โรคปริทันต์ ภัยเงียบใกล้ตัวคุณ - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

โรคปริทันต์ ภัยเงียบใกล้ตัวคุณ

Share:

โรคปริทันต์ ภัยเงียบใกล้ตัวคุณ

คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ที่ไม่เคยมาหาหมอฟันเลย หรือไม่ได้มาหาหมอฟันนานแล้ว เพราะไม่เคยมีอาการปวดฟัน และคิดว่าฟันก็แข็งแรงดีอยู่ ถ้าเป็นเช่นนั้น หมออยากแนะนำให้คุณมาพบทันตแพทย์ค่ะ เนื่องจากโรคในช่องปากส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงอาการเด่นชัดในช่วงแรก หากคุณเริ่มมีอาการปวดแล้ว นั่นหมายถึง โรคในช่องปากอยู่ในขั้นรุนแรงแล้ว โรคปริทันต์ก็เป็นอีกโรคหนึ่งในช่องปากที่มีลักษณะดังกล่าว และพบมากในคนทั่วไป เพราะสาเหตุหลักของโรคคือ เชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากแล้วก่อโรคเมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมนั่นเอง

โรคปริทันต์ เป็นโรคที่มีการทำลายอวัยวะรอบตัวฟันได้แก่ เหงือก กระดูกรองรับรากฟัน เคลือบรากฟัน และเอ็นยึดรากฟันกับกระดูกเบ้าฟัน การทำลายอวัยวะรอบตัวฟันดังกล่าว หากมีการสูญเสียไปแล้วจะเป็นการสูญเสียที่ถาวรไม่สามารถกลับคืนมาได้ ลองนึกภาพหากเราสูญเสียสิ่งที่ยึดจับตัวฟันไปแล้ว ฟันนั้นก็จะไม่สามารถอยู่ในช่องปากได้อย่างแข็งแรง อาจมีการโยก หรือต้องถอนฟันไป ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยมีอาการปวดเลย

การทำลายของอวัยวะปริทันต์มักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมพออายุมากจึงมักพบฟันโยกเป็นหนอง แล้วต้องมาถอนฟันและใส่ฟันปลอม เราลองมาดูข้อสังเกต อาการของโรคตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลตัวเองและตัดสินใจมาพบทันตแพทย์ เพื่อป้องกันฟันให้อยู่กับเราได้นานที่สุด โรคปริทันต์

อาการของเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์

  • เหงือกมีสีแดง บวม เหงือกไม่รัดแน่นคอฟันและเลือดออกง่าย (เหงือกปกติควรมีสีชมพูซีด รัดแน่นคอฟัน และแปรงฟันเลือดไม่ออก) อาจเห็นตัวฟัน
  • ยาวมากกว่าเดิมเพราะมีเหงือกร่น
  • มีฟันโยก
  • มีกลิ่นปาก
  • มีอาการไม่สบายปาก ระคายเคืองเหงือก หรือมีอาการปวดรำคาญ
  • หากเป็นมากมีร่องเหงือกลึก อาจมีหนองที่เหงือกเป็นๆ หายๆ ได้

การป้องกันโรค

เนื่องจากสาเหตุหลักของโรคคือ เชื้อแบคทีเรียในช่องปากที่เกาะอยู่บนตัวฟัน ซึ่งจะสามารถเกาะได้แน่นขึ้น และก่อโรคได้ง่ายขึ้นหากมีหินปูนเป็นที่อยู่อาศัย เพราะฉนั้นวิธีการป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือ การดูแลตัวเองที่บ้าน แปรงฟันให้สะอาด ใช้อุปกรณ์ในการทำความสะอาดที่เหมาะสมกับลักษณะช่องปากเพิ่มเติมจากแปรงสีฟัน เพราะแปรงสีฟันเพียงอย่างเดียว มีข้อจำกัดไม่สามารถเข้าถึงซอกฟัน หรือร่องเหงือกได้ จึงอาจพิจารณาใช้ไหมขัดฟัน หรือแปรงซอกฟันเพิ่มเติม ขูดหินปูนสม่ำเสมอ ตามช่วงเวลาที่ทันตแพทย์แนะนำใช้แปรงสีฟัน ไหมขัดฟัน

วิธีการรักษา

วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับความรุงแรงของโรค แต่โดยสรุปคือทันตแพทย์จะทำความสะอาดบนตัวฟัน ไม่ให้มีสิ่งสะสมที่จะเป็นที่อยู่ของเชื้อโรค กำจัดสิ่งที่จะเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดโรคได้มากขึ้น เช่น การมีวัสดุส่วนเกินอยู่ใต้เหงือก แนะนำวิธีการดูแลตัวเองที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย บางรายหากมีร่องเหงือกลึกที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของเชื้อโรคจะมีการพิจารณาตกแต่งเหงือก เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ง่ายขึ้น

หลังการรักษา

เนื่องจากโรคปริทันต์ เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการสูญเสียฟัน หมอจึงอยากแนะนำให้คุณมาพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอตั่งแต่เนิ่นๆ แม้จะยังไม่มีอาการอะไรก็ตาม หากตรวจพบโรคจะได้รีบทำการรักษา ตั้งแต่ยังไม่เกิดการทำลายที่ถาวร และเพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามด้วย การรักษาในขณะที่ยังเป็นโรคไม่มาก หรือการป้องกันโรคช่วยไม่ให้เราสูญเสียอวัยวะปริทันต์ การรักษาก็ไม่ยุ่งยาก เจ็บน้อยกว่า หรืออาจไม่เจ็บเลย เสียเวลาและค่าใช้จ่ายน้อยกว่าด้วย

หันมาให้เวลาดูแลตัวเองเพิ่มอีกนิด แล้วเมื่อถึงวันที่คุณเป็นผู้สูงอายุ คุณจะเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุข มีคุณภาพชีวิตดี อยากรับประทานอะไรก็รับประทานได้อย่างเอร็ดอร่อย อีกทั้งยังมีสุขภาพดีตามมาด้วย


สอบถามเพิ่มเติมที่ ศูนย์ทันตกรรมเดนทัลลิส
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 3000 , 3001 , 3004

โรคปริทันต์ ภัยเงียบใกล้ตัวคุณ

  • Readers Rating
  • Rated 3.7 stars
    3.7 / 5 (3 )
  • Your Rating