คำถามยอดฮิตจากคุณแม่เกี่ยวกับการนอนของลูก
- เด็กควรนอนวันละกี่ชั่วโมง
- เราควรปลุกเด็กให้ดื่มนมตามเวลาหรือไม่
- เด็กจะนอนได้ทั้งคืนโดยไม่ตื่นมากินนมตอนอายุเท่าไร
ทำไมเด็กเล็กๆ บางคน ตื่นบ่อยและโยเยตอนกลางคืน ตื่นแล้วไม่ยอมนอน ต้องอุ้มกล่อมหรือป้อนนมทุกครั้ง บางคนถึงขนาดต้องหลับบนอกพ่อแม่ทั้งคืน
ปัญหาการนอนของเด็กตั้งแต่วัยขวบปีแรกจนถึงเด็กโตพบได้บ่อยๆ การพาเด็กเข้านอนจนกระทั่งเด็กหลับไป อาจเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับบางครอบครัว การได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้องจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ สามารถจัดการให้เด็กเข้านอนได้ง่าย เด็กหลับสบายและนานขึ้น ที่สำคัญคือเด็กสามารถบังคับตัวเองให้หลับได้ง่ายและเร็วขึ้นเมื่อถึงเวลานอน
กระบวนการนอนและพฤติกรรมการนอนที่ปกติของเด็ก
โดยทั่วไปประมาณ 1 ใน 5 ถึง 1 ใน 4 ของเด็กวัยก่อน 3 ปีแรก จะพบว่ามีอาการหลับยากและมักตื่นกลางดึกบ่อยๆ เด็กวัย 3 – 5 ปี มักกลัวความมืด กลัวเสียงดัง กลัวการนอนคนเดียว เด็กโตอาจพบว่ามีอาการฝันร้าย หรือตื่นกลัวตอนกลางคืน มักพบอาการฝันร้ายในเด็กวัย 10 ปีแรก และพบบ่อยที่สุดในช่วง 5 – 7 ปี โดยพบประมาณร้อยละ 1 – 4
มีคำถามว่าควรจะให้เด็กนอนด้วย หรือให้เด็กนอนคนเดียวตามวัฒนธรรมตะวันตก เรื่องนี้แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละครอบครัว แต่มีการศึกษาหลายแหล่งที่แสดงว่า เด็กที่นอนร่วมกับผู้ใหญ่จะมีโอกาสตื่นกลางดึก มากกว่าเด็กที่ปล่อยให้นอนตามลำพังคนเดียวถึง 2 – 3 เท่า ยิ่งเด็กที่ดูดนมแม่และนอนกับแม่ยิ่งตื่นกลางดึกบ่อย มากกว่าเด็กที่นอนคนเดียว
ปกติการนอนหลับจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ REM (Rapid eye movement) และ NREM (Non-rapid eye movement) สำหรับระยะการนอนหลับช่วง REM Sleep การหลับจะเป็นแบบตื้นๆ ร่วมกับการกรอกตาไปมาอย่างรวดเร็ว กล้ามเนื้อจะผ่อนคลาย ชีพจรและการหายใจอาจไม่สม่ำเสมอ ความฝันจะเกิดในช่วงนี้ ส่วน NREM Sleep ชีพจรและการหายใจจะช้าลง สม่ำเสมอ การเคลื่อนไหวลำตัวจะน้อยที่สุด เป็นช่วงที่อวัยวะต่างๆ ได้หยุดพักมากที่สุด REM Sleep ในเด็กแรกเกิด จะเกิดประมาณร้อยละ 50 ของการนอนและลดลงจนอายุ 5 ปี จะเท่ากับผู้ใหญ่คือ ร้อยละ 20 – 25 ของการนอนหลับทั้งหมด
ระยะเวลาการนอนหลับจะแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ทารกแรกเกิดนอน 16 – 17 ชั่วโมงต่อวัน เด็กอายุ 3 – 4 เดือน สามารถนอนติดต่อกันได้ถึง 5 ชั่วโมง อายุ 4 – 6 เดือน เด็กควรจะหลับได้ด้วยตัวเอง อายุ 1 ปี เด็กจะนอนวันละประมาณ 14 ชั่วโมง อายุ 2 ปี จะนอนวันละ 13 ชั่วโมง และส่วนใหญ่มักไม่นอนตอนเช้า พออายุ 3 – 5 ปี ส่วนใหญ่จะนอนตอนบ่าย 1 ครั้ง ร้อยละ 75 ของเด็กอายุ 5 ปี ไม่ต้องการนอนกลางวัน
ปัญหาการนอนของเด็กที่พบบ่อยๆ คือหลับยาก มักต้องให้พ่อแม่ช่วยอุ้มกล่อมเขย่า หรือติดดูดนมก่อนหลับ เด็กเหล่านี้ไม่ได้ถูกฝึกให้นอนได้ด้วยตัวเอง โดยธรรมชาติของเด็กเล็กๆ ต้องตื่น รู้สึกตัวเป็นพักๆ ขณะหลับอยู่แล้ว แต่พ่อแม่มักตอบสนองต่อเด็กมากเกินเหตุ ด้วยการเข้าไปอุ้ม กล่อม หรือให้ดูดนมทุกครั้งที่เด็กร้อง ทำให้เด็กติดและไม่สามารถหลับได้ด้วยตัวเอง
แก้ป้ญหา
เด็กที่มีปัญหาการนอนตั้งแต่ขวบปีแรกและไม่ได้รับการแก้ไข มักพบว่าปัญหาจะดำเนินต่อไปเมื่อเด็กโตขึ้น ดั้งนั้นสิ่งสำคัญคือต้องฝึกให้เด็กเล็กรู้จักนอนหลับได้ด้วยตัวเอง โดยจัดช่วงเวลาให้เด็กได้งีบและนอนหลับตามตารางที่แน่นอนและสม่ำเสมอ ควรให้เด็กนอนบนเตียงตั้งแต่เริ่มผ่อนคลายหรือง่วง ไม่ใช่ช่วงที่เด็กหลับไปแล้ว เพื่อให้เด็กรู้จักปรับตัวและบังคับตัวเองให้หลับได้ตั้งแต่เล็กๆ โดยไม่ต้องดูดนม ไม่ต้องอุ้มเขย่า และไม่สนใจเสียงร้องที่อาจมีขึ้นก่อนเด็กหลับ เพื่อให้ความทรงจำสุดท้ายก่อนเด็กหลับ คือการนอนได้โดยลำพัง ถ้าเด็กตื่นและร้องหานมควรใจแข็ง ประวิงเวลาให้นานที่สุดก่อนจะยอมให้เด็กดูดนมอีกครั้ง
การเล่นกับเด็กมากเกินไปในช่วงเย็นหรือหัวค่ำ อาจทำให้เด็กเล็กๆ วัย 8 – 9 เดือนขึ้นไป นอนยาก หรือตื่นมาร้องกวนตอนดึก การแก้ปัญหาเด็กนอนดึกคือ ค่อยๆ ขยับเวลาตื่นให้เร็วขึ้น 15 นาที เพื่อให้เด็กรู้สึกง่วงเร็วขึ้น รวมถึงสามารถจัดตารางตื่นและเข้านอนได้ตามเวลาที่ต้องการ นอกจากนี้ การอ่านนิทานหรือเล่าเรื่องเบาๆ ก่อนนอน จะช่วยให้เด็กหลับได้เร็วขึ้น
นอนนั้น…สำคัญไฉน
การนอนหลับอย่างมีคุณภาพจะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ สมาธิ ความจำ และการตัดสินใจ มีผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้สมบูรณ์ สังเกตได้จากโรคภูมิแพ้จะกำเริบมากขึ้นหากนอนน้อย นอกจากนี้ โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนช่วยเร่งความสูงของเด็กๆ จะหลั่งได้ดีในช่วงกลางดึกที่เด็กหลับสนิทระยะหนึ่ง (NREM Sleep stage 3 และ 4) หากเด็กนอนน้อยจะกระทบต่อการหลั่งโกรทฮอร์โมน และอาจมีผลต่อศักยภาพในด้านความสูงของเด็กได้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-27340000 ต่อ 3310, 3312, 3319
- Readers Rating
- Rated 4.8 stars
4.8 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating