มีลูกก่อนอายุ 30 ลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

มีลูกก่อนอายุ 30 ลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม

Share:

จากข้อมูลสถิติสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มะเร็งเต้านม ถือเป็นมะเร็งอันดับ 1 ในผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม นอกจากที่จะรักษาให้หายแล้ว เรื่องของความสวยความงามและความเชื่อมั่นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงเราต้องการมากที่สุด

ปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมมีหลายปัจจัยทั้งที่คุมได้และคุมไม่ได้ เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน , ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาเร็วหรือประจำเดือนหมดและใช้ยาฮอร์โมนทดแทนนานเกินกว่า 5 ปี ก็มีความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ในแง่ของการมีบุตรมีข้อมูลระบุไว้ว่าผู้หญิงที่มีบุตรก่อนอายุ 30 ปี จะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมได้

การรักษาโรคมะเร็งเต้านม

จะเริ่มต้นด้วยการผ่าตัด มีเพียงส่วนน้อยที่จะไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ เช่น คนไข้ที่มาพบแพทย์ในระยะที่ 4 ซึ่งถือเป็นระยะแพร่กระจายแพทย์จะรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือยาต้านฮอร์โมน หรือคนไข้ที่มาก่อนระยะที่ 4 แต่มีก้อนที่ใหญ่มากบางครั้งแพทย์จะไม่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์จะเริ่มให้ยาเคมีบำบัดเพื่อให้ก้อนเล็กลงก่อนและแพทย์จะทำการผ่าตัดในลำดับต่อไป

การผ่าตัดมะเร็งเต้านมจะแบ่งเป็น 3 ประเภท

1.ผ่าตัดโดยเก็บเต้านมเอาไว้และตัดทิ้งเฉพาะส่วนก้อนมะเร็งออก กรณีนี้สามารถทำได้ในคนไข้ที่เป็นระยะเริ่มต้น สามารถเก็บเต้าไว้ได้เพราะมีก้อนมะเร็งเพียงจุดเดียวและมีขนาดเล็กพอที่จะตัดออกได้หมด แต่การตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออกจะต้องทำร่วมกับการฉายแสงบริเวณเนื้อเต้านมที่เหลือจึงจะเท่าเทียมกับการตัดออกทั้งหมด

2.ผ่าตัดเต้าออกทั้งหมด ซึ่งวิธีนี้จะเป็นเหมือนวิธีในอดีตที่ผ่านมา

3.ผ่าตัดเต้าออกทั้งหมดและเสริมเต้าใหม่ ซึ่งจะช่วยสำหรับคนเลือกผ่าตัดออกทั้งหมด

การเสริมเต้านม สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

1.เสริมโดยใช้ซิลิโคน
2.เสริมโดยใช้กล้ามเนื้อในร่างกาย ซึ่งจะมีอยู่ 2 ส่วนด้วยกันที่จะเลือกใช้ คือ 1.กล้ามเนื้อหลัง ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ข้างหลัง และปกติร่างกายจะไม่ค่อยได้ใช้งานกล้ามเนื้อมัดนี้เท่าใดนัก 2.กล้ามเนื้อหน้าท้องร่วมกับไขมันทางหน้าท้อง (ซิกแพ็ก) โดยจะยกขึ้นมาทั้งหมดเพื่อมาทำเต้านม ซึ่งการผ่าตัดเสริมเต้าสามารถทำได้ทันทีที่ผ่าตัดมะเร็งเต้านมออก

อย่างไรก็ตาม อยากแนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป เริ่มทำการตรวจเต้านมด้วยตนเอง โดยการใช้มือคลำเต้านมให้ครบ อาจจะคลำจากด้านในออกด้านนอกวนเป็นก้นหอย หรือใช้วิธีการแบ่งเต้านมเป็น 4 ส่วน คลำให้ครบ 4 ส่วน คือไล่ขึ้น ไล่ลง โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการคลำเต้านมจะอยู่ในช่วงวันที่ 7-10 ของรอบเดือน เพราะจะเป็นช่วงที่เต้านมไม่คัดตึง หากพบก้อนบริเวณนมจะสามารถคลำก้อนได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งการนับจะนับวันที่ประจำเดือนมาวันแรกเป็นวันที่ 1 ส่วนผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเมมโมแกรม อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ยกเว้นการตรวจและพบความผิดปกติอาจจะต้องมีการตรวจที่ถี่ขึ้น

ศูนย์เต้านม
โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 4500