ปวดท้อง อย่ามองข้าม มะเร็งตับอาจถามหา - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

ปวดท้อง อย่ามองข้าม มะเร็งตับอาจถามหา

Share:

อาการปวดท้อง โรคทั่วไปที่หลายๆคนเป็นกัน ซึ่งโดยปกติอาจเกิดจากอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ฯลฯ แต่ในทางตรงกันข้ามอาการปวดท้องเพียงเล็กน้อย อาจมีสาเหตุมาจากโรคร้ายแรงต่างๆได้ เช่น นิ่วในถุงน้ำดี หรือ แม้กระทั่งมะเร็งตับ

มะเร็งตับสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ มะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์ของตับเองและมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น เช่นมะเร็งลำไส้ใหญ่ลุกลามมาที่ตับ สำหรับมะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์ของตับเองประกอบด้วยมะเร็ง 2 ชนิด ได้แก่ มะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งพบมากในภาคเหนือและอีสาน เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้มักจะพบในคนที่ชอบกินปลาร้าและปลา หอยน้ำจืด สุกๆดิบๆ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของพยาธิใบไม้ในตับ มะเร็งอีกชนิดคือ มะเร็งเฮปปะโตม่า (Hepatoma) ซึ่งมักพบในภาวะตับแข็งจากสาเหตุต่างๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี , ไวรัสตับอักเสบซี หรือแอลกอออล์

สำหรับอาการของมะเร็งตับ ในระยะเริ่มต้นของโรคอาจจะยังไม่มีอาการใดๆ แต่หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบมาพบแพทย์ด่วน

  1. แน่นท้อง ในตำแหน่งของลิ้นปี่หรือชายโครงขวา
  2. น้ำหนักลด
  3. เบื่ออาหาร
  4. ปวดไหล่ข้างขวาที่ไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของหัวไหล่ เนื่องจากมะเร็งมีขนาดใหญ่และลุกลามไปบริเวณกระบังลมอาจทำให้เกิดอาการปวดไหล่ได้ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าปวดกล้ามเนื้อแต่จริงๆแล้วเรามีก้อนอยู่ที่ตับ
  5. ตาเหลือง

ขั้นตอนการตรวจหามะเร็งตับ

  1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย
  2. ตรวจเลือด ดูค่าการทำงานของตับและค่ามะเร็งตับรวมถึงไวรัสตับอักเสบบีและซี
  3. ตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

การรักษาโรคมะเร็งตับ

  1. การรักษามะเร็งตับนั้นขึ้นกับการทำงานของตับ การลุกลามของมะเร็งและสภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วย
  2. การผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออกยังคงเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดถ้าสภาพทั่วไปของผู้ป่วยพร้อมที่จะผ่าตัดและก้อนมะเร็งไม่ลุกลามอีกทั้งการทำงานของตับดีพอ
  3. การปลูกถ่ายตับสามารถทำได้ในกรณีของมะเร็งชนิดเฮปปะโตม่า (Hepatoma) ระยะเริ่มแรกและมีภาวะตับแข็งที่รุนแรงจนไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนออกได้
  4. การใช้เข็มความร้อนเฉพาะที่เรียกว่า RFA (radiofrequency ablation) เป็นการทำลายเนื้องอกด้วยความร้อนโดยใช้เข็มแทงเข้าไปในก้อนแต่ต้องเป็นก้อนที่มีขนาดเล็ก และอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
  5. การให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะที่รวมทั้งอุดตันเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเนื้องอก ( TACE, transarterial chemoembolization) สำหรับมะเร็งเฮปปะโตม่า (Hepatoma)
  6. การให้ยาเคมีบำบัดทางเส้นเลือดดำในมะเร็งท่อน้ำดีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้หรือมะเร็งจากอวัยวะอื่นที่แพร่กระจายมาที่ตับ
  7. การป้องกันมะเร็งท่อน้ำดีและมะเร็งตับสามารถทำได้โดย
  8. หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์น้ำจืดสุกๆดิบๆ หากต้องการรับประทานปลาร้า ควรจะเป็นปลาร้าต้มสุก
  9. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยๆ
  10. มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยเนื่องจากไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งเฮปปาโตม่า (Hepatoma) สามารถติดต่อทางเลือดและเพศสัมพันธ์

นพ.เจษฎ์ ศุภผล
ศัลยแพทย์เฉพาะทางโรคตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดี

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating