หลงลืม-มือสั่น-นอนละเมอ ระวังเสี่ยงโรคพาร์กินสัน - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

หลงลืม-มือสั่น-นอนละเมอ ระวังเสี่ยงโรคพาร์กินสัน

Share:

“ปัจจุบันมีการรักษาโรคพาร์กินสันให้หายขาดหรือยัง”
“ท้องผูกก็เป็นส่วนหนึ่งของโรคพาร์กินสันด้วยหรือ”
“ถ้าผมเป็นโรคพาร์กินสันจริง ลูกผมมีโอกาสเป็นโรคพาร์กินสันหรือเปล่า”
“ทำไมพ่อผมมีปัญหาหลงลืมก่อนมือสั่น แล้วหมอบอกว่าพ่อผมเป็นโรคพาร์กินสันเทียม”

เป็นคำถามที่แพทย์มักถูกถามบ่อย ๆ เมื่อมีผู้ป่วยคนหนึ่งถูกวินิจฉัยว่า เป็นโรคพาร์กินสันครั้งแรก ไม่น่าแปลกใจที่ตัวผู้ป่วยหรือคนรอบข้างจะมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโรคพาร์กินสันที่ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่ทำให้หายขาดจากโรค และตัวคนไข้จะต้องยอมรับที่จะอยู่กับโรคไปตลอดชีวิต ดังนั้นเราควรมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันเพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลตัวเอง

โรคพาร์กินสัน หรือ โรคสันนิบาต คือ โรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว (Motor symptoms) ทั้งอาการสั่นซึ่งอาจพบบริเวณใบหน้า มือ หรือขาก็ได้ อาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็งหรืออาการเคลื่อนไหวช้า ซึ่งอาการเหล่านี้มักเริ่มครึ่งซีกก่อน เมื่อเป็นมากขึ้นจึงกระจายเป็นทั้งสองด้าน ดังนั้นจึงมีคนไข้จำนวนหนึ่งมักถูกสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ สิ่งที่ช่วยแยกได้ดีสำหรับสองโรคนี้ คือ ระยะที่เริ่มเป็นนั้นเป็นเฉียบพลันหรือค่อย ๆ เป็น นอกจากนี้ยังมีท่าเดินที่ผิดปกติมักเดินซอยเท้า การทรงตัวที่ไม่ดี หรือแม้กระทั่งปัญหาการหกล้มบ่อย ๆ ล้วนเป็นอาการนำที่พาผู้ป่วยมาพบแพทย์

แต่แท้จริงแล้วโรคพาร์กินสันยังมีอาการในกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว (Non-motor symptoms) ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่า อาการเหล่านั้นมีสาเหตุเกิดจากโรคพาร์กินสัน ยกตัวอย่างเช่น การนอนละเมอ (พูดหรือออกท่าทางที่ตอบสนองต่อความฝันขณะนอนหลับ บางรายถึงขนาดทำร้ายร่างกายของคนที่นอนร่วมเตียง) ปัญหาการปวดตามร่างกาย หรือปัญหาของระบบประสาทอัตโนมัติโดยเฉพาะอาการท้องผูก อาการเหล่านี้อาจพบเป็นอาการนำก่อนที่จะเริ่มพบอาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหวหรืออาการสั่นมาก่อนหลายปีก็ได้

นอกจากนี้ ยังพบลักษณะของสมองเสื่อม หรือความจำไม่ดี ที่เกี่ยวข้องกับโรคพาร์กินสันได้อีกด้วย โดยความจำเสื่อมชนิดนี้ มีสาเหตุและอาการแสดงที่แตกต่างกับโรคความจำเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ อีกอาการหนึ่งที่ไม่ควรลืม คือ ผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคซึมเศร้า หรือวิตกกังวลมากเกิน บางคนคิดว่า อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ป่วย ต่อการรับรู้ว่าตนเองเป็นโรคที่ร้ายแรง

แต่ปัจจุบัน มีการศึกษามากมายในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ที่แสดงให้เห็นว่า อาการผิดปกติทางอารมณ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของตัวโรคพาร์กินสันเอง นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายพูดน้อยลง หรือดูว่าขาดความสนใจต่อสิ่งแวดล้อม หรือกิจกรรมที่เคยทำเป็นประจำในอดีต อาการทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโรคพาร์กินสัน แต่เป็นอาการที่พบได้บ่อยและสามารถรักษาได้

ดังนั้น ผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวไม่ควรที่จะลืมสำรวจอาการเหล่านี้ และบอกกับแพทย์ของคุณเมื่อได้รับการตรวจ และอีกสิ่งหนึ่งที่ควรทราบอย่างยิ่ง คือ การดำเนินโรคของโรคพาร์กินสัน เมื่อแพทย์รักษาผู้ป่วยผ่านไประยะหนึ่ง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะตอบสนองต่อยาดีมาก บางคนเหมือนกลับมาเป็นปกติ เรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่า Honeymoon Period ซึ่งอาจกินระยะเวลาหลายปี ก่อนจะเริ่มเข้าสู่ภาวะการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ เช่น ยาหมดฤทธิ์เร็วก่อนมื้อต่อไป (wearing off) การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายไม่ได้หรืออาการยุกยิก (dyskinesia) เป็นต้น ซึ่งการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความยากไม่แพ้การรักษาเริ่มต้นเลย

คิดง่าย ๆ กับโรคพาร์กินสัน

สุดท้ายนี้โรคพากินสันเกิดจากความเสื่อมของสมองที่บริเวณส่วนกลางของก้านสมอง ที่เรียกว่า ซับสแตนเชีย ไนกร้า (Substantia Nigra) หน้าที่ของสมองส่วนนี้ คือ การสร้างสารสื่อประสาทตัวหนึ่ง ชื่อ โดปามีนและสารตัวนี้เองที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของร่างกาย ความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ ถ้าขาดสารตัวนี้ก็ทำให้หน้าที่ที่ควรจะเป็นของมันเสียไป เกิดเป็นอาการที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวตามที่กล่าวไป

แล้วการรักษาภาวะนี้ทำอย่างไร? ถ้าให้กล่าวง่าย ๆ อีก หลักการก็คือ การทดแทนสารโดปามีนที่ร่างกายสร้างไม่เพียงพอกลับคืนเข้าไปในปริมาณที่พอเพียง ซึ่งถ้าผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันจริง ส่วนมากมักตอบสนองต่อการรักษาด้วยการทดแทนสารโดปามีน กล่าวคือ ช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ขณะที่ยาออกฤทธิ์

อย่างไรก็ตาม การรักษาใดที่ทำให้หายขาดจากโรคเลย คำตอบ คือ ยังไม่มีการรักษาใดที่จะทำให้สมองที่เสื่อมส่วนนั้น กลับมาทำงานได้ปกติเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ หรือแม้กระทั่งการรักษาเพื่อชะลอการดำเนินโรค ทั้งยาทดแทนสารโดปามีนหรือวิทยาการรักษาใหม่ ๆ เช่น การให้ยาในรูปแบบเจลเข้าสู่ลำไส้เล็กบริเวณที่ดูดซึมยา หรือการผ่าตัดสมองส่วนลึกเพื่อใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เป็นต้น

พญ.ณัฎลดา ลิโมทัย
อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating