เวชศาสตร์การกีฬา
เวชศาสตร์การกีฬา เป็นสาขาหนึ่งทางการแพทย์ ที่นำความรู้ทางการแพทย์มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การเล่นกีฬาเกิดการบาดเจ็บน้อยที่สุด กรณีหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บไม่ได้ เวชศาสตร์การกีฬา คือศาสตร์ในการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเห็นผลการรักษาได้อย่างชัดเจน 100 หรือเกือบ 100% ทำให้ผู้ที่บาดเจ็บสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ดังเดิม ซึ่งก็มีกีฬาหลายประเภทที่ผู้เล่นอาจได้รับบาดเจ็บจากแรงกระแทก เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล วิ่ง รักบี้ เป็นต้น
นพ.ไทยินทร์ ศรีมงคล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา กล่าวถึงเวชศาสตร์การกีฬาว่า ปัจจุบันได้เข้ามามีบทบาทในแวดวงกีฬาอย่างมาก โดยเฉพาะในต่างประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางการกีฬา เช่น อเมริกา รัสเซีย จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆ ในยุโรป เป็นต้น โดยประเทศเหล่านี้ได้จัดให้มีการเรียนการสอนบุคลากรทางด้านนี้ ทั้งนักเวชศาสตร์การกีฬาและแพทย์เวชศาสตร์การกีฬา รวมถึงมีการตั้งองค์กรหรือสถาบันต่างๆ ขึ้นมาเพื่องานด้านเวชศาสตร์การกีฬาโดยตรงสำหรับเวชศาสตร์การกีฬาในประเทศไทยเริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างขึ้น และมีบริการอยู่ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ซึ่งจะมีแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ ดูแลรักษา ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ด้วยวิธีการรักษาที่ถูกต้อง และรวดเร็ว
เล่นกีฬาอย่างฉลาด พึ่งเวชศาสตร์การกีฬา
อาการบาดเจ็บที่เกิดจากการเล่นกีฬาได้แก่ อาการอักเสบ บวมแดงเฉพาะจุด ถ้าบาดเจ็บรุนแรง เช่น เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด หัวไหล่หลุด กระดูกหัก หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายไม่สามารถใช้การได้ ซึ่งการรักษาให้ถูกวิธี และรวดเร็วทันท่วงทีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ในที่นี้จะขอกล่าวถึงอาการบาดเจ็บที่พบบ่อยและวิธีการรักษาไว้ดังนี้
1. เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด
เข่ามีเส้นเอ็นสำคัญ 4 เส้น ที่ช่วยให้เข่ามั่นคงในขณะงอหรือเหยียดเข่า ได้แก่ เอ็นด้านข้างส่วนใน เอ็นด้านข้างส่วนนอก เอ็นไขว้หน้า และเอ็นไขว้หลัง เอ็นไขว้หน้าเป็นเส้นเอ็นที่พบว่าขาดบ่อย โดยเฉพาะจากการเล่นกีฬาที่มีแรงปะทะ ทำให้เกิดการบิดตัวของเข่า ร่วมกับแรงกระแทก หรือในรายที่ได้รับอุบัติเหตุตรงข้อเข่า
สังเกตอย่างไรว่าเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด
เมื่อได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรืออุบัติเหตุ จะมีอาการปวดเข่ามาก เหยียดหรืองอเข่าไม่ได้ เพราะมีเลือดออกในข้อเข่า เมื่อเวลาผู้ป่วยวิ่งเร็วแล้วหยุดทันที หรือบิดหมุนตัวโดยใช้เข่าอย่างเร็ว จะรู้สึกว่า เข่าไม่มั่นคง เข่าจะหลุดจากกัน หรือมีอาการเสียวในเข่า บางครั้งอาจจะพบเสียงลั่นในเข่า งอเหยียดเข่าได้ไม่สุด
วิธีรักษาเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า
หลังการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุ ควรได้รับการรักษาทางยา และลดการเคลื่อนไหวข้อเข่าเพื่อลดการอักเสบที่เกิดขึ้นในเข่าให้เร็วที่สุด จากนั้นจะต้องมีการประเมินเพื่อดูว่าเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดมากน้อยแค่ไหน ในกรณีที่มีการบาดเจ็บไม่มาก แนะนำให้ฟื้นฟูกล้ามเนื้อรอบเข่าโดยวิธีกายภาพบำบัด แต่เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้ว พบว่าเข่ามีอาการไม่มั่นคง ก็จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด
การรักษาผู้ป่วยที่เอ็นข้อเข่าขาดนั้น ในอดีตแพทย์ต้องทำการผ่าตัดใหญ่ ที่มีขั้นตอนยุ่งยากและซับซ้อนมาก ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า สามารถผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าผ่านกล้อง ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ทันสมัย แม่นยำมากขึ้น
ข้อดีของการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าผ่านกล้อง
การผ่าตัดรักษาสามารถทำได้ทั้งผ่าตัดแบบเปิดเข่า และการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องคือ มีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อน้อยกว่า ฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วกว่า แพทย์มองเห็นพยาธิสภาพในข้อเข่าได้ชัดเจนผ่านเลนซ์ในกล้อง และขยายภาพมาแสดงให้เห็นที่จอมอนิเตอร์ เครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดผ่านกล้อง มีขนาดเล็ก สามารถสอดเข้าทำผ่าตัดในพื้นที่แคบๆในเข่า โดยเฉพาะด้านหลังเข่าได้ดีกว่า นอกจากนี้การผ่าตัดผ่านกล้อง แพทย์ยังสามารถเย็บซ่อม หรือเจียรหมอนรองกระดูกได้ง่ายกว่า
หลังผ่าตัดวันที่ 2 แพทย์จะแนะนำให้ใส่สนับเข่า และหัดเดินด้วยไม้ค้ำยันกับนักกายภาพ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 4 วัน และหลังผ่าตัดผู้ป่วยควรจะงอเหยียดเข่าได้อย่างน้อย 90 องศา ภายใน 1 เดือน และปล่อยไม้ค้ำยันได้ ภายใน 2-3 เดือน โดยผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ สำหรับผู้ที่มีใจรักในการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา ควรรออย่างน้อย 6 เดือน หลังผ่าตัด
2. ความผิดปกติของหัวไหล่
ข้อหัวไหล่มีความสำคัญมากในการกำหนดการเคลื่อนไหวของแขนทั้งสองข้าง ซึ่งหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดและการเคลื่อนไหวที่ไม่สมบูรณ์ การใช้แขนทั้งสองข้างไม่ได้อย่างเต็มที่ เกิดผลกระทบต่อการทำงาน กิจวัตรประจำวัน รวมทั้งการเล่นกีฬาต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก สาเหตุของโรคและ
ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับข้อหัวไหล่ เกิดได้ทั้งจากอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา การใช้งานในชีวิตประจำวันซ้ำ ๆ กันอย่างไม่เหมาะสม หรือจากความเสื่อมของร่างกายตามอายุ โรคหรือความผิดปกติของข้อหัวไหล่ที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะข้อหัวไหล่ยึด การอักเสบหรือฉีกขาดของเอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่รอบหัวไหล่ ภาวะหัวไหล่หลุดเรื้อรัง ภาวะหินปูนเกาะข้อหัวไหล่ ภาวะการเสียดสีของเอ็นหัวไหล่กับปุ่มกระดูกสะบัก เป็นต้น
วิธีรักษาความผิดปกติของหัวไหล่
การรักษาความผิดปกติหรือการบาดเจ็บของหัวไหล่แต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นกับอายุการใช้งาน อาชีพหรือประเภทการทำงาน หรือโรคประจำตัว เช่น ในภาวะหัวไหล่ยึด อาจจะต้องใช้ทั้งยากิน ยาฉีดเข้าข้อ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ภาวะฉีกขาดของเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่อาจรักษาโดยการผ่าตัดซ่อมเสริม เพื่อให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีภาวะหัวไหล่หลุดเรื้อรัง ส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดซ่อมเสริมแคปซูลรอบข้อ เพื่อทำให้ข้อกระชับ ป้องกันการเสื่อมของหัวไหล่ที่จะเกิดขึ้นได้
ดังนั้น เวชศาสตร์การกีฬา จึงเป็นศาสตร์แห่งการรักษาที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่เพียงแค่รักษาหรือบรรเทาอาการบาดเจ็บเท่านั้น แต่หมายถึงการพยายามช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิต หรือเล่นกีฬาได้ตามปกติเร็วที่สุดนั่นเอง
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 2298
- Readers Rating
- Rated 4.8 stars
4.8 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating