หัวใจโต เกิดจากอะไร
หัวใจโต เกิดจากขนาดหัวใจที่โตกว่าปกติ แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ หัวใจโตจากกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวกว่าปกติ ลองนึกภาพคนเล่นกล้าม นักเพาะกาย กล้ามเนื้อใหญ่ขึ้นเพราะทำงานหนัก กล้ามเนื้อหัวใจก็เช่นกัน หากต้องทำงานหนัก บีบตัวมากๆ เช่น ในกรณีความดันโลหิตสูง หรือลิ้นหัวใจตีบ ก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นได้ อีกประการหนึ่งคือขนาดของหัวใจโตขึ้นเพราะกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดี มีเลือดคั่งในห้องหัวใจคล้ายลูกโป่งใส่น้ำทำให้ขนาดหัวใจโตขึ้น มีหลายโรคที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจโต เช่นความดันโลหิตสูง ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว หัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย เบาหวาน เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วโรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่หนากว่าปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ โรคหัวใจจากแอลกอฮอล์ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งเช่นกัน
อาการของ หัวใจโต
ผู้ที่หัวใจโตส่วนใหญ่จะไม่ค่อยแสดงอาการถ้าหัวใจยังทำงานได้ปกติ แต่หากหัวใจทำงานผิดปกติจะเกิดอาการต่างๆ ดังนี้
- หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- หายใจเร็ว
- เวียนศีรษะ อ่อนเพลียง่าย
- ใจสั่น
- บวมบริเวณเท้าตอนสายๆ
- ไอโดยเฉพาะเวลานอน
- นอนราบไม่ได้เนื่องจากแน่นหน้าอก
สาเหตุของหัวใจโต
ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นโรคหัวใจโตโดยไม่มีสาเหตุ แต่พบได้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- ความดันโลหิตสูง จะทำให้หัวใจทำงานหนักจึงทำให้ภาวะหัวใจโต
- โรคลิ้นหัวใจ ไม่ว่าจะลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่ว หรือมีการอักเสบติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจโรคต่างๆเหล่านี้จะทำให้เกิดหัวใจโต
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจที่เรียกว่า Cardiomyopathy เช่นผู้ที่ดื่มสุราต่อเนื่องเป็นเวลานานกล้ามเนื้อหัวใจจะถูกทำลายทำให้หัวใจโต
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเช่นผนังหัวใจรั่ว
- โรคหัวใจเต้นผิดปกติหรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- โรคความดันในปอดสูง
- ผู้ป่วยโลหิตจางหรือซีดเป็นเวลานาน
- โรคต่อมไทรอยด์ไม่ว่าจะเกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานมากไปหรือน้อยไปก็ทำให้เกิดหัวใจโตได้
- รับประทานธาตุเหล็กมากเกินไปจนทำให้เกิดโรคHemochromatosis
- มีโปรตีนสะสมในกล้ามเนื้อหัวใจ หรือที่เรียกว่า Amyloidosis
ป้องกันหัวใจโตได้อย่างไร
การป้องกันหัวใจโต คือการป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่เป็นสาเหตุทำให้หัวใจโตแนวทางป้องกันมีดังนี้
- สำหรับท่านที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เช่น อ้วนไม่ได้ออกกำลัง มีประวัติครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง ท่านจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดโอกาสในการเกิดความดันโลหิตสูง สำหรับท่านที่มีความดันโลหิตสูงแล้วท่านต้องรับประทานยาและปฏิบัติตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด
- สำหรับโรคทางพันธุกรรมคงจะหลีกเลี่ยงยาก แต่ท่านอาจจะหยุดโรคโดยสอบประวัติครอบครัว หากภรรยา/สามี มีประวัติโรคหัวใจในครอบครัว ท่านควรปรึกษาแพทย์
- รักษาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
การตรวจเพื่อหาสาเหตุของหัวใจโต
- การตรวจรังสีปอดและหัวใจซึ่งจะบอกได้ว่าหัวใจโตหรือไม่ แต่ไม่ได้บอกสาเหตุของหัวใจโต เป็นการตรวจเบื้องต้นเท่านั้น
- คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งจะวัดไฟฟ้าหัวใจว่าหัวใจเต้นผิดปกติหรือไม่ และกล้ามเนื้อหัวใจหนาหรือไม่
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงซึ่งจะบอกว่ากล้ามเนื้อหัวใจหนาหรือไม่ การบีบตัวของหัวใจเป็นอย่างไร ยังสามารถดูลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ
- การตรวจ computer scan ซึ่งจะให้รายละเอียดของหัวใจค่อนข้างมาก
- การเจาะเลือดตรวจ
- ในรายที่จำเป็นอาจจะต้องฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจ และอาจต้องตัดชิ้นเนื้อหัวใจส่งตรวจ
การรักษาหัวใจโต
การรักษาหัวใจโตจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาที่ต้นเหตุ แต่หากผู้ป่วยเกิดก็จำเป็นต้องได้ยาเพื่อรักษาอาการโดยยาที่มักจะใช้ได้แก่
- ยาขับปัสสาวะ ซึ่งมีหลายชนิดให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม เช่น furosemide, spironolactone , hydrochlorothaizideใช้ในกรณีที่มีอาการบวม และ หัวใจวาย
- Angiotensin-converting enzyme (ACE) inhibitors ใช้ลดความดันและรักษาอาการหัวใจวาย
- Angiotensin receptor blockers (ARBs)ใช้ลดความดันและรักษาอาการหัวใจวาย
- Beta blockers ใช้ลดความดันและอาการหัวใจวาย
- Digoxin ใช้รักษากรณีที่หัวใจเต้นผิดปกติ
การรักษาอื่นๆ ที่อาจจะมีความจำเป็น
- สำหรับผู้ที่หัวใจเต้นผิดปกติก็อาจจะจำเป็นต้องใช้เครื่องควบคุมการเต้นของหัวใจ
- การผ่าตัด โดยเฉพาะผู้ที่มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ
- การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
นอกจากจะใช้ยาแล้วการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะทำให้ควบคุมอาการได้ดียิ่งขึ้น - หยุดสูบบุหรี่
- ลดน้ำหนัก
- รับประทานอาหารจืด
- ควบคุมเบาหวาน
- ควบคุมความดันให้เหมาะสม
- ออกกำลังกาย
- นอนหลับพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
หากพบว่ามีอาการผิดปกติดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา โดยแพทย์ จะต้องประเมินอาการของท่านให้ดีเพราะบางครั้งอาการต่างๆค่อยๆเป็นไปจนกระทั่งคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ ท่านอาจจะเปรียบเทียบกับคนที่อยู่ในวัยเดียวกันและมีวิถีชีวิตคล้ายกัน หากมีอาการมากกว่าหรือไม่แน่ใจให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายแต่โดยทั่วไปแล้ว การตรวจร่างกายจะมุ่งหาสาเหตุของหัวใจโตมากกว่าที่จะบอกขนาดของหัวใจ การตรวจที่จำเป็นคือคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเอกซเรย์ทรวงอก (ปอดและหัวใจ) หากกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติมากหรือเคยมีปัญหา กล้ามเนื้อหัวใจตายมาก่อนจะแสดงให้เห็นจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจที่มีความไวต่ำ หมายความว่าแม้คลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติก็มิได้หมายความว่าหัวใจไม่โต หรือไม่มีโรคหัวใจขาดเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจบอกว่าโต แต่จริงๆแล้วไม่โตก็ได้ เอกซเรย์ทรวงอกบอกขนาดหัวใจได้ดีพอสมควร ขึ้นอยู่กับเทคนิค ระยะห่างระหว่างหัวใจกับฟิล์ม การหายใจ เป็นต้น
บ่อยครั้งที่ดูว่าหัวใจโตจากเอกซเรย์ แต่จริงๆแล้วขนาดหัวใจปกติในทางกลับกันเอกซเรย์บอกว่าปกติแต่ความจริงมีกล้ามเนื้อหัวใจหนาปกติก็เป็นได้ ต้องเข้าใจว่าการตรวจเหล่านี้ล้วนมีข้อจำกัด บ่อยครั้งที่แพทย์สั่งตรวจหลายๆอย่างเพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุดเพื่อวินิจฉัยและประเมินการรักษา
- Readers Rating
- Rated 3.5 stars
3.5 / 5 (Reviewers) - Very Good
- Your Rating