

จำนวนผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายคนอาจคิดว่าไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่สำหรับผู้ป่วยแล้ว โรคไซนัสอักเสบส่งผลกระทบและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาให้กับผู้ป่วยโรคนี้มากขึ้น
โรคไซนัสอักเสบ อาการทางจมูกที่ไม่ควรมองข้าม
นพ.นัทพล ธรรมสิทธิ์บูรณ์ โสต ศอ นาสิกแพทย์ ได้อธิบายสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันว่า มาจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่ลามจากโพรงจมูกเข้าสู่โพรงไซนัส ซึ่งโพรงไซนัสมีลักษณะเป็นช่องว่างที่อยู่รอบ ๆ โพรงจมูก ตั้งแต่หน้าผาก หัวตา ข้างแก้ม ไปจนถึงบริเวณฐานสมองด้านใน โดยการอักเสบส่วนใหญ่มักเกิดหลังจากเป็นหวัด
อาการไซนัสอักเสบ
โรคไซนัสอักเสบ มีอาการคล้ายคลึงกับหวัดธรรมดา แต่จะรุนแรงและยาวนานมากกว่า ได้แก่อาการ คัดจมูก น้ำมูกข้นขุ่น ปวดใบหน้า และการได้กลิ่นลดลง หากเป็นระยะเริ่มต้นและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะสามารถหายจากโรคได้ โดยโรคไซนัสอักเสบแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
ได้แก่ ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งจะรักษาได้ไม่ยาก มีอาการไม่เกิน 4 สัปดาห์ และไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือการอักเสบของโพรงไซนัสเกิดขึ้นต่อเนื่องนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป เป็นการอักเสบเรื้อรังโดยมักไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ ซึ่งจะรักษายากขึ้นและใช้เวลานานกว่า
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดไซนัสอักเสบ
- การติดเชื้อ เป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ที่ทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวม ซึ่งอาจไปอุดตันโพรงไซนัส
- ภูมิแพ้ การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก อาจนำไปสู่ไซนัสอักเสบได้
- มีความผิดปกติของช่องจมูก เช่น ผนังกั้นระหว่างช่องจมูกคด ช่องจมูกแคบกว่าปกติ ทำให้เกิดการอักเสบจากการติดเชื้อง่ายขึ้น
- สูบบุหรี่เป็นประจำ หรืออยู่ในเขตมลภาวะเป็นพิษ ส่งผลให้เบื่อบุโพรงจมูกเกิดการระคายเคืองและอักเสบได้
- มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในรูจมูก เช่น เม็ดถั่วเขียว เมล็ดผลไม้ ทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยมากมักพบในเด็ก
- มีริดสีดวงจมูกหรือเนื้องอกโพรงจมูก ทำให้การระบายในโพรงไซนัสไม่ดี และเกิดการอักเสบได้
การรักษาไซนัสอักเสบ
- ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน : หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียจะให้การรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ โดยระยะเวลาจะขึ้นกับความรุนแรงของโรคและเชื้อก่อโรค ร่วมกับการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หากเป็นการติดเชื้อไวรัสที่มีอาการไม่รุนแรง จะหายได้เองภายใน 7 – 10 วัน
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง : รักษาโดยการใช้ยาสเตียรอยด์ผ่านจมูก ร่วมกับน้ำเกลือล้างจมูก แต่หากรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้น อาจต้องพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดไซนัสในปัจจุบัน นิยมการผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope ผ่านทางรูจมูก ทำให้แพทย์เห็นบริเวณที่ทำการผ่าตัดได้ชัดเจน ปลอดภัย และแม่นยำ ผู้ป่วยไม่มีแผลผ่าตัดบนใบหน้า พักฟื้นไว หายใจทางจมูกได้เร็วและเจ็บแผลน้อย
“ระบบเนวิเกเตอร์” คือนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการผ่าตัดไซนัส ช่วยให้แพทย์เห็นภาพตำแหน่งของเครื่องมือผ่าตัดได้อย่างชัดเจนว่าอยู่ส่วนไหนของร่างกายผู้ป่วย ใกล้ลูกตาหรือฐานสมองจะใช้เวลาในการพักฟื้นไม่นาน ประมาณ 1 – 2 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน
คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยไซนัสอักเสบ
- สำหรับผู้ที่ไม่เป็นภูมิแพ้ หรือไม่เคยเป็นไซนัสอักเสบ หากมีอาการหวัด มีน้ำมูก เจ็บคอ และอาการไม่ดีขึ้นเองภายใน 3-5 วัน แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดการอักเสบที่จะเกิดขึ้นบริเวณไซนัสได้
- สำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ หรือเคยเป็นไซนัสอักเสบ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพ่นยา กินยา และคุมอาการภูมิแพ้ให้ดี
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดรักษาไซนัสอักเสบ ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าผู้ป่วยจะหายจากโรคไซนัสอักเสบอย่างถาวร หากผู้ป่วยไม่ดูแลตัวเองและปล่อยให้โรคภูมิแพ้กำเริบ ไม่ใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกได้
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 3400
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating