลจึงหายช้าหรือไม่หาย
  2. ระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้ผู้ป่วยมีผิวหนังแห้ง มีเหงื่อออกน้อย การหดตัวและขยายตัวของหลอดเลือดผิดปกติ เท้าบวม ผิวหนังแห้งและแตกง่าย ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นต่อการเกิดแผล เบาหวาน ที่เท้าได้
  3. ระบบประสาทควบคุมกล้ามเนื้อ ส่งผลต่อกล้ามเนื้อเล็กในเท้าลีบลงเสียความสมดุลระหว่างเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อในเท้า ทำให้นิ้วเท้างอและผิดรูปในรายที่รุนแรงอาจส่งผลต่อกระดูกเท้า กระดูกเท้าจะผิดรูปและไม่แข็งแรง เกิดการหักของกระดูกหรือกระดูกทรุดตัวทำให้เท้าผิดรูป ซึ่งการผิดรูปของเท้าและนิ้วเท้าดังกล่าว จะส่งผลต่อการกระจายน้ำหนักเท้าเวลาที่เท้าสัมผัสพื้นในการเดินผิดปกติไป บริเวณที่รับน้ำหนักมากๆ ที่จะทำให้เกิดแผล เบาหวาน ขึ้นมาได้
  4. ระบบหลอดเลือด ทำให้เส้นเลือดตีบแข็งและเกิดการอุดตัน ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าว จึงทำให้แผลไม่สมานเข้าหากัน

วิธีการป้องกันแผล เบาหวาน ที่เท้า

  1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  2. ดูแลรักษาความสะอาดและเช็ดเท้าให้แห้ง
  3. ตรวจเท้าเป็นประจำทุกวัน เพื่อหารอยโรคและแผล เบาหวาน
  4. เลือกรองเท้าให้เหมาะสม ไม่บีบหรือรัดแน่นจนเกินไป
  5. ใช้ครีมทา รักษาผิวหนังแห้ง
  6. สวมถุงเท้าก่อนใส่รองเท้า
  7. ห้ามแช่เท้าในน้ำร้อน
  8. ตัดเล็บและควรดูแลเล็บอย่างถูกวิธี
  9. งดการสูบบุหรี่

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดปัญหามีแผล เบาหวาน ขึ้นมาแล้ว การรักษาที่ดีต้องประกอบไปด้วยหลายปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลนั้นร่วมกัน ซึ่งประกอบไปด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ, การทำแผลอย่างถูกวิธี, ผ่าตัดล้างแผลและให้ยาปฏิชีวนะ หากมีการติดเชื้อที่แผลเกิดขึ้น, การลดแรงกดที่มากระทำที่แผล เช่น การใส่รองเท้าตัดเฉพาะ, การผ่าตัดรักษาในกรณีที่มีกระดูกหรือนิ้วผิดรูป และสุดท้ายคือการขยายเส้นเลือด หากมีปัญหาเส้นเลือดอุดตันหรือตีบตันร่วมด้วย

นอกจากนี้ในปัจจุบัน ยังมีวัสดุที่ช่วยในการทำแผลชนิดใหม่ๆ , การทำแผลด้วยระบบความดันเย็นลบ (vacuum dressing) และยังมีการรักษาเสริมเข้ามาช่วยในการรักษาแผลเบาหวานเรื้อรัง คือ การรักษาด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง ซึ่งจะกระตุ้นและช่วยให้เกิดการสมานของแผลได้ดีและเร็วขึ้น

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์รักษาแผลเรื้อรังและแผลเบาหวานที่เท้า
โทร. 02-7340000 ต่อ 4700,4702

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (7 )
  • Your Rating