วิธีใช้ยารับมือโรคที่มากับน้ำท่วม - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

วิธีใช้ยารับมือโรคที่มากับน้ำท่วม

Share:

จากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งรุนแรงในประเทศไทย นอกจากจะสร้างความเสียหายมหาศาลแก่ทรัพย์สินแล้ว ในด้านสุขภาพก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่ากัน โดยโรคที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด เช่น ไข้หวัด ตาแดง น้ำกัดเท้า โรคท้องร่วง โรคไข้เลือดออก และโรคฉี่หนู เป็นต้น ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำการใช้ยาที่จำเป็นอย่างถูกวิธีดังนี้

ยาลดไข้บรรเทาปวด เช่น Paracetamol ผู้ใหญ่รับประทานยาเม็ดขนาด 500 mg ครั้งละ 1 – 2 เม็ด ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 8 เม็ด และไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 5 วัน ส่วนเด็กอาจรับประทานเป็นยาน้ำเชื่อมซึ่งมีอยู่หลายขนาด เช่น Paracetamol 120 mg/5 ml, Paracetamol 250 mg/5 ml ซึ่งจะรับประทานในปริมาณเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว และยานี้ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่เป็นโรคตับ อย่างไรก็ตามยา Paracetamol ไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการอักเสบ หากมีอาการอักเสบร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้อบวมแดง หรือมีอาการปวดมาก มีไข้สูง อาจต้องใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติบรรเทาปวด ลดการอักเสบ และลดไข้ เช่น Ibuprofen, Diclofenac, Mefenamic acid หรือ Naproxen เป็นต้น ซึ่งยาในกลุ่มนี้มีข้อควรระวังที่สำคัญคือ ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ควรรับประทานหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำตามมากๆ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ที่ระคายเคืองกระเพาะน้อยลง เช่น Celebrex, Arcoxia เป็นต้น ยากลุ่มนี้ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยไข้เลือดออก
ยารักษาน้ำกัดเท้า โรคน้ำกัดเท้าระยะแรกจะยังไม่มีการติดเชื้อ ผิวหนังจะมีลักษณะลอกแดง คัน อาจใช้ยาทาสเตียรอยด์ทาบรรเทาอาการได้ และต้องพยายามรักษาความสะอาด ดูแลไม่ให้อับชื้น เพราะยาทาสเตียรอยด์อาจทำให้ติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น อาจทาวาสลีนบริเวณง่ามเท้า เพื่อลดโอกาสที่น้ำจะซึมผ่านผิวหนังและทำให้เกิดความชื้นหรือผิวหนังเปื่อยได้ง่าย ในรายที่จำเป็นต้องย่ำน้ำหรือสัมผัสพื้นที่แฉะตลอดเวลา จะทำให้เกิดความชื้นสะสมและเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อราตามมา ต้องใช้ยาทาฆ่าเชื้อรา ซึ่งต้องใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 – 4 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อราให้หมดไป และหากเกิดการติดเชื้อลุกลามไปที่เล็บอาจต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อราร่วมด้วย อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ซื้อยามาทานเองเนื่องจากยาฆ่าเชื้อราอาจมีผลข้างเคียงต่อตับได้

ยาแก้แพ้ ใช้แก้แพ้ แก้คัน ลดน้ำมูก เช่น chlorpheniramine, Hydroxyzine รับประทานวันละ 3 – 4 ครั้ง เมื่อมีอาการ ข้อควรระวังคือยานี้ทำให้รู้สึกง่วงซึม ส่วนยาแก้แพ้ที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึมน้อยลง เช่น Cetirizine, Loratadine โดยทั่วไปรับประทานวันละ 1 ครั้ง และหากเป็นผื่นแพ้ คัน อาจใช้คาลาไมน์ทาบรรเทาอาการคันได้

ยาแก้ท้องเสีย หากมีอาการถ่ายเหลวบ่อยๆ ควรใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) ละลายน้ำจิบบ่อยๆ แทนน้ำเปล่า กรณีที่ไม่สามารถหาผง ORS ได้ อาจเตรียมเองโดยใช้น้ำตาลทราย 8 ช้อนชา และเกลือป่น 1 ช้อนชา ผสมกับน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ลิตร ส่วนยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ มีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยท้องเสียเพียงบางรายเท่านั้น เช่นผู้ป่วยที่มีไข้สูงร่วมกับอาการหนาวสั่น อุจจาระเป็นมูกหรือมีเลือดปน มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยเหล่านี้ควรพบแพทย์โดยด่วนมากกว่าการรักษาเองที่บ้าน

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ จำเป็นต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ควรตรวจสอบว่ายาที่มีอยู่เพียงพอต่อการใช้ในช่วงน้ำท่วมหรือไม่ หากไม่เพียงพอควรมาพบแพทย์เพื่อรับยาเพิ่มเติม อย่าให้ผู้ป่วยขาดการรับประทานยาโดยเด็ดขาดเพราะอาจทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงได้

สงสัยเรื่องการใช้ยาปรึกษาเภสัชกรโดยตรงที่
ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารด้านยา รพ.เวชธานี
โทร 0-2734-0000 ต่อ 1220 ทุกวัน 09.00 – 17.00 น.

วิธีใช้ยารับมือโรคที่มากับน้ำท่วม

  • Readers Rating
  • Rated 4.8 stars
    4.8 / 5 (2 )
  • Your Rating




บทความที่เกี่ยวข้อง