“เด็กซีพี” แตกต่างด้านความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว เดินเขย่ง เกร็ง ขาบิดผิดรูป - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

“เด็กซีพี” แตกต่างด้านความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว เดินเขย่ง เกร็ง ขาบิดผิดรูป

Share:

เด็กซีพี หรือ Cerebral Palsy Children เป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว ทำให้แขนขาอาจจะบิดเกร็งผิดรูป ทรงตัวได้ไม่ดี เป็นโรคที่พบได้บ่อยทุกเชื้อชาติ แม้จะมีความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์เท่าใดก็ตาม เนื่องจากสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ การป้องกันจึงทําได้ยาก

ศัลยแพทย์กระดูกและข้อสำหรับเด็ก เปิดเผยว่า เด็กกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดซีพี เช่น ทารกคลอดก่อนกําหนด น้ำหนักตัวน้อย ภาวะคลอดยากต่างๆ หรือโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดระหว่างตั้งครรภ์ หรือหลังคลอดในวัยทารก โดยภาวะดังกล่าวเหล่านี้ มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงที่ทําให้เนื้อสมองของเด็กได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะถ้าเป็นสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวได้รับความเสียหาย ย่อมส่งผลให้เด็กคนนั้นๆ เจริญเติบโตขึ้นโดยมีความบกพร่องทางด้านการเคลื่อนไหว ความบกพร่องอาจจะเล็กน้อย หรือมากจนทําให้เด็กไม่สามารถเดิน ยืน หรือแม้แต่นั่งได้ ขึ้นอยู่กับเนื้อสมองว่าได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด

คลอดก่อนกําหนด เพิ่มโอกาสทําให้เกิดซีพี

ภาวะคลอดก่อนกําหนด ยังคงเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ยาก เนื่องจากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งสาเหตุที่มาจากแม่หรือเด็ก จึงยากที่จะคาดเดา ปัญหาคือเด็กที่ยังเจริญเติบโตในครรภ์มารดาไม่เต็มที่ แต่ตัองคลอดออกมาก่อน นอกจากจะตัวเล็กและน้ำหนักตัวน้อยแล้ว โครงสร้างภายในยังทํางานไม่สมบูรณ์เพียงพอ ส่วนหนึ่งคือสมองและหลอดเลือดในสมอง มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงความดัน หรือระบบการทํางานในร่างกายที่ไม่สมดุล อาจทําให้เกิดสมองขาดเลือด หรือเส้นเลือดในสมองฉีกขาดได้ ส่งผลให้สมองได้รับความเสียหาย เพราะฉะนั้น โอกาสที่เด็กคลอดก่อนกําหนดและมีน้ำหนักตัวน้อย จึงมีโอกาสเกิดซีพีสูงมากกว่าเด็กคลอดตามกําหนดหลายสิบเท่า และถ้าเกิดซีพีก็มักเป็นซีพีชนิดเกร็ง โดยถือว่าเป็นชนิดที่สมองส่วนอื่นมักเป็นปกติ แต่มีปัญหาเฉพาะการเคลื่อนไหว การทรงตัวเท่านั้น ซึ่งสามารถฟื้นฟูให้ดีขึ้นได้มาก

สังเกตอย่างไรว่าลูกเป็นซีพี

ในวัยเด็กแรกเกิด สังเกตุได้ยากว่า เด็กคนไหนจะเป็นซีพีหรือไม่ ต้องอาศัยเวลา การสังเกตุพัฒนาการ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กบ้าง เพื่อดูว่าแต่ละเดือนเด็กมีความสามารถอะไรเพิ่มเติมมาบ้าง เด็กซีพีมักมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวช้ากว่าเด็กปกติ เช่น 3-4 เดือนคอยังไม่แข็ง คอพับคออ่อน ในเด็กซีพีที่เป็นมาก อาจสังเกตได้ไว อย่างไรก็ตามเด็กซีพีที่เป็นไม่มาก หมายความว่าเนื้อสมองเสียหายเล็กน้อย พัฒนาการจะดูเป็นปกติเหมือนเด็กทั่วไปได้เช่นกัน กว่าจะสังเกตุเห็นก็อาจต้องรออายุมากกว่า 1 ปี เพราะเป็นเวลาที่เด็กจะต้องหัดเดิน เด็กซีพีที่เป็นน้อย มักเดินเขย่ง หรือเดินได้ช้า และยิ่งโตจะเดินได้แข็งแรงไวขึ้น แต่กลับเห็นว่าเขย่งมากขึ้นเช่นกัน เป็นวิธีง่ายๆ ในการสังเกต แต่ถ้าสังเกตแล้วไม่แน่ใจ ก็ควรนําเด็กไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ภาพเด็กซีพี อายุ 7 ปี

(a) ไม่สามารถยืนเดินได้ เวลายืนขาจะหนีบไขว้ เท้าเขย่งบิด ต้องมีคนคอยจับไว้

(b) 3 เดือน ภายหลังการเข้ารับโปรแกรมการฟื้นฟู เด็กสามารถเดินได้โดยใช้เครื่องช่วยเดิน

ทําไมแขนขาเกร็งหงิกผิดรูปมากขึ้น และการทรงตัวไม่ดี

ส่วนขามักจะเป็นจุดที่สังเกตุได้ชัดเจน เด็กซีพียิ่งโตขายิ่งเกร็งมากขึ้น เดินเขย่ง และเท้าบิด อาจบิดในหรือบิดออกนอกก็ได้ เข่าหมุนบิดเข้าใน สะโพกหนีบเกร็ง ก้นยื่น หลังแอ่น ตัวเอียงไปด้านหน้า เวลาเดินจะก้าวสั้นๆ ล้มง่าย เด็กบางคนสังเกตพบว่ามือจะกาง ข้อศอกงอ ข้อมืองอ นื้วมืองอเกร็ง ซึ่งการเกร็งผิดรูปนี้ จะยิ่งชัดเจนมากเมื่อเด็กตื่นเต้น ตกใจ ดีใจ โกรธ หรือตั้งใจมาก เนื่องจากตัวปล่อยสัญญานเกร็งนี้ ส่งมาจากเนื้อสมองที่เป็นแผลเป็น ทําให้ภาวะจิตใจ อารมณ์ สามารถกระตุ้นเนื้อสมองส่วนนี้ให้ปล่อยสัญญานมาที่แขนขาได้ โดยที่เด็กไม่สามารถกดสัญญานประสาทนี้ได้ดีเหมือนเด็กปกติทั่วไป จะเห็นว่าสมดุลการเคลื่อนไหวแขนขาของเด็กซีพีนั้นผิดปกติ โดยที่เด็กไม่สามารถควบคุมได้ บางรายเป็นมาก บางรายเป็นน้อย โดยแสดงผลออกมาเป็นความสามารถในการเคลื่อนไหว ซึ่งความสามารถในการเคลื่อนไหวแขนขานี้ ปกติในเด็กทั่วไป จะค่อยๆเก่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีแรกของชีวิต 80-90% ของความสามารถในการควบคุมแขนขาจากสมองจะพัฒนาในช่วงวัยนี้ และในช่วงอายุ 3-6 ปี จะเก่งขึ้นได้อีก 10-20% ดังนั้น สมองควบคุมแขนขาได้เต็มที่ในวัยประมาณ 6-7 ปี

ในเด็กซีพีก็เป็นเช่นกัน ความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกาย การควบคุมแขนขาก็เป็นเหมือนเด็กทั่วไป แต่จะช้าและถึงจุดอิ่มตัวเร็วกว่า เมื่อเด็กเจริญเติบโตขึ้น ภาวะหงิกเกร็งมักแรงมากขึ้นด้วย แรงดึงที่ไม่สมดุลนี้ จะส่งผลให้กระดูก กล้ามเนื้อเจริญเติบโตผิดปกติในอนาคต ดังนั้น ในเด็กซีพี ยิ่งโตความผิดรูปของแขนขายิ่งเห็นได้ชัดมากขึ้น และแข็งมากขึ้น

แล้วลูกจะเดินได้ไหม

คําถามที่ถามบ่อยจากผู้ปกครอง เนื่องจากเด็กซีพีมีหลายระดับของโรค แต่ละคนจึงมีอนาคตความสามารถที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ปัจจัยแรกที่กําหนดความสามารถของเด็ก คือระดับของโรคที่เด็กเป็น อีกปัจจัยที่มีความสําคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัยแรก คือการดูแลรักษาที่เหมาะสม สามารถเพิ่มความสามารถของเด็กได้ในระดับหนึ่ง บางคนจากเดิมที่ต้องเกาะไม้เท้าเดิน อาจเดินได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยเดิน บางคนจากเดินไม่ได้เลย อาจทําให้เด็กสามารถเดินได้โดยใช้ไม้เท้าช่วย

แบ่งระดับเด็กซีพี ตามความสามารถในการเคลื่อนไหว อย่างไร

การแบ่งเด็กซีพีตามระดับความสามารถของเด็ก ช่วยบอกอนาคต บอกแนวทางในการดูแลฟื้นฟูได้ดีและชัดเจน ปัจจุบันนิยมแบ่งเด็กซีพีชนิดที่มีอาการเกร็งของแขนและขาทั้งสองข้าง หรือ Spastic Diplegic เป็น 5 กลุ่ม ตาม GMFCS (Gross Motion Functional Classification System) เป็นการแบ่งแบบกว้างๆ ซึ่งเด็กที่ได้รับการจัดให้อยู่ในระดับใด เด็กคนนั้นจะอยู่ระดับนั้นไปตลอด โดยไม่ได้รับการฟื้นฟูรักษา การจัดกลุ่ม GMFCS สามารถจัดได้ตั้งแต่เด็กอายุปีครึ่ง ไปจนถึง 12 ปี โดยมีเงื่อนไขง่ายๆ ในการจัดกลุ่มตามช่วงอายุ ดังในภาพเป็น GMFCS ในช่วงอายุ 6-12 ปี

การแบ่งระดับของเด็กซีพี เป็น 5 กลุ่ม ตาม GMFCS

Level I เป็นระดับที่เก่งที่สุด เด็กสามารถเดินได้โดยไม่ต้องมีเครื่องช่วย สามารถขึ้นบันไดได้ โดยไม่ต้องใช้มือจับราวบันได ในขณะที่ระดับ Level II ต้องใช้มือจับราวบันได แต่ก็เดินได้เองไม่ต้องใช้เครื่องช่วย Level III ต้องใช้เครื่องมือช่วยทรงตัวในการเดิน เมื่อเดินทางไกลยังต้องพึ่งรถเข็น โดยเป็นรถเข็นที่สามารถใช้มือตัวเองพารถเข็นไปได้ ส่วน Level IV แย่กว่า ต้องใช้เครื่องช่วยเกาะทรงตัวขนาดใหญ่ และเดินได้เฉพาะระยะทางในบ้านสั้นๆ ต้องใช้รถเข็นพิเศษแบบไฟฟ้า หรือใช้คนช่วยดันรถเข็นไป ส่วนสุดท้ายคือ level V จะเห็นว่าแม้แต่นั่งก็ยังไม่ได้ หลังค่อมงอ ต้องใช้สายรัดรัดลําตัวไว้กับรถเข็น ต้องใช้รถเข็นแบบมีคนช่วยเสมอ

นอกจากการจัดกลุ่มเด็กซีพีตามความสามารถในการเคลื่อนไหว เพื่อบอกอนาคตและแนวทางการรักษาแล้ว ยังมีการตรวจวัดความสามารถโดยละเอียด เรียกว่า GMFM เป็นการวัดความสามารถในการเคลื่อนไหว โดยแบ่งคะแนนเป็น 100 คะแนน คล้ายการวัดระดับสติปัญญา หรือ IQ ซึ่งการวัดคะแนนความสามารถในการเคลื่อนไหว มีประโยชน์ในการดูระดับความสามารถ ว่าดีขึ้นมากน้อยเพียงใดจากการฟื้นฟูรักษา แต่ต้องอาศัยเครื่องไม้เครื่องมือในการวัด และต้องอาศัยผู้มีความชํานาญในการวัดประเมิน

โปรแกรมฟื้นฟูเด็กซีพี

ต้องอาศัยการดูแลเป็นทีมผู้เชี่ยวชาญ โดยทั่วไปจะช่วยเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวผู้ป่วยได้ บางรายได้มากบางรายได้น้อย ผู้ดูแลสามารถดูแลเด็กได้อย่างเข้าใจและมีความสุขมากขึ้น โดยสรุปหลักการดูแลต้องอาศัยขั้นตอนและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญดังต่อไปนี้

  • การประเมินเด็ก ทั้งในด้านความสามารถในการเคลื่อนไหว และในมิติอื่นๆ ที่เด็กอาจจะมีปัญหาด้วย เช่น ตาเหล่ น้ำลายยืด การได้ยินลดลง อารมณ์รุนแรง ซึ่งถ้ามีมิติปัญหาอื่นที่นอกจากการเคลื่อนไหวแล้ว จะมีการส่งต่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน รวมถึงการให้ความรู้กับพ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับปัญหาที่จะเกิดในอนาคต เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแล
  • จัดกลุ่มเพื่อวางแนวทางในการฟื้นฟูการเคลื่อนไหว GMFCS
  • วัดระดับความสามารถทางการเคลื่อนไหว GMFM รวมถึงการบันทึกและวิเคราะห์การเดินพิจารณารายที่จะได้ประโยชน์จาการผ่าตัด
  • โปรแกรมกายภาพบําบัด โดยเน้นการกระตุ้นกล้ามเนื้อที่พอจะควบคุมได้ให้มีการใช้งาน เพื่อป้องกันการฝ่อลีบ ดัดดามเพื่อป้องกันการยึดเกร็งซ้ำ กระตุ้นปฏิกิริยาเคลื่อนไหวด้วยกลไกตามธรรมชาติให้มีการทํางาน เพื่อให้กล้ามเนื้อทํางานเป็นระบบ และมีการวัดระดับความสามารถเป็นระยะ เพื่อดูพัฒนาการการเปลี่ยนแปลง
  • พิจารณาอุปกรณ์ช่วยในการเคลื่อนไหว การประเมินความเหมาะสม และการฝึกใช้อุปกรณ์

ศัลยแพทย์กระดูกและข้อสำหรับเด็ก กล่าวสรุปว่า เด็กซีพี เป็นเด็กที่มีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหว มีหลากหลายระดับความรุนแรง เน้นย้ำว่าส่วนใหญ่มีสติปัญญาดี ไม่ได้ปัญญาอ่อน แม้ว่าจะเห็นแขนขาเกร็งผิดรูปก็ตาม บางรายได้รับการฟื้นฟูจนดูใกล้เคียงเด็กปกติได้ โดยความสําเร็จในการฟื้นฟู ต้องอาศัยความเข้าใจจากผู้ดูแลเป็นสําคัญ เพราะว่าในรายที่โรคเป็นมาก สุดท้ายแล้วแม้จะดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังต้องพึ่งพาอุปกรณ์ หรือบุคคลอื่นคอยดูแล สิ่งสําคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ การมารักษาเมื่ออายุยังน้อยจะได้ประโยชน์มากกว่ามาก การปล่อยให้กระดูกข้อเจริญเติบโตในสภาวะที่เสียสมดุลเป็นเวลานาน ย่อมทําให้การเจริญเติบโตของกระดูกผิดปกติมากและยากแก่การแก้ไข

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 2298

  • Readers Rating
  • Rated 3.6 stars
    3.6 / 5 (7 )
  • Your Rating