วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในไทย - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในไทย

Share:

“มะเร็งปากมดลูก” จัดเป็นโรคมะเร็งเฉพาะสตรี ที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ และเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของสตรีไทย

Q: มะเร็งปากมดลูกเกิดขึ้นได้อย่างไร?

A: เกิดจากการติดเชื้อไวรัสแปปปิโลมา (Human Papillomavirus) หรือมีชื่อเรียกย่อว่า เอชพีวี (HPV) ที่อวัยวะเพศบริเวณปากมดลูก และอาจมีปัจจัยเสริมอื่น ๆ อีก เช่น การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุยังน้อยการมีคู่นอนหลายคน มีประวัติเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

Q: ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีน?

A: แนะนำให้ฉีดในเด็กผู้หญิงและสตรีอายุระหว่าง 9-26 ปี ก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกนอกจากนี้ วัคซีนยังสามารถใช้ป้องกันหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะสืบพันธ์ุ และช่วยป้องกันมะเร็งทวารหนักในผู้ชายได้ด้วย โดยฉีดในเด็กชายและบุรุษ อายุระหว่าง 9-26 ปีขึ้นไปสำหรับสตรีหรือบุรุษที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว สามารถฉีดวัคซีนได้เช่นกัน ทั้งนี้ วัคซีนอาจมีประสิทธิภาพลดลงหากเคยติดเชื้อ HPV มาก่อน อย่างไรก็ดี วัคซีนนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันโรค หากยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

Q: แล้วยังต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่หรือไม่?

A: วัคซีน HPV ไม่ได้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100 % จึงมีความจำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งควบคู่ไปด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้มากที่สุด แต่อาจเว้นระยะห่างกว่าปกติได้

Q: เมื่อให้วัคซีนครบ 3 ครั้งแล้ว จะต้องให้วัคซีนกระตุ้นอีกหรือไม่?

A: ปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำในการฉีดเข็มกระตุ้น เนื่องจากผลการศึกษาที่มีอยู่ พบว่าหลังจากฉีดวัคซีนครบแล้วจะคงอยู่ได้นาน และอาจอยู่ได้ตลอดชีวิต

Q: การฉีดวัคซีน HPV สามารถฉีดพร้อมกันกับวัคซีนชนิดอื่นได้หรือไม่?

A: จากการศึกษาพบว่า สามารถให้วัคซีน HPV พร้อมกับวัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนคอตีบไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยฉีดต่างตำแหน่งในเวลาเดียวกัน

ข้อควรรู้

วัคซีน HPV สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV เฉพาะสายพันธุ์ที่ทำวัคซีนเท่านั้น ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ อาจป้องกันได้บ้าง
ผลในการป้องกันการติดเชื้อ จะมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อเมื่อยังไม่เคยได้รับเชื้อ HPV มาก่อน

ภญ.ณฐมน ใจจันทร์
ภญ.สาวิตรี มงคลเคหา
ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารด้านยา
โรงพยาบาลเวชธานี

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating