ผ่าตัดผ่านกล้องแก้ปวดหลังเรื้อรัง แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ลดผลข้างเคียง - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

ผ่าตัดผ่านกล้องแก้ปวดหลังเรื้อรัง แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ลดผลข้างเคียง

Share:

ผ่าตัดผ่านกล้องแก้ปวดหลังเรื้อรัง

อาการปวดหลังเป็นอาการที่พบได้บ่อยมากในผู้ป่วยที่มารับการรักษา โดยจากการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลังปวดคอ มีความถี่มากเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยปัญหาของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ และมีความถี่เป็นรองแค่โรคความดันโลหิตสูง และเบาหวาน เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนของผู้ป่วยทั้งหมดที่มาพบแพทย์ ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประชากรของประเทศ

จากการสำรวจในปี 2003 ยังพบว่า มีอัตราการเพิ่มขึ้นของการผ่าตัดโรคที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลังในสหรัฐอเมริกามากที่สุด ในบรรดาการผ่าตัดทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาโรค รวมถึงการผ่าตัด เทคนิคการผ่าตัด การพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องภาพถ่ายทางรังสี ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น นอกจากนี้ จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดมีมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันผู้ป่วยไม่ต้องการทนอยู่กับความเจ็บปวดและข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้ คนสูงอายุมีมากขึ้นและมีกิจกรรมให้เลือกทำมากขึ้น บางคนเกษียณแล้วก็ยังทำงานอยู่ เมื่อมีวิธีการรักษาที่สามารถช่วยให้หลุดพ้นจากความเจ็บปวด จึงทำให้มีผู้ต้องการเข้ามารักษาจำนวนมาก ซึ่งภาวะเช่นนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน แม้ว่าในขณะนี้ผู้สูงอายุไทยจำนวนหนึ่งอาจโชคดีกว่าในต่างประเทศที่มีลูกหลานคอยเลี้ยงดู

โรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดหลังมีหลากหลายมาก ทั้งจากกล้ามเนื้ออักเสบ เส้นเอ็นอักเสบ หมอนรองกระดูกเสื่อมหรือแตกกดทับเส้นประสาท ช่องโพรงไขสันหลังตีบแคบจากหินปูนกดทับเส้นประสาท ข้อกระดูกหลวมและเคลื่อนกดทับเส้นประสาท และอื่นๆ ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้วินิจฉัยจากการถามอาการและการตรวจร่างกายผู้ป่วย เนื่องจากอาการมาจากหลายสาเหตุ บางครั้งอาการของโรคอาจจะคล้ายกัน มีความจำเป็นต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีทำให้การวินิจฉัยนั้นแม่นยำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเลือด การตรวจเส้นประสาท การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจเอกซเรย์คลื่นสนามแม่เหล็ก เป็นต้น

ผ่าตัดผ่านกล้องแก้ปวดหลังเรื้อรัง แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ลดผลข้างเคียง

จากการพัฒนาเทคโนโลยีดังที่กล่าวมา ทำให้เรารู้ความจริงและเข้าใจเกี่ยวกับโรคแต่ละโรคมากขึ้น โรคบางโรค เช่น กล้ามเนื้ออักเสบที่เรื้อรังไม่หาย เมื่อตรวจอย่างละเอียดกลับกลายเป็นโรคหมอนรองกระดูก โรคเนื้องอกกระดูก หรืออื่นๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้อง แพทย์ก็ได้เรียนรู้มากขึ้น ทำให้ปัจจุบันความไม่เข้าใจทางการแพทย์เกี่ยวกับอาการปวดหลังถูกค้นพบมากมาย

นอกจากการพัฒนาในด้านการวินิจฉัยแล้ว การพัฒนาด้านการรักษาก็ควบคู่กันไป เมื่อเราทราบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ทราบตำแหน่งของปัญหา ทำให้เราสามารถหาตำแหน่งเป้าหมาย ที่จะแก้ไขโดยไปรบกวนอวัยวะข้างเคียงที่ไม่จำเป็นน้อยที่สุด จึงมีการพัฒนาการผ่าตัดที่ใช้กล้องเข้ามาช่วย โดยเฉพาะโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่ปวดหลังเรื้อรัง คือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคช่องโพรงไขสันหลังตีบแคบจากหินปูนกดทับเส้นประสาท การผ่าตัดโดยใช้กล้องเข้ามาช่วย มีทั้งแบบที่สอดกล้องเข้าไปในร่างกาย และการใช้กล้องช่วยผ่าตัดอยู่ด้านนอก ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

ขนาดแผลผ่าตัดของผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่เอว

การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้อง มีข้อดีหลายประการได้แก่ การทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียงน้อย เนื่องจากการผ่าเข้าไปที่ตำแหน่งเป้าหมายโดยตรง แผลผ่าตัดจึงเล็กลง การมองเห็นที่ชัดเจนทำให้ความผิดพลาดในการผ่าตัดลดน้อยลงมาก การแยกระหว่างหมอนรองกระดูก เส้นประสาท เส้นเอ็นนั้นทำได้ชัดเจน แพทย์จึงสามารถผ่าตัดหมอนรองกระดูกได้อย่างมั่นใจ นอกจากนี้ผู้ป่วยก็จะเสียเลือดน้อยลง จากประสิทธิภาพในการห้ามเลือดที่ดีกว่า ผู้ป่วยจึงเจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวและกลับบ้านได้เร็วขึ้น

เมื่อวินิจฉัยโรคถูกต้องมากขึ้น เทคโนโลยีและเทคนิคการผ่าตัดรักษาดีขึ้น อัตราการหายของผู้ป่วยก็สูงขึ้น และผลข้างเคียงจากการรักษาลดลง

อย่างไรก็ดีแม้ว่าสิ่งต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมด จะช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษาอาการปวดหลังให้ดีขึ้นได้ แต่การป้องกันไม่ให้มีอาการปวดหลัง น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องนั่งนานๆ การใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานมากขึ้น รวมถึงการขับรถระยะทางไกล การยกของหนัก น้ำหนักตัวที่มากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญทำให้เกิดโรค นอกจากนี้การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง เป็นสิ่งที่ควรจะปฎิบัติอย่างต่อเนื่อง จะได้ห่างไกลจากอาการปวดหลังตลอดไป

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5500

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating