ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมไปแล้ว นานวันเข้าแม้จะไม่มีการแสดงอาการถึงความเจ็บปวดของข้อเข่า จึงไม่ได้ไปพบแพทย์ตามที่นัดเพื่อตรวจดูอาการ เพราะอาจจะคิดไปเองว่าไม่เป็นอะไรแล้ว แต่นั่นอาจเป็นบ่อเกิดของปัญหาใหญ่ที่จะทำให้ข้อเข่านั้นเกิดการติดเชื้อของข้อเข่าเทียมที่เคยได้รับการผ่าตัดมาก่อนหน้านี้ก็เป็นได้ เพราะผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมนั้นควรได้รับการตรวจดูอาการตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
ปัญหาสำคัญหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมที่พบได้บ่อยๆ คือ
การติดเชื้อหลังการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมซึ่งมีโอกาสพบได้ใน 1-2%
ข้อเข่าหลวมหลังจากการใช้งานที่ยาวนาน
ข้อเข่ายึดติดไม่สามารถงอเข่าหรือเคลื่อนไหวข้อเข่าได้
สำหรับการผ่าตัดครั้งแรกให้ประสบความสำเร็จผู้ป่วยควรพิจารณาปัจจัย 3 ข้อ
ตัวผู้ป่วย ต้องปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำในการเตรียมตัวก่อนและหลังการผ่าตัดให้เหมาะสม
ชนิดข้อเข่าเทียมที่ใช้ ต้องมีคุณภาพได้รับการรับรองมาตรฐาน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง
ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดต้องมีความรู้ ความชำนาญ รวมถึงประสบการณ์และเทคนิคการผ่าตัดที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการวางตำแหน่งของข้อเทียมที่ถูกต้องเหมาะสมและจัดวางความตึงของเนื้อเยื่อและเส้นเอ็นรอบข้อเข่าได้อย่างสมดุล
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการปวดข้อเข่าเรื้อรังหลังจากการผ่าตัด ซึ่งเป็นอาการหนึ่งที่ต้องพึงระวังและสงสัยเนื่องจากส่วนใหญ่หลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมผู้ป่วยจะรู้สึกสบาย เดินไม่เจ็บไม่ปวด ส่วนอาการที่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์หากการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมไม่ประสบความสำเร็จ คือ
1.ข้อเข่าบวม และมีอาการปวดข้อเข่าขณะพักและเคลื่อนไหวข้อเข่า เนื่องจากมีการอักเสบของข้อเข่าและเยื่อหุ้มข้อเข่าตลอดเวลา
2.มีไข้ ซึ่งอาจจะเกิดการติดเชื้อหลังการผ่าตัด
สำหรับการผ่าตัดแก้ไข หากเกิดการติดเชื้อแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1.หากสงสัยว่า อาจจะมีอาการติดเชื้อจากภาพถ่ายเอ็กซเรย์ , ผลการตรวจเลือด , ผลการตรวจน้ำในข้อเข่าทางห้องปฏิบัติการ แต่ข้อเข่าเทียมยังไม่หลวมหรือมีการเปลี่ยนตำแหน่งของข้อเข่าเทียม กรณีนี้แพทย์สามารถผ่าตัดเปิดผิวข้อเข่าและทำการล้างทำความสะอาดข้อเข่า และให้ยาปฏิชีวนะต่อประมาณ 2-4 สัปดาห์
2.หากกรณีที่พบว่า มีการติดเชื้อโดยมีผลตรวจเลือดและผลตรวจน้ำข้อเข่าว่ามีลักษณะการติดเชื้อร่วมกับมีการหลวมหรือเปลี่ยนตำแหน่งของข้อเข่าเทียมจากภาพเอ็กซเรย์ แพทย์จะต้องเข้าไปผ่าตัดล้างเอาการติดเชื้อ เช่น หนอง และ เนื้อเยื่อที่มีการอักเสบออก จากนั้นนำเอาข้อเข่าเทียมที่ใส่ครั้งแรกออกทั้งหมด และใส่ตัวชั่วคราว (Antibiotic Cement Spacer) ซึ่งมีทั้งแบบเคลื่อนไหวข้อเข่าได้ และแบบที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าได้ หลังจากนั้นให้ยาปฏิชีวนะต่อประมาณ 4-6 สัปดาห์ และแพทย์จะตรวจดูว่า ผลเลือดที่เราติดตามการติดเชื้อมีค่าลดสู่ภาวะปกติหรือยัง จึงจะทำการผ่าตัดอีกครั้งเพื่อใส่ข้อเข่าเทียมใหม่เข้าไป อย่างไรก็ตามต้องรักษาการติดเชื้อให้หายสนิทก่อน ซึ่งผู้ป่วยจะต้องผ่าตัดหลายครั้งมากหากพบปัญหาที่มาจากสาเหตุการติดเชื้อของข้อเข่าเทียม ดังนั้น ผู้ป่วยควรปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และติดตามดูอาการที่แพทย์นัดอย่างเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเอง
ระยะพักฟื้น
สำหรับระยะการพักฟื้นก็จะนานกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมครั้งแรกที่ไม่มีการติดเชื้อ อาจจะอยู่ที่ประมาณ 4 สัปดาห์หรืออาจจะมากกว่านั้น
การดูแลหลังผ่าตัด
วิธีการดูแลหลังการผ่าตัด สิ่งที่สำคัญโดยปกติแพทย์ที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้ผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อตรวจดูอาการหลังจากผ่าตัดที่ 1 สัปดาห์ และสัปดาห์ที่ 2 แพทย์จะนัดมาดูแลผ่าตัดว่า มีลักษณะที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อหรือไม่ หลังจากนั้นแพทย์ก็จะนัดอีก 1 เดือน 3 เดือน 6เดือน และ 1 ปี ตามลำดับ จากนั้นทุกๆ 1 ปี แพทย์จะนัดติดตามดูอาการ เพื่อเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะเริ่มแรก
สุดท้ายนี้ ผู้ป่วยที่จะต้องรับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม มีข้อควรพิจารณาเพื่อใช้ประกอบในการผ่าตัดคือ
ผู้ป่วยควรเตรียมร่างกายให้พร้อม มีโรคประจำตัวอย่างไรต้องรักษา เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เช่นถ้ามีโรคเบาหวานก็ต้องรักษาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
พิจารณาเลือกใช้ข้อเข่าเทียมที่ได้มาตรฐานและประการสุดท้ายคือ พิจารณาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมที่ได้มาตรฐานและมีประสบการณ์
ที่มา http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000098456
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ฟื้นฟูข้อเสื่อม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-7340000 ต่อ 2222 , 2224
- Readers Rating
- Rated 4.9 stars
4.9 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating