ฝึกหนูๆ อย่างไรให้รู้จักควบคุมการขับถ่าย - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

ฝึกหนูๆ อย่างไรให้รู้จักควบคุมการขับถ่าย

Share:

ในช่วงวัยที่เด็กกำลังเจริญเติบโต การควบคุมการขับถ่ายเป็นหนึ่งในความสามารถทางพัฒนาการที่มีความสำคัญต่อเด็ก ซึ่งต้องอาศัยความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก การฝึกจากผู้เลี้ยงดู สิ่งแวดล้อม และประสบการณ์ของเด็กด้วย หากผู้เลี้ยงดูไม่เข้าใจอาจทำให้เด็กเกิดปัญหาปฎิเสธการฝึกขับถ่ายได้ โดยสาเหตุที่พบบ่อยของปัญหาปฏิเสธการฝึกขับถ่าย ได้แก่ ภาวะท้องผูกเรื้อรัง พื้นฐานทางอารมณ์ของด็ก ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงดูและเด็ก เป็นต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ดูแลเด็กควรมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการฝึกขับถ่าย

พญ.สินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงความจำเป็นของการฝึกขับถ่ายว่า เป็นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการขับถ่าย ณ เวลา สถานที่ และอายุที่เหมาะสม ซึ่งวิธีการฝึกขับถ่ายนั้นมีหลากหลายขึ้นกับสรีรวิทยา ภาวะทางจิตใจ สังคม และวัฒนธรรมของเด็กและครอบครัว เป็นเรื่องที่ต้องการเวลา ต้องใช้ความเข้าใจและความอดทนของผู้เลี้ยงดู

เมื่อไหร่เด็กจึงจะพร้อมสำหรับการฝึกขับถ่าย? พญ.สินดีให้คำตอบว่า ไม่มีอายุที่แน่นอนขึ้นกับพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วงอายุ 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี ซึ่งบางคนอาจจะเร็วหรือช้ากว่านี้ โดยให้สังเกตสัญญาณที่แสดงว่าเด็กพร้อมต่อการฝึกขับถ่ายได้แก่

  1. ความพร้อมด้านทักษะทั่วไป
    • ด้านภาษา สามารถเข้าใจและทำตามคำสั่งตั้งแต่ 2 ขั้นตอนขึ้นไป เริ่มสื่อสารด้วยการพูดคุยได้
    • ด้านความคิด เลียนแบบกิจวัตรของผู้ใหญ่ เริ่มเข้าใจเหตุและผลง่ายๆ
    • ด้านกล้ามเนื้อ ลุกเดินได้คล่อง นั่งได้มั่นคงโดยไม่ต้องช่วย
    • ด้านอารมณ์ ต้องการเอาใจผู้เลี้ยงดู ภายใต้สัมพันธภาพที่ดี เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง ในขณะเดียวกันพฤติกรรมต่อต้านมากๆเริ่มลดลง เริ่มแสดงความเป็นเจ้าของในสิ่งที่มี
  2. ความพร้อมด้านที่เกี่ยวกับการขับถ่าย
    • การควบคุมกระเพาะปัสสาวะ กลั้นปัสสาวะได้เป็นชั่วโมงหรือหลายชั่วโมง
    • ตระหนักเกี่ยวกับร่างกายตนเอง แสดงให้รู้ว่าไม่ชอบที่จะทำเลอะเทอะในกางเกงหรือผ้าอ้อมที่ใส่อยู่ เริ่มแสดงออกว่ารู้สึกปวดถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ
    • ด้านกล้ามเนื้อ ช่วยเหลือตัวเองในการถอดและใส่กางเกงได้ เริ่มสามารถควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก ปัสสาวะได้บ้าง
    • ด้านการสื่อสาร เข้าใจคำว่า “ฉี่” หมายถึงปัสสาวะ “อึ” หมายถึง อุจจาระ และพูดหรือทำสีหน้า ท่าทาง สื่อให้รู้ได้ว่าต้องการเข้าห้องน้ำหรือใช้กระโถน
  •  

ขั้นตอนการฝึกขับถ่าย

ขั้นตอนที่ 1 เมื่อเด็กและผู้เลี้ยงดูพร้อม เริ่มต้นด้วยการปรับภาวะจิตใจของผู้ฝึกเองว่า การฝึกนี้ไม่สามารถสำเร็จได้ในเวลาอันสั้น ต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่กดดัน ใจเย็น และสร้างบรรยากาศไม่ให้เคร่งเครียด
ขั้นตอนที่ 2 ต้องสื่อให้เด็กรู้ว่าคืออะไร ส่วนใหญ่เด็กไทยใช้คำว่า “อึ” แทน อุจจาระ และ “ฉี่” แทน ปัสสาวะ นอกจากนั้นควรให้เด็กรู้ว่าการปวดมวนท้องแบบใดคือปวดอึหรือปวดฉี่
ขั้นตอนที่ 3 เลือกกระโถนที่เด็กสามารถนั่งได้มั่นคง ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ถ้าจะใช้ชักโครกของผู้ใหญ่ควรมีที่ครอบโถชักโครกให้เหมาะกับเด็กและควรหาบันได หรือที่วางเท้าให้เด็กวางได้เต็มฝ่าเท้าเพื่อจะได้เบ่งถ่ายง่ายขึ้นและไม่ต้องกลัวตกลงมา
ขั้นตอนที่ 4 สอนให้เด็กใช้กระโถนหรือชักโครก โดยการให้เด็กลองนั่งดู ในต่างประเทศโดยเฉพาะทางตะวันตกผู้ใหญ่และเด็กจะใช้ห้องน้ำร่วมกันเพื่อที่จะสาธิตให้เด็กดูวิธีการใช้ แต่ในประเทศไทยเนื่องจากวัฒนธรรมที่ต่างกันควรคำนึงถึงความเหมาะสมด้วยการให้เด็กลองนั่งก่อนเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับกระโถน นั่งไปโดยที่ไม่ถอดกางเกงหรือผ้าอ้อมแต่หากเด็กร่วมมือดีก็สามารถถอดขณะนั่งตั้งแต่ต้นได้
ขั้นตอนที่ 5 หลังจาก 1-2 สัปดาห์ที่เด็กเริ่มนั่งโดยใส่เสื้อผ้าอยู่ด้วย ลองถอดกางเกงหรือผ้าอ้อมแล้วชวนเด็กไปนั่งกระโถนโดยไม่บังคับ ให้เด็กนั่งในระยะเวลาชั่วครู่และไม่คาดหวังว่าเด็กต้องถ่าย
ขั้นตอนที่ 6 เมื่อเด็กคุ้นเคย ต้องให้รู้ว่ากระโถนมีไว้ใส่อุจจาระหรือปัสสาวะ ดังนั้นหากเด็กอุจจาระในผ้าอ้อมสำเร็จรูป ให้ถอดผ้าอ้อมที่เปียกเปื้อนออกก่อนแล้วใช้ผ้าอ้อมที่เปื้อนรองไว้ที่กระโถน
ขั้นตอนที่ 7 ในหนึ่งวันให้เริ่มถอดกางเกงหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปของเด็กช่วงสั้นๆ และวางกระโถนไว้ใกล้ๆ เพื่อให้เด็กใช้ได้ตามต้องการ บางครั้งก็อาจพาเด็กไปนั่งเป็นเวลา เช่น หลังตื่นนอน หรือหลังอาหาร เป็นต้น แต่ต้องให้เด็กเต็มใจด้วย ไม่บังคับ
ขั้นตอนที่ 8 เมื่อเด็กคุ้นเคยดี ถอดผ้าอ้อมสำเร็จรูปและให้เด็กใส่กางเกงในธรรมดาพร้อมกับการสอนเรื่องการทำความสะอาด เช่น การเช็ดก้นให้ใช้กระดาษชำระป้ายจากข้างหน้าไปด้านหลังเพื่อมิให้อุจจาระมาเปื้อนด้านหน้า โดยเฉพาะในเด็กหญิงมีช่องเปิดทางเดินปัสสาวะและช่องคลอดอยู่ใกล้กันมากจะติดเชื้อง่าย หลังจากใช้กระโถนและเช็ดชำระล้างก้นแล้วสอนให้เด็กล้างมือ
การฝึกเช่นนี้เด็กจะค่อยๆควบคุมการขับถ่ายได้ ควรให้กำลังใจ ชมเชยในทุกขั้นตอนหากเด็กทำได้ ผู้ฝึกต้องอดทนและไม่ควรตำหนิเมื่อเด็กทำเปื้อนหรือสกปรก
ขั้นตอนที่ 9 พยายามอย่าให้เด็กท้องผูก ขับถ่ายให้เป็นเวลา ให้เด็กได้ทานอาหารที่มีกากใยให้เพียงพอ ไม่ดื่มนมในปริมาณที่มากเกินไป (โดยทั่วไปเด็กอายุประมาณ 1-2 ปี ไม่ควรเกิน 32 ออนซ์ต่อวัน) เนื่องจากนมมีปริมาณไขมันมากทำให้การเคลื่อนตัวของลำไส้ช้าลง และจะทำให้การฝึกขับถ่ายยากขึ้นเพราะถ้าท้องผูกเด็กจะกลัวเจ็บและไม่อยากถ่าย

ภาวะปฎิเสธการฝึกขับถ่าย

หมายถึง ภาวะที่เด็กต่อต้านหรือปฎิเสธการฝึกขับถ่ายหรือไม่ยอมนั่งกระโถน ไม่ยอมเข้าห้องน้ำ ซึ่งส่งผลถึงอารมณ์จิตใจของเด็ก และอาจก่อให้เกิดปัญหาการกลั้นอุจจาระและภาวะท้องผูกเรื้อรัง หรืออุจจาระเล็ดตามมาได้ มักมีสาเหตุจาก ภาวะท้องผูก, พื้นฐานอารมณ์ของเด็ก, ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้เลี้ยงดู ซึ่งหากเด็กมีภาวะนี้ควรปรึกษากุมารแพทย์

(ท้องผูกในเด็ก หมายถึง การถ่ายอุจจาระน้อยเพียง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และ/หรือถ่ายอุจจาระลักษณะแข็งจนมีเลือดปนในบางครั้ง หรือเจ็บปวด ถ่ายลำบาก ต้องออกแรงเบ่งมาก)

อาการท้องผูกเกิดขึ้นได้เสมอ โดยช่วงเวลาที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นง่าย ได้แก่

  • ช่วงเวลาที่เริ่มอาหารเสริม อาจมีการให้อาหารเสริมที่ไม่เหมาะสมและกากใยไม่เพียงพอ
  • ช่วงเวลาภายหลังการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ไข้หวัด หรืออุจจาระร่วงเฉียบพลัน
  • ช่วงเวลาที่เริ่มฝึกขับถ่าย ถ้าเด็กมีประสบการณ์การถ่ายที่เจ็บยิ่งทำให้เกิดการกลั้นอุจจาระ
  • ช่วงเวลาที่เริ่มเข้าโรงเรียน เด็กอาจไม่กล้าเข้าห้องน้ำที่โรงเรียน ทำให้เกิดการกลั้นอุจจาระ

ท้องผูกเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมกลั้นอุจจาระนั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบใดๆ แต่จะเกี่ยวข้องกับปัญหาของการฝึกขับถ่าย มักเริ่มพบในวัยทารกตอนปลายจนถึงอายุ 2 ปี ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา การถ่ายอุจจาระเล็ดจะเริ่มปรากฎเมื่ออายุประมาณ 3-5 ปี โดยร้อยละ 13 ของเด็กกลุ่มนี้อาจมีอาการปัสสาวะเล็ดและติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะโดยเฉพาะในเด็กหญิงร่วมด้วย เพราะลำไส้บริเวณช่องทวารหนักขยายใหญ่ไปกดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะมีความจุลดลง นอกจากนี้ในบางรายท้องผูกทำให้มีอาการปวดท้อง เบื่ออาหารซึ่งส่งผลถึงการกินอาหารของเด็กต่อไปได้…

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-27340000 ต่อ 3310, 3312, 3319

  • Readers Rating
  • Rated 4.5 stars
    4.5 / 5 (4 )
  • Your Rating