เด็กที่ฉลาด ร่างเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ น่ารักสมวัย จะเป็นเด็กที่มองโลกในแง่ดี คิดบวก มีความภาคภูมิใจในตนเอง และมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ปัจจัยเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญต่อทัศนคติที่จะส่งผลต่อความสำเร็จในอนาคตของลูกได้
การสังเกตพฤติกรรมที่เกี่ยวกับความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองของเด็กๆ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรศึกษาทำความเข้าใจเรื่องความภาคภูมิใจในตนเอง หรือ Self esteem ว่าคือการค่อยๆ เก็บสะสมความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกที่มีต่อตนเองตั้งแต่เล็กจนโต ซึ่งมีผลต่อการแสดงออกในทุกๆ ด้านของคนคนหนึ่ง ที่ว่าเริ่มตั้งแต่เล็กนี้ก็คือตั้งแต่ยังเป็นเด็กทารก เด็กเรียนรู้ที่จะพลิกคว่ำพลิกหงาย ลองแล้วลองอีกจนในที่สุดก็ทำได้ ขณะนั้นเองที่เด็กเริ่มหล่อหลอมความเชื่อว่า “หนูทำได้” รับรู้ว่าตนเองก็มีความสามารถ
อย่างไรก็ตามความภาคภูมิใจในตนเองนี้ต้องมาพร้อมกับความรู้สึกว่าตนเองมีค่า หรือได้รับความรักด้วย นั่นคือขณะที่เด็กโตขึ้น เขาหล่อหลอมความเห็นเกี่ยวกับตนเองผ่านคำพูดหรือการแสดงออกของคนอื่นที่มีต่อเขา ดังนั้นการที่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความรัก ความอบอุ่น พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูมีส่วนอย่างมากที่จะปรับมุมมองที่เขามีต่อตนเองได้
เด็กที่มีความภาคภูมิใจในตนเองจะรู้สึกดีกับตนเอง มองโลกในแง่ดี ร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่เด็กที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ เด็กจะรู้สึกไม่ปลอดภัย กังวลหรือหวาดกลัวได้ง่าย จะรู้สึกว่า ชั้นไม่เก่งพอ ชั้นไม่ดีพอ ชั้นทำไม่ได้หรอก ดังนั้นในฐานะที่เป็นพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู คุณมีบทบาทสำคัญที่สุดในการสร้างความมั่นใจให้แก่เด็ก
วิธีการในการแสดงออกในสถานการณ์ต่างๆของเด็ก เป็นตัวบ่งบอกการมีความภาคภูมิใจในตนเอง หากพ่อแม่ได้ทราบลักษณะบางอย่างที่บ่งบอกว่าเด็กมีระดับของความภาคภูมิใจในตนเองในระดับไหน ก็จะทำให้พ่อแม่เสริมความมั่นใจให้แก่เด็กได้อย่างถูกทาง
ลักษณะของเด็กที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ
- หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมใหม่ๆ หรือไม่คุ้นเคย
- มองว่าตนเองไม่มีความสามารถ หรือคิดในแง่ลบไว้ก่อน เช่น “ชั้นทำไม่ได้หรอก”, “ไม่มีใครสนใจหนูหรอก”
- ถ้าตนเองทำผิดก็อาจจะโทษคนอื่น มองโลกในแง่ร้าย
- ง่ายต่อการถูกผู้อื่นชักนำ
- หงุดหงิด คับข้องใจได้ง่ายๆ หรือยอมแพ้ง่ายๆ
- อ่อนไหวต่อคำวิจารณ์
- รู้สึกไม่พอใจรูปร่างลักษณะของตนเอง
- ไม่ค่อยมีส่วนร่วมในห้องเรียน
ลักษณะของเด็กที่มีความภาคภูมิใจในตนเองสูง
ชอบที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ หรือการพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา
ภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง
เรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง ยอมรับจุดเด่นและจุดด้อยของตนเอง
ยอมรับกับคำวิจารณ์ และมักพูดได้เต็มปากว่า “หนูไม่เข้าใจ” แทนที่จะเป็น “หนูมันโง่”
มั่นใจในรูปร่างลักษณะของตนเอง
** จำไว้ ว่าเด็กไม่สามารถคิดหรือทำได้อย่างผู้ใหญ่ ดังนั้น คาดหวังพวกเขาตามความเป็นจริง หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ที่มากเกินไป
แล้วความภาคภูมิใจในตนเองมีผลกระทบอะไรต่อเด็ก?
ระดับของความภาคภูมิใจในตนเองมีผลกระทบต่อชีวิตและบุคลิกภาพของเด็กแตกต่างกัน ถ้าเด็กที่ดูขาดความมั่นใจ เขาก็มีแนวโน้มที่จะกลัวสิ่งแวดล้อมใหม่ๆและโอกาสใหม่ๆ ทำให้เป็นการจำกัดความรู้ความสามารถของตนเองไปโดยปริยาย ส่วนเด็กที่มีความมั่นใจ ก็มักจะชอบเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ๆ ด้วยทัศนคติในทางบวก
ความภาคภูมิใจในตนเองกับแง่มุมที่อาจกระทบกับเด็ก ได้แก่
- ความสัมพันธ์กับผู้อื่น
- ทัศนคติ
- ความสามารถในการตัดสินใจหรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
- การเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ
- ความคิดสร้างสรรค์
- การตอบสนองต่อแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อน
- ความสามารถในการไปให้ถึงเป้าหมาย
- การประสบความสำเร็จในโรงเรียน
กุญแจสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง
- มุมมองที่คนจะมีต่อตนเองนั้นหล่อหลอมมาจากสิ่งที่พวกเขาได้ยินหรือประสบการณ์ในวัยเด็ก ดังนั้นผู้ปกครองสามารถช่วยเด็กได้ โดยช่วยให้เขาเรียนรู้และยอมรับเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่มีความมั่นใจในตนเองให้แก่ลูกผ่านคำพูด หรือการแสดงออก แสดงออกถึงความรักที่มีต่อเขาบ้าง
- พยายามสนับสนุน หรือชมเชยความพยายามของเขาด้วย ไม่ใช่มองไปที่ผลอย่างเดียว
- หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบกับพี่น้อง เพื่อนของเขา
- ปล่อยให้เด็กได้ตัดสินใจเองหรือแสดงออกอย่างอิสระ เพื่อจะได้เรียนรู้ความผิดพลาดด้วยตนเองบ้าง (ภายใต้ดุลยพินิจของผู้ปกครอง)
- ใช้คำพูดที่คอยส่งเสริมเขาหรือเป็นไปในเชิงบวก เพราะเด็กอ่อนไหวต่อคำพูดของพ่อแม่มาก
- ให้ความสนใจลูกบ้าง เพราะการที่เราให้ความสนใจเขา นั่นคือการที่เรายืนยันว่าเขามีค่าสำหรับเราแค่ไหน การมีเวลาให้กับเขาแสดงให้เห็นว่าเขามีความสำคัญกับคุณ การจะแสดงออกซึ่งความรักนี้อาจทำได้โดยการพูดคุย การเล่น การแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมา
การช่วยเหลือเด็กอาจทำได้โดยการเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆด้วยตนเอง ตามวัย ดังนี้
แรกเกิด-5 ปี
- ส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเขา เช่น การหัวเราะ การพลิกคว่ำพลิกหงาย การคลาน การลุกนั่ง การเดิน การเล่นของเล่น การใช้ช้อน การดื่มน้ำจากแก้ว
- การใช้คำต่างๆในการพูดคุยสื่อสารหรือบอกความต้องการและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
- ตอบสนองความต้องการของลูกทั้งทางกายและจิตใจ
- ให้เด็กได้มีโอกาสทำกิจกรรมต่างๆด้วยตนเอง เช่น งานศิลปะ
- ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลืองานบ้าน เช่น จัดโต๊ะ หรือเก็บผ้า
เด็กวัยประถม
- ฉลองความสำเร็จเล็กๆน้อยๆบ้าง เช่น นักเรียนดีเด่นประจำเดือน, ว่ายน้ำเป็นแล้ว, ขี่จักรยานได้ หรือทำคะแนนได้ดีขึ้นที่โรงเรียน
- อนุญาตให้เด็กได้ช่วยงานบ้านหรือมีหน้าที่ในบ้าน เช่น เก็บจาน ให้อาหารสัตว์ ช่วยดูน้อง จัดโต๊ะ
- ได้เข้าร่วมงานสำคัญบ้าง เช่น กิจกรรมโรงเรียน กีฬาสี
- ชมเชยหรือสนับสนุนความพยายามของลูกบ้าง เช่น นั่งอ่านหนังสือในเวลาว่าง การมีน้ำใจคิดถึงคนอื่น ทำการบ้านที่มอบหมายเสร็จ
เด็กวัยรุ่น
- ให้รับผิดชอบงานในบ้านบ้าง เช่น ทำกับข้าวง่ายๆ
- อาจจัดให้มีระบบรุ่นพี่ช่วยเหลือรุ่นน้อง เช่น การช่วยสอนน้องอ่านหนังสือ
- ฉลองความสำเร็จเล็กๆน้อยๆบ้าง เช่น เข้าร่วมแข่งกีฬาได้เหรียญ
- ชมเชยหรือสนับสนุนความพยายามของลูก เช่น การตัดสินใจเรื่องบางเรื่อง การบริหารเงินออม ผลในระยะยาว
- เมื่อเด็กรู้สึกมั่นใจที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเอง เขาจะสามารถคุยกับพ่อแม่ได้อย่างเปิดเผยมากขึ้น
- การมีความภาคภูมิใจในตนเองสามารถช่วยให้เด็กมั่นใจทัศนคติหรือคุณค่าของตนเองพอที่จะรับมือกับแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อน
- เด็กเคารพความแตกต่างของบุคคล
- การที่ไม่ถูกเปรียบเทียบกับพี่น้องหรือเพื่อน จะทำให้เด็กมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ไม่รู้สึกอิจฉาหรือโกรธง่ายๆ
เวลาชมเด็ก ทำให้เขามั่นใจว่าเขาเป็นคนพิเศษไม่ว่าเขาจะมีรูปร่างหน้าตาหรือลักษณะอย่างไรก็ตาม
เวลาจะฝึกวินัยเขา ตำหนิพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ใช่ไปตำหนิที่ตัวเด็ก เช่น ควรพูดว่า “ลูกห้ามตีพี่เขา” แทนที่จะพูดว่า “ทำไมเกเรอย่างนี้นะ”
ให้ความสนใจกับงานหรือกิจกรรมของลูก เพื่อให้เขารู้สึกว่าเขามีความสำคัญกับคุณ
อย่างไรก็ตาม อย่าแสดงออกถึงความรักมากจนเกินไป หรือเพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เพราะอาจทำให้เกิดนิสัยที่ไม่ดีตามมา ควรเดินทางสายกลางไว้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-27340000 ต่อ 3310, 3312, 3319
- Readers Rating
- Rated 4.1 stars
4.1 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating