ฟันหลุดหายไป ใส่ฟันทดแทนแบบไหนดี - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

ฟันหลุดหายไป ใส่ฟันทดแทนแบบไหนดี

Share:

การสูญเสียฟันในช่องปากมีผลเสียต่างๆ ตามมามากมาย เช่น ในฟันหน้า จะทำให้สูญเสียความสวยงาม หมดความมั่นใจ จนอาจส่งผลต่อการทำงาน หรือการเข้าสังคม และในฟันหลัง แม้ไม่มีปัญหาด้านความสวยงาม แต่จะสร้างปัญหาต่อระบบบดเคี้ยว ทำให้การเคี้ยวอาหารไม่มีประสิทธิภาพ รับประทานอาหารได้น้อยลง ทำให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นน้อยลง

นอกจากนี้การสูญเสียฟันซี่ใดซี่หนึ่งไปนานๆ และมีช่องว่าง จะทำให้เกิดการเคลื่อนตัว ฟันมีการล้มเอียง ซ้อนเก หรือยื่นยาว จะทำให้มีเศษอาหารอัดติดแน่น ทำความสะอาดยาก เกิดการสะสมเชื้อโรค ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการละลายของกระดูกรองรับรากฟัน และเกิดฟันโยกตามมาในที่สุด เป็นผลให้เกิดการสูญเสียฟันซี่อื่นตามมาได้อย่างต่อเนื่อง

การใส่ฟันปลอมทดแทนฟันที่สูญเสียไป โดยเร็วทันทีที่สภาพช่องปากพร้อมจึงเป็นเรื่องที่ควรทำ ฟันปลอมแต่ละประเภทใช้เวลาในการรอสภาพช่องปากพร้อมหลังถอนฟันแตกต่างกันไป ผู้ป่วยและทันตแพทย์อาจร่วมกันพิจารณาเลือกฟันปลอมแต่ละชนิด ที่เหมาะสมตามสภาพช่องปากและความชอบของผู้ป่วย ซึ่งฟันปลอมมีหลายชนิดมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ได้แก่

1.ฟันปลอมชนิดถอดได้

จะเป็นฟันปลอมชิ้นใหญ่มีฐานฟันปลอมและมีตะขอช่วยในการยึดเกาะ ของฟันปลอม

ข้อดีคือ ผู้ป่วยสามารถถอดฟันปลอมทำความสะอาดได้ง่าย ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่ ค่อนข้างเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่สูญเสียอวัยวะปริทันต์ทั่วไปในช่องปาก เป็นฟันปลอมที่มีคุณภาพดีราคาย่อมเยากว่าฟันปลอมชนิดติดแน่น

แต่มีข้อเสียคือ ผู้ป่วยจะรู้สึกเป็นสิ่งแปลกปลอมและรำคาญ รับได้ยาก ต้องใช้เวลานานจึงจะเกิดความเคยชิน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพช่องปาก เช่น มีการฝ่อลีบลงของสันเหงือก เมื่อเวลาผ่านไปฟันปลอมจะหลวม และมีจุดกดเจ็บบนเนื้อเยื่ออ่อนของสันเหงือกได้ หากสุขอนามัยไม่ดี ไม่ถอดฟันปลอมล้างทำความสะอาดอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดการติดเชื้อรา โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีภูมิต้านทานต่ำ สำหรับประสิทธิภาพของการบดเคี้ยวจะน้อยกว่าฟันปลอมชนิดติดแน่น โดยทั่วไปจะมีประสิทธิภาพการบดเคี้ยวประมาณ 30% ของฟันธรรมชาติ

2. ฟันปลอมชนิดติดแน่น

2.1 สะพานฟัน เป็นฟันปลอมชนิดติดแน่นที่อาศัยหลักยึดจากฟันธรรมชาติข้างเคียงต่อจากช่องว่างของฟันที่ถูกถอนออกไป โดยการกรอฟันธรรมชาติที่ใช้เป็นหลักยึดนั้นให้เล็กลง แล้วทำครอบฟันยึดกับตัวฟันปลอม ลักษณะเป็นเหมือนสะพาน ความยาวของสะพานฟันขึ้นอยู่กับจำนวนฟันที่สูญเสียไป
ข้อดีคือ ผู้ใส่ไม่รำคาญ ประสิทธิภาพการบดเคี้ยวดี

ข้อเสียคือ ต้องมีการกรอเนื้อฟันของฟันหลักยึด ทำความสะอาดยากกว่าฟันธรรมชาติ ต้องมีอุปกรณ์พิเศษในการช่วยทำความสะอาด และในระยะยาวโอกาสเกิดความล้มเหลวอาจเพิ่มขึ้นตามความยาวของสะพานฟัน ยิ่งสะพานฟันยาวยิ่งมีโอกาสเกิดความล้มเหลวของชิ้นงานได้มากขึ้น เช่น ฟันผุใต้ครอบฟัน มีจุดกัดที่กระแทกสูงกว่าจุดอื่นเป็นระยะเวลานาน การอักเสบของอวัยวะปริทันต์ เพราะใต้สะพานฟันทำความสะอาดได้ยาก เกิดการบิ่นกระเทาะแตกของส่วนวัสดุสีเหมือนฟันที่เคลือบโครงโลหะของสะพานฟัน เป็นต้น

การใส่สะพานฟันเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีฟันหายไปไม่กี่ซี่ และมีข้อจำกัดในการผ่าตัดหรือมีเวลาจำกัด แต่ไม่เหมาะกับผู้ที่ช่องว่างไม่มีฟันข้างเคียงเป็นหลักยึดด้านใดด้านหนึ่ง การทำสะพานฟันที่ไม่มีหลักยึดทั้ง 2 ด้าน อาจก่อให้เกิดลักษณะการรับแรงแบบคานงัด เกิดความไม่สมดุลขึ้นได้ รวมถึงไม่เหมาะในผู้ป่วยที่มีสภาวะปริทันต์ไม่แข็งแรง มีฟันหลักยึดที่มีร่องเหงือกลึก เพราะการใส่สะพานฟัน ทำให้การทำความสะอาดฟันยากขึ้น จะเป็นการเร่งโรคปริทันต์ให้รุนแรงขึ้น

2.2 รากฟันเทียม

เป็นการนำโลหะไทเทเนียมอัลลอย มาสร้างรูปร่างเลียนแบบให้เหมือนรากฟัน ฝังเข้าไปในกระดูกขากรรไกร แล้วต่อแกนขึ้นจากรากเทียมนั้น และสร้างครอบฟันเหมือนรูปร่างฟันธรรมชาติขึ้นบนแกนดังกล่าว
ข้อดีคือ เป็นฟันปลอมที่เลียนแบบฟันธรรมชาติมากที่สุด ประสิทธิภาพการบดเคี้ยวดีมาก สามารถกัดหรือบดเคี้ยวอาหารได้คล้ายฟันธรรมชาติ ทำความสะอาดง่าย และมีความคงทน แต่ในรายที่มีกระดูกรองรับรากฟันเทียมน้อย ต้องมีการประเมินสภาพกระดูกและปลูกกระดูกเพิ่มร่วมด้วย การฝังรากฟันเทียมเป็นรูปแบบของการผ่าตัดแผลเล็กที่มีขนาดเล็กกว่าแผลถอนฟัน และมีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดน้อย ผลสำเร็จสูงมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ โดยขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของกระดูกขากรรไกร กระบวนการทำให้ปลอดเชื้อ และความชำนาญของทันตแพทย์

ในอดีตการใส่รากฟันเทียม มีข้อจำกัดคือค่าใช้จ่ายสูง และใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน แต่ปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าทางทันตกรรม นอกจากค่าใช้จ่ายจะถูกลงแล้ว ยังได้พัฒนารากฟันเทียมให้มีขนาดเล็กลงมาก และมีประสิทธิภาพการยึดเกาะระหว่างรากฟันเทียมกับกระดูกขากรรไกรแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งอาการปวดหลังจากทำการรักษาก็ลดลงด้วย และใช้เวลาน้อยลงกว่าในอดีตมาก จากเดิมโดยทั่วไปทันตแพทย์จะรอหลังจากฝังรากฟันเทียมไว้ประมาณ 4 – 6 เดือน จึงใส่ฟันให้ผู้ป่วย แต่ปัจจุบันใช้เวลาประมาณ 6 – 8 สัปดาห์ และถ้ากระดูกของผู้ป่วยมีความแข็งแรงดี ทันตแพทย์ก็สามารถใส่รากฟันเทียมและใส่ฟันให้กับผู้ป่วยในวันเดียวกันได้

การใส่รากฟันเทียมทดแทนฟันแท้ เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้ที่ต้องสูญเสียฟันอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระบบการบดเคี้ยวอาหารดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารแข็งหรือเหนียวก็มีความสุขกับการรับประทานได้เสมือนฟันธรรมชาติ อีกทั้งปัจจุบันการใส่รากฟันเทียมไม่ได้มีราคาสูงมากเหมือนในอดีต และไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ทำให้ผู้ที่สูญเสียฟันมีโอกาสได้รับการใส่รากฟันเทียมเพิ่มมากขึ้น


สอบถามเพิ่มเติมที่ ศูนย์ทันตกรรมเดนทัลลิส
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 3000, 3001, 2802

  • Readers Rating
  • Rated 4.3 stars
    4.3 / 5 (2 )
  • Your Rating