ลูกวัยปฎิเสธ - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

ลูกวัยปฎิเสธ

Share:

ทำไมเด็กๆ มีพฤติกรรมปฏิเสธและอาการเหล่านี้บ่งบอกอะไร

เมื่อลูกๆเข้าสู่วัยเตาะแตะ 1-3 ปี พัฒนาการต่างๆทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจก็เริ่มพัฒนามากขึ้น เช่น เดินได้เอง พูดได้มากขึ้น เป็นตัวของตัวเอง และเริ่มต้องการทดสอบอำนาจที่มีเหนือพ่อแม่ จึงไม่อยากให้พ่อแม่ทำให้ทั้งหมด แต่ด้วยความสามารถของเด็กวัยนี้ยังต้องพึ่งพ่อแม่อยู่ บางครั้งลูกเลยเกิดความขัดแย้งในใจ เวลาที่พ่อแม่บอกให้ทำอะไร ก็จะเกิดการต่อต้านขึ้น อยากจะเลือกเอง ทำให้พ่อแม่ไม่สามารถควบคุมลูกได้เหมือนเดิม คำที่ติดปากลูกส่วนใหญ่ก็คือ “ไม่ ไม่ ไม่” คำนี้แหละค่ะ ที่ทำให้พ่อแม่ต้องหงุดหงิด อารมณ์เสีย จนกลายเป็นความไม่เข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย

คำแนะนำ

วิธีที่ดีสำหรับการรับมือ คือ พ่อแม่ต้องยอมรับและเข้าใจก่อนว่านี่เป็นกระบวนการพัฒนาที่เกิดกับเด็กทุกคน ไม่ใช่ว่าเขาแกล้งไม่เชื่อฟัง จริงๆแล้วการที่เด็กเริ่มเป็นตัวของตัวเองแสดงว่าเขากำลังเรียนรู้ที่จะพึ่งคนอื่นน้อยลง ดังนั้นการยอมรับแบบนี้เพื่อที่ว่า แทนที่พ่อแม่จะไปอารมณ์เสียกับลูกหรือไปควบคุมลูกทุกอย่าง ซึ่งอาจจะยิ่งทำให้เขาร้องไห้ โวยวาย กลายเป็นเด็กอารมณ์ร้าย เปลี่ยนมาเป็นการทำตัวเป็นแบบอย่าง ให้เขาค่อยๆ เรียนรู้การควบคุมตนเองและ รู้จักจัดการอารมณ์ของตนเอง

จะลดลงหรือไม่ ?

การลดพฤติกรรมต่อต้าน คือ การที่พ่อแม่ช่วยให้ลูกมีวินัยและควบคุมตนเองได้มากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความสม่ำเสมอ หนักแน่น และจริงจังอย่างพอดี โดยการบอกอย่างชัดเจนว่าต้องการให้ลูกทำอะไร เมื่อไร ขั้นแรก ส่งคำเตือนไปก่อน เช่น อีก 15 นาทีลูกต้องหยุดเล่นและไปอาบน้ำ เพราะในขณะที่ลูกกำลังเล่นหรือทำอะไรสนุกๆ การที่พ่อแม่ไปให้เขาทำอย่างอื่นเลยโดยที่ยังไม่ทันตั้งตัว ลูกก็ต้องไม่พอใจ โวยวายปฏิเสธแน่นอน ขั้นที่ 2 เมื่อถึงเวลาที่ต้องหยุดเล่นจริงๆ ก็บอกลูกว่า ได้เวลาไปอาบน้ำแล้ว ขั้นตอนนี้ลูกอาจจะยังโวยวาย พ่อแม่ต้องอดทนค่ะ ย้ำกับลุกด้วยท่าทีสงบ และไม่ต้องบ่น ขั้นที่ 3 ถ้าลุกยังไม่ยอมไป ให้พ่อแม่เอาจริงโดยเข้าหาลูก พาลูกไปอาบน้ำแต่ไม่ต้องรุนแรง คือ อย่าไปลากหรือดึง อาจใช้วิธีโน้มน้าว เช่น พี่ๆก็อาบน้ำกันทั้งนั้น เพราะเด็กบางคนชอบเลียนแบบพี่ๆ หรือ อาจจะโน้มน้าวผ่านการเล่นเกมสนุกๆ เช่น ชวนเป็ดน้อยไปอาบน้ำกันเถอะ ดูสิใครจะไปได้ก่อนกัน อย่างไรก็ตาม พื้นฐาน คือ พ่อแม่ต้องมีการแสดงออกถึงความรักที่มีต่อลูกด้วย มองเห็นและชมพฤติกรรมที่ดีด้วย การลดพฤติกรรมต่อต้านก็จะง่ายขึ้นมากค่ะ

ถ้าสรุปออกมาเป็นหัวข้อง่ายๆ มีดังนี้

  • ทางที่ดี ถ้าเป็นไปได้ ควรหาวิธีป้องกัน เช่น ถ้ารู้ว่าเล่นแก้วแน่ๆ เราก็เลี่ยงไม่ให้เห็น หรือใช้แก้วที่ไม่แตก เป็นต้น
  • สร้างอารมณ์ขันถ้ารู้ว่าอีกซักพักลูกจะหงุดหงิดแล้ว หรือทำเป็นเล่นเกม เช่น ต้องการให้ลูกเก็บของ ก็หลอกล่อด้วยการเล่นเสียงว่า “อุ๊ยเรามาเอาเจ้านี้ เข้ามาซุกในคุณตะกร้าดีกว่า”
  • ให้ตัวเลือก ดีกว่า ถามว่า เอา ไม่เอา หรือ ใช่ ไม่ใช่
  • มีขอบเขต เพราะบางครั้งเราต้องควบคุมลูกเพื่อความปลอดภัย เช่น เวลาไปเดินห้าง เรา
  • ต้องหนักแน่น ใจแข็ง เช่น ลูกงอแง ไม่ใส่รองเท้า เราก็บอกว่า โอเค งั้นอดไป เป็นต้น
    ให้เวลาลูกได้เตรียมตัว ดังตัวอย่างข้างบน
  • อดทน อดทน และ อดทน ค่ะ เด็กเรียนรู้ว่า เวลาเราโมโห ต้องคุมอารมณ์หรือให้มีการระบายออกอย่างสร้างสรรค์ ค่ะ

การตี ช่วยหรือไม่ ?

ในยุคนี้ หมอแนะนำว่าให้พ่อแม่หลีกเลี่ยงการลงโทษด้วยการตี ค่ะ เพราะในความรู้สึกของเด็ก การตี คือ การที่พ่อแม่สื่อให้เขารู้ว่า “ความรุนแรงเป็นวิธีการจัดการสิ่งต่างๆ” เขาอาจจะหยุดพฤติกรรมทันทีก็จริง แต่หยุดเพราะไม่อยากถูกตี ไม่ใช่การควบคุมตนเองจริงๆ และส่วนใหญ่เมื่อถึงจุดที่พ่อแม่ต้องตี ก็มักตีด้วยอารมณ์ ทำให้ลูกมีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กก้าวร้าว อารมณ์ร้าย และโตขึ้นเขาก็จะระบายอารมณ์ด้วยการทำร้ายผู้อื่นเช่นกัน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-27340000 ต่อ 3310, 3312, 3319

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating