ปัญหา อาการปวดหัว - Vejthani Hospital

บทความสุขภาพ

ปัญหาปวดหัว

Share:

ปัญหาทางระบบประสาทอย่างหนึ่ง ที่สร้างความทรมานอย่างยิ่งให้กับผู้ที่ต้องเผชิญคือ  อาการปวดหัว โดยมากมักเป็นๆ หายๆ บ้างก็ทราบสาเหตุ บ้างก็ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่เมื่อเป็นแล้วนอกจากจะสร้างความเจ็บปวดให้กับร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตในด้านอื่นๆ อีกด้วย

ปวดศีรษะ (Headaches)

ปัญหาของ อาการปวดศีรษะ มักเกิดจากสาเหตุต่างๆ ทั้งจากโรคของสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง โรคหลอดเลือดสมอง การอักเสบของเส้นประสาท และปัญหาที่มาจากปัจจัยภายนอก เช่น ความดันโลหิตสูง รับประทานยาบางชนิด เป็นไข้ กระดูกคอเสื่อม ความเครียด ไมเกรน สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ อาจแยกจากกันไม่ได้ชัดเจน ต้องอาศัยการตรวจพิเศษและดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจรักษา เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

อาการสำคัญที่ควรพบแพทย์ด่วน

  • อาการปวดศีรษะเฉียบพลัน หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
  • มีอาการอาเจียน เป็นไข้ คอแข็ง แขนขาชาและอ่อนแรง ตามองไม่เห็น เป็นอาการร่วมกับการปวดศีรษะ หรือเป็นอาการนำ
  • เสียการทรงตัว หมดสติ สับสนจำอะไรไม่ได้
  • ผู้ป่วยที่กินยาแก้ปวดเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน แต่อาการไม่ทุเลาหรือมีอาการมากขึ้น

ปวดศีรษะไมเกรน

ไมเกรนและความเครียด เป็นสาเหตุของการปวดศีรษะ 85-90% ของประชากรทั่วไป ปวดศีรษะไมเกรนมีอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดเป็นพักๆ จะเป็นๆ หายๆ ข้างใดข้างหนึ่ง ปวดตุบๆ เหมือนชีพจรกำลังเต้น บางรายปวดมากจนทำงานไม่ได้
  • อาการปวดมักปวดบริเวณหน้าผาก รอบดวงตา ขมับและขากรรไกร
  • อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • เห็นแสงสว่าง แสงสี ตาพร่ามัว ก่อนหรือระหว่างการปวดศีรษะ
  • ระยะเวลาในการปวดนานประมาณ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งมักพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

อาการปวดศีรษะมักจะเริ่มช่วงวัยรุ่นเมื่ออายุมากขึ้น บางครั้งผู้ป่วยที่เป็นไมเกรนอาจจะมีอาการนำ aura เช่นเห็นแสงแลบ ตามองไม่เห็น ชาซีกใดซีกหนึ่งเรียกว่า “Classic Migrain” แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการนำเรียกว่า “Common Migrain” ถึงแม้ว่าไมเกรนเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่หากเข้าใจโรคและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ก็สามารถทำให้ควบคุมโรคได้

สาเหตุของการปวดศีรษะไมเกรน

  • ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากการหลั่งสารเคมีรอบๆ เส้นเลือดสมอง ทำให้มีการปวดเกิดขึ้น
  • ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน
  • การนอนหลับมาก หรือน้อยเกินไป หรือนอนไม่เป็นเวลา
  • รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา หรืออดอาหารนานๆ น้ำตาลในเลือดต่ำ
  • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และอาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรสและสารกันบูด เนยแข็ง ช็อกโกแลต
  • สิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิเปลี่ยนแปลง อากาศร้อน รวมทั้งกลิ่นต่างๆ เช่น กลิ่นน้ำหอม กลิ่นเหม็น ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสีย
  • การนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ
  • ฮอร์โมนเพศสูง ช่วงมีประจำเดือน และการตั้งครรภ์ในช่วงเดือนแรกๆ

การวินิจฉัย

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคโดยการซักประวัติและตรวจร่างกายทางระบบประสาท โดยถามถึงลักษณะอาการปวด ตำแหน่งที่ปวด ความรุนแรงของอาการปวด อาการเตือนก่อนปวด และอาการร่วม รวมถึงระยะเวลาที่ปวดแต่ละครั้ง ความถี่ของการปวด เป็นต้น สำหรับการปวดศีรษะจากโรคอื่นๆ อาจมีลักษณะคล้ายกัน บางครั้งจึงมีความจำเป็นต้องตรวจพิเศษ เพื่อจำแนกโรคให้ชัดเจน

การรักษาไมเกรน

  • ควรดูแลและรักษาสุขภาพอย่างใกล้ชิด นอนให้เพียงพอ นอนให้เป็นเวลา
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ท่านสามารถสังเกตได้ เช่น อาหาร สิ่งแวดล้อม
  • การรักษาเพื่อขจัดความปวดโดยการใช้ยา ซึ่งมีทั้งยาแก้ปวดไมเกรน และยาป้องกันไมเกรน ซึ่งการจะใช้ยาชนิดใด ควรได้รับการแนะนำหรือปรึกษาจากแพทย์ก่อน

ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 5400, 5444


  • Readers Rating
  • Rated 4.4 stars
    4.4 / 5 (9 )
  • Your Rating