อาการปวดหมอนรองกระดูก - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

อาการปวดหมอนรองกระดูก

Share:

หมอนรองกระดูกคืออะไร

ก่อนจะรู้จักโรคนี้ก็ต้องรู้จักหมอนรองกระดูกเสียก่อนครับ กระดูกสันหลังของ เราประกอบด้วยกระดูกหลายๆ ชิ้นมาต่อกัน ระหว่างกระดูกเหล่านี้จะมีอวัยวะชนิด หนึ่งคั่นอยู่เราเรียกว่า หมอนรองกระดูก เพราะฉะนั้นกระดูกสันหลังมีกี่อัน หมอน รองกระดูกก็มีใกล้เคียงกันครับ หมอนรองกระดูก มีชื่อตามตำราว่า Intervertebral disc ถ้าจะจำเพาะลงไป ตามตำแหน่งก็เป็นว่า หมอนรองกระดูกคอ เรียกว่า Cervical disc และหมอน รองกระดูกที่เอวเรียกว่า Lumbar disc หมอนรองกระดูกไม่ได้เป็นกระดูกครับ แต่จะประกอบด้วยส่วนใหญ่ๆ 2 ส่วนคือ วงรอบนอกจะเป็นเอ็นแข็งๆ (Anular ligament) และใจกลางจะเป็นเหมือนเจลใสๆ (Nucleus pulposus) ทั้งหมดมีหน้าที่รับแรกกระแทกและทำให้เราเคลื่อนไหว กระดูกสันหลังได้ดีขึ้นครับ แหมเริ่มต้นก็มีแต่ศัพท์แพทย์แล้ว อดทนนิดครับ อ่านไปด้วยดูภาพประกอบไปด้วย แล้วคุณจะเข้าใจโรคนี้ได้ไม่ยากครับ

ตำแหน่งของหมอนรองกระดูก

ถ้าดูจากรูปเราจะเห็นได้ว่า ด้านหลังของหมอนรองกระดูก จะเป็นที่อยู่ของไขสันหลังและด้านหลังออกมาด้านข้างเล็กน้อย ก็จะเป็นทางออกของเส้นประสาทที่จะมาเลี้ยงแขน (ถ้าเป็นตำแหน่งของคอ) และเลี้ยงขา (ถ้าเป็นตำแหน่งของเอว) โดยภาวะปกติกระดูกหลังมักไม่ยื่น ไปกดไขสันหลังหรือเส้นประสาทยกเว้นกรณีอุบัติเหตุให้กระดูกสันหลังหัก หรือในภาวะที่กระดูกสันหลังเสื่อมมากๆจนผิดรูปไปกดเอาไขสันหลังหรือ เส้นประสาทได้หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้อย่างไร

จากภาพเราจะเห็นได้ว่า หมอนรองกระดูกสันหลังกับเส้นประสาท อยู่ไม่ห่างกันเลย เมื่อไรก็ตามที่หมอนรองกระดูกยื่นออกมา ทางด้านหลังเยื้องไปด้านข้างสักนิด ก็จะไปกดทับเส้นประสาทได้ ยิ่งถ้าได้มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลัง ยิ่งทำให้หมอนรองกระดูก ยื่นออกมามากขึ้น สาเหตุที่ทำให้แกนภายในของหมอนรองกระดูก ยื่นออกมาทับเส้นประสาทเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การที่ร่างกายมีขอบของหมอนรองกระดูกไม่เท่ากันมาแต่กำเนิด หรือจากอุบัติเหตุ เช่น การล้มก้นกระแทกพื้น หรือการที่เราอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานมากจนเกิดการอักเสบ มีการหดเกร็งจนแรงไปกระทำให้ หมอนรองกระดูกยื่นออกมามากจนกดทับเส้นประสาท

อาการ

อาการปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง เป็นอาการเด่นของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ปวดมากหรือปวดน้อยขึ้นอยู่ว่ากดมากหรือน้อยเป็นสำคัญ ถ้าทิ้งไว้นาน เส้นประสาทจะทำงานได้น้อยลง อาการชาและอ่อนแรงของขาซีกนั้นจะเริ่มเด่นชัดขั้น อาการทั้งหมดจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น คนที่เป็นจะคุ้นเคยกับอาการและบอกรายละเอียดของอาการได้เป็นอย่างดี

การรักษา

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการกดทับเส้นประสาท จากรูปจะเห็นว่า มีการแบ่งลักษณะของหมอนรองกระดูกออกเป็นระยะๆ ทั้งนี้เนื่องจากการรักษาในแต่ละระยะแตกต่างกัน 

  • ในระยะ Protusion ผนังของหมอนรองกระดูกจะยังไม่เสีย ความยืดหยุ่นไปมากนัก การรักษาด้วยยา กายภาพบำบัด ตลอดจนการรู้จักวิธี เสริมสร้างกล้ามเนื้อหลังเพื่อป้องกันไม่ให้มีการอักเสบ จะสามารถช่วยให้อาการของโรคไม่กำเริบและหายได้ในที่สุด
  • ในระยะ Prolapse ในระยะนี้ผนังของหมอนรองกระดูกเริ่มเสียความยืดหยุ่นไปแล้ว
    แต่ยังไม่ถึงกับแตกจนส่วนแกนในไหลออกมา การรักษาโดยการผ่าตัดน่าจะได้ผลดีที่สุด
  • ระยะ Extrusion ผ่าตัดแน่นอนครับ
  • ระยะ Sequestration ระยะนี้ก็ต้องผ่าตัดเหมือนกันครับ

จะเห็นได้ว่า ทั้งสี่ระยะโอกาสที่จะไม่ต้องผ่าตัดมีเพียงระยะแรกเท่านั้น การผ่าตัดกระดูกสันหลังเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่พึงปรารถนา แม้ว่า ปัจจุบันอันตรายจะน้อยลงกว่าสมัยก่อนมากมายก็ตาม การป้องกัน ไม่ให้โรคเลื่อนจากระยะแรกจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่สุด ทำได้ดังนี้ครับ

  • พบแพทย์ทันทีที่มีอาการปวดหลังแล้วร้าวลงขา
  • ให้ความสำคัญกับการปวดหลังทุกครั้ง อย่าลืมว่าคนปกติไม่ปวดหลังนะครับ
  • หาสาเหตุทุกครั้งที่มีอาการปวดหลัง หาเองไม่พบก็ไปพบแพทย์
  • พึงระลึกไว้เสมอว่า การทานยารักษาอาการปวดหลังเป็นการรักษาปลายเหตุ

การรักษาคือต้องแก้ที่สาเหตุ และสาเหตุของอาการปวดหลังที่พบบ่อยที่สุดคือ การอยู่ในท่าต่างๆ ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ  Warm ร่างกายก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง ทำ Stretching Exercise ของกล้ามเนื้อหลังทุกครั้งก่อนออกรอบ  การนวดจะดีสำหรับอาการเมื่อยและไม่ดีสำหรับอาการปวด ถ้าท่านไม่แน่ใจว่าที่เป็นอยู่เป็นอาการปวดหรือเมื่อย
ก็ไม่ควรไปนวด เพราะจะทำให้อาการแย่ลงในกรณีที่ไปเจอหมอนวดประเภทมือใหม่ไฟแรง

บรรยายในภาพ
Normal Spinal Segment = ภาพโครงสร้างกระดูกสันหลัง (บริเวณหลังและเอว)
Intervertebral Disc = หมอนรองกระดูกสันหลัง
Vertebra = กระดูกสันหลัง
Nerve root = เส้นประสาท
Spinal Cord = ไขสันหลัง

ภาพถ่ายการตรวจกระดูกสันหลังด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
(Magnetic Imaging Resonance หรือ MRI) แสดงให้เห็นหมอนรองกระดูกขนาดใหญ่แตกและเข้ามาเบียดเส้นประสาท ในช่องของไขสันหลัง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5500

  • Readers Rating
  • Rated 4.9 stars
    4.9 / 5 (4 )
  • Your Rating