ตามความเข้าใจของบุคคลทั่วไป สมองเสื่อมคือ ความจำเสื่อม ขี้หลง ขี้ลืม มีพฤติกรรมแปลกๆ โดยความเป็นจริงแล้วสภาวะเหล่านี้อาจจะเกิดปัญหาทางสมองเองหรือภาวะของโรคนอกสมองที่ทำให้เกิดมีอาการคล้ายสมองเสื่อม
โรคสมองเสื่อม (Dementia) เป็นคำที่เรียกใช้กลุ่มอาการซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานของสมองที่เสื่อมลง อาการที่พบได้บ่อย คือ ในด้านที่เกี่ยวกับความจำ การใช้ความคิด และการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และยังพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพร่วมด้วยได้ เช่น หงุดหงิดง่าย เฉื่อยชา หรือเมินเฉย เป็นต้น อาการของภาวะสมองเสื่อมจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่าง ใช้เวลานานเป็นปี โดยที่ตัวคนไข้เองอาจไม่สังเกตเห็น แต่คนรอบข้างจะสังเกตเห็นความผิดปกตินั้นได้ ซึ่งในที่สุดอาการของภาวะสมองเสื่อมจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งในด้านอาชีพการงาน และชีวิตส่วนตัว
เมื่อเรามีอายุมากขึ้น ในบางครั้งอาจมีอาการหลงๆ ลืมๆ ได้ แต่อาการหลงลืมในโรคสมองเสื่อมนั้น จะมีลักษณะที่แตกต่างออกไป คือ อาการหลงลืมจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่จำรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เท่านั้น คนที่เป็นโรคสมองเสื่อมจะจำเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย รวมทั้งสิ่งที่ตัวเองกระทำเองลงไปด้วย และถ้าเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจำไม่ได้ว่าใส่เสื้ออย่างไร อาบน้ำอย่างไร หรือแม้กระทั่งไม่สามารถพูดได้เป็นประโยค
ใครคือกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม
โรคสมองเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศและทุกวัย แต่จะพบได้น้อยมากในคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปี อุบัติการณ์และความชุกของโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นตามอายุ การศึกษาหลายงานในประเทศไทยพบว่า ความชุกของการเกิดสมองเสื่อมในประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป โดย 70% ของคนไข้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม มีสาเหตุมาจากโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
กลุ่มอายุของคนไข้ โอกาสที่จะป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม
น้อยกว่า 65 ปี 0.1% 1 ใน 1,000 คน
65-70 ปี 1.43% 1 ใน 70 คน
70-80 ปี 4% 1 ใน 25 คน
มากกว่า 80 ปี 20% 1 ใน 5 คน
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมคือผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งมีผลต่อหลอดเลือด เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ผู้ที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดเป็นระยะเวลานาน ผู้ที่ไม่ค่อยดูแลสุขภาพ ไม่ค่อยออกกำลังกาย พักผ่อนหรือรับประทานอาหารไม่เพียงพอ
สาเหตุของโรคสมองเสื่อม
อาการต่างๆ ของโรคสมองเสื่อมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) นั้นเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ประมาณร้อยละ 70 ของคนไข้ด้วยโรคสมองเสื่อม รองลงมาคือโรคสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมอง (Vascular dementia) นอกจากนี้สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมที่พบได้ คือ โรค Parkinson, Frontal Lobe Dementia, จาก alcohol และจาก AIDS เป็นต้น
อาการที่สำคัญของโรคสมองเสื่อม
คนไข้สมองเสื่อมในระยะแรกอาจมีอาการไม่มากนัก โดยเฉพาะอาการหลงลืมและยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง แต่จะทรุดหนักเมื่อเวลาผ่านไป อาการดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป คนไข้จะเริ่มมีปัญหาด้านพฤติกรรมและอาการทางระบบประสาทอื่นๆ ตามมา ซึ่งอาการที่สามารถพบได้ในคนไข้สมองเสื่อมมีดังนี้
ความจำเสื่อม โดยเฉพาะความจำระยะสั้น หรือมีความบกพร่องในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมากเกินวัยเมื่อเทียบกับผู้ที่มีอายุใกล้เคียงกัน เช่น การวางของแล้วลืม จำนัดหมายที่สำคัญไม่ได้ ลืมไปแล้วว่าเมื่อสักครู่พูดอะไร ใครมาพบบ้างในวันนี้ และหากมีความรุนแรงมากขึ้น ความจำในอดีตจะเสื่อมด้วย
ไม่สามารถทำสิ่งที่เคยทำได้ เช่น ลืมไปว่าจะปรุงอาหารชนิดนี้ได้อย่างไร ทั้งที่เคยทำ
มีปัญหาในการใช้ภาษา เช่น พูดไม่รู้เรื่อง พูดซ้ำๆ ซากๆ เรียกชื่อคนหรือสิ่งของเพี้ยนไป ลำบากในการหาคำพูดที่ถูกต้อง ทำให้ผู้อื่นฟังไม่เข้าใจ
มีปัญหาในการลำดับทิศทางและเวลา ทำให้เกิดการหลงทาง หรือกลับบ้านตัวเองไม่ถูก
สติปัญญาด้อยลง การคิดเรื่องยากๆ หรือคิดแก้ปัญหาอะไรไม่ค่อยได้ มีการตัดสินใจผิดพลาด
วางของผิดที่ผิดทาง เช่น เอาเตารีดไปวางในตู้เย็น เอานาฬิกาข้อมือใส่เหยือกน้ำ เป็นต้น
อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายและรวดเร็ว เช่น เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวสงบนิ่ง
บุคลิกเปลี่ยนแปลงไป เช่น ไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อม ซึมเศร้า หรืออาจจะมีบุคลิกที่กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ในรายที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แม้แต่การอาบน้ำ เข้าห้องน้ำ จึงต้องมีผู้ดูแลตลอดเวลา
การตรวจวินิจฉัย
เนื่องจากสาเหตุของโรคสมองเสื่อมมีมากมายหลายสาเหตุ ดังนั้น เมื่อมีอาการที่ต้องสงสัย ควรจะพบแพทย์เพื่อรับการปรึกษา และตรวจร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ทราบว่า ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ และสาเหตุมาจากอะไร
การตรวจวินิจฉัยโรค แพทย์จะให้ทำแบบคัดกรองผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10– 15 นาที ซึ่งผลจากแบบคัดกรองดังกล่าว สามารถบอกได้ว่าคนไข้อยู่ในข่ายสงสัยมีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ หากผลตรวจบ่งไปในทางที่น่าจะเป็นปัญหาสมองเสื่อม แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจร่างกายและเลือดทั่วไป เพื่อแยกโรคต่างๆ ภายนอกสมองที่จะมีผลต่อความจำหรือภาวะสมองเสื่อม แพทย์จะแนะนำให้ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สมอง (MRI) เพื่อดูว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และให้การดูแลรักษาตามความเหมาะสมต่อไป
เมื่อมีอาการที่ต้องสงสัยควรจะพบแพทย์เพื่อการทดสอบสภาวะ ของความจำก่อน หากผลตรวจบ่งไปในทางที่น่าจะเป็นปัญหาสมองเสื่อม แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจร่างกายและเลือดทั่วไป เพื่อแยกโรคต่างๆ ภายนอกสมองที่จะมีผลต่อความจำหรือภาวะสมองเสื่อม เมื่อเราแยกโรคทั่วไปออกแล้ว แพทย์จะทำการตรวจในส่วนของปัญหาในสมอง ซึ่งจะต้องแยกโรคติดเชื้อ เนื้องอก โพรงน้ำไขสันหลังขยายตัว เส้นเลือดตีบออกไปจากภาวะสมองเสื่อมหรือฝ่อ การถ่ายภาพสมองโดยเครื่อง MRI จะทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง
วิธีการรักษา
วิธีการรักษาสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ปัจจุบันมียาหลายชนิด ทั้งในรูปแบบของยารับประทานและแผ่นแปะที่สามารถช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ โดยอาการอาจจะไม่กลับมาดีเหมือนเดิม แต่ทำให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ลดความรุนแรงของของอารมณ์ลง
สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์สมองและระบบประสาท
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 5400, 5444
- Readers Rating
- Rated 3 stars
3 / 5 (Reviewers) - Good
- Your Rating