โรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

โรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม

Share:

โรคติดเชื้อระบบ ทางเดินอาหาร (เช่น อุจจาระร่วง อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ บิด ไทฟอยด์)
อาการและการติดต่อ

ถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือ ถ่ายมีมูกเลือด อาจมีอาเจียนร่วมด้วย
อหิวาตกโรค: อาการรุนแรงถ่ายเป็นน้ำ คล้ายน้ำซาวข้าว ครั้งละมากๆ
อาหารเป็นพิษ: มีอาการปวดท้อง ร่วมกับ ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว

โรคบิด: ถ่ายบ่อย มีมูกหรือมูกเลือดปน มีไข้ ปวดท้อง
ทฟอยด์: มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร บางรายท้องผูก บางรายท้องเสีย
การติดต่อ ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค

แนวทางการปฏิบัติตน

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดก่อนปรุงและเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่
  • เก็บอาหารในภาชนะมิดชิด ไม่มีแมลงวันตอม
  • การรับประทานอาหารกระป๋อง: อาหารต้อง ไม่หมดอายุ กระป๋องไม่บวมหรือเป็นสนิม
    ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก น้ำขวด
  • กำจัดสิ่งปฏิกูลมูลฝอยให้ถูกต้องมิดชิด เพื่อ ไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน
  • หากมีอาการท้องเสียให้ดื่มน้ำมากๆ และ ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หากมีอาการ มากขึ้น เช่น อาเจียนมาก ไข้สูง ชัก หรือ ซึม ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

โรคระบบ ทางเดินหายใจ (เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม/ปอดอักเสบ)
อาการและการติดต่อ

หวัด: ครั่นเนื้อครั่นตัว คัดจมูก น้ำมูกใส ไอ จาม ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มักหายได้เองใน 1 สัปดาห์
ไข้หวัดใหญ่: มักมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
ปอดบวม/ปอดอักเสบ: ไข้สูง ไอมาก หายใจหอบและเร็ว
การติดต่อ เชื้ออยู่ในละอองฝอย เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ติดต่อจากการไอ จาม หรือสัมผัสกับสิ่งที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่แล้วไปสัมผัสเยื่อบุตา จมูก ปากของตนเอง

แนวทางการปฏิบัติตน

  • ดูแลร่างกายให้อบอุ่นเสมอ หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน ไม่สวมเสื้อผ้าเปียกชื้น เช็ดตัวให้แห้งอยู่เสมอและสวมเสื้อผ้าให้หนาพอหากอากาศเย็น
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด
  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด
  • หากมีอาการป่วยรีบพบแพทย์ เพื่อรักษา
  • ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกขณะไอ จาม หรือใส่หน้ากากอนามัย
  • หากมีไข้รับประทานยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้
  • รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย
  • ดื่มน้ำมากๆ
  • รักษาร่างกายให้อบอุ่นเสมอ

ตาแดง
อาการและการติดต่อ

ระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง ขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง หากดูแลไม่ถูกวิธี อาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาดำอักเสบ ทำให้ปวดตา ตามัว

การติดต่อ ติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคซึ่งอาจปนอยู่ในน้ำ หรือสัมผัสโดยตรงกับน้ำตา ขี้ตา น้ำมูกของผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกัน

แนวทางการปฏิบัติตน

  • หากฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตา ต้องรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที
  • ไม่ควรขยี้ตา และอย่าให้แมลงตอมตา
  • ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยตาแดง
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสดวงตา
  • หากมีอาการของโรคควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อน

โรคฉี่หนูหรือเลปโตสไปโรซีส (เชื้อที่ทำให้เกิดโรคอยู่ในปัสสาวะของสัตว์ เช่น หนู วัว ควาย สุนัข แมว โดยปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง พื้นดินที่ชื้นแฉะ)

อาการและการติดต่อ

ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะน่องและโคนขา หรือปวดหลัง บางรายมีอาการตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ถ้าไม่รีบรักษาอาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตได้

การติดต่อ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยรับเชื้อเข้าทางบาดแผล รอยถลอก หรือผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน (และน้ำมีเชื้อโรค) หรืออาจติดเชื้อจากการรับประทานอาหารที่หนูฉี่รด

แนวทางการปฏิบัติตน

  • หลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลน
  • อย่าแช่น้ำนานๆ จนผิวหนังเปื่อย
  • หากมีบาดแผลต้องป้องกันไม่ให้สัมผัสน้ำ โดยสวมรองเท้าบูทยางกันน้ำ
  • หลังลุยน้ำย่ำโคลน ต้องรีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ แล้วเช็ดให้แห้ง
  • ดูแลที่พักให้สะอาด ไม่เป็นที่อยู่ของหนู
  • เก็บกวาด ทิ้งขยะให้มิดชิดไม่เป็นแหล่งอาหารของหนู
  • หากมีอาการป่วยต้องรีบพบแพทย์

ไข้เลือดออก

สาเหตุ: มียุงลายเป็นพาหะนำโรค
อาการและการติดต่อ
ไข้สูงลอย(ไข้สูงตลอดทั้งวัน) ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร อาจมีจุดเล็กๆ ตามลำตัว แขน ขา ต่อมาไข้เรี่มลง ระยะนี้ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะอาจช็อคและเสียชีวิตได

การติดต่อ ยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซึ่งทำให้เกิดโรคหัด
แนวทางการปฏิบัติตน

ระวังอย่าให้ยุงกัดในเวลากลางวันโดยนอนกางมุ้ง ทายากันยุง
กำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านทุกสัปดาห์ ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำ คว่ำภาชนะอย่าให้มีน้ำขัง

โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่นพบบ่อยในเด็กเล็ก เกิดจากเชื้อไวรัส มักพบช่วงฤดูฝน

อาการและการติดต่อ

ไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ มีจุดขาวๆ เล็กๆ ขอบแดงในกระพุ้งแก้ม มีผื่นนูนแดงเป็นปื้นๆ ขึ้นที่ใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปตามตัว แขน ขา

การติดต่อ ไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้ออยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยและเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ

แนวทางการปฏิบัติตน

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด (เป็นวัคซีนบังคับในเด็กตั้งแต่ปี พ.ศ.2527เป็นต้นมา)
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย
  • ให้การรักษาตามอาการ
  • แยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

โรคผิวหนัง: น้ำกัดเท้า
อาการและการติดต่อ

เท้าเปื่อยและเป็นหนอง คันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกออกเป็นขุย มีผื่น ผิวหนังที่เท้าพุพองผิวหนังอักเสบบวมแดง

แนวทางการปฏิบัติตน

  • หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น
  • ถ้าต้องย่ำน้ำ ควรใส่รองเท้าบูทกันน้ำ
  • หลังย่ำน้ำ ควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด เช็ดให้แห้ง
  • สวมใส่ถุงเท้า รองเท้า เสื้อผ้าสะอาดไม่เปียกชื้น หากมีแผลควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทายาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน

อุบัติเหตุ และการถูกสัตว์ร้ายมีพิษกัดต่อย
อาการและการติดต่อ

  • อุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้นช่วงน้ำท่วม ได้แก่ ไฟดูด จมน้ำ การบาดเจ็บจากการเหยียบของแหลม หรือของมีคม
  • อันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งหนีน้ำมาหลบอาศัยในบริเวณบ้านเรือน

แนวทางการปฏิบัติตน

  • ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า สับคัทเอาท์ตัดไฟฟ้าในบ้าน ก่อนที่น้ำจะท่วมถึง
    เก็บกวาดขยะ วัตถุแหลมคม ในบริเวณบ้านเรือน และทางเดินอย่างสม่ำเสมอ
  • ระมัดระวังดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
  • หากตะขาบหรือแมงป่องกัดให้ทาแผล ด้วยแอมโมเนียหรือครีมไตรแอมซิโนโลน หากปวดมากรีบมาพบแพทย์
  • งูกัด ให้ปฐมพยาบาลก่อนนำส่ง ร.พ.เพื่อ ลดหรือชะลอการแทรกซึมของพิษงู โดย
  • พยายามจำสีและรูปร่างของงู
  • พยายามไม่ให้คนถูกกัดตื่นเต้น และ เคลื่อนไหวบริเวณที่ถูกกัดให้น้อยที่สุด เพื่อชะลอการซึมของพิษงู
  • ล้างบาดแผลให้สะอาดด้วยน้ำต้มสุก หรือน้ำด่างทับทิม ซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด แล้วใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบๆ แผล ไม่เช็ดลงในแผล
  • ใช้เชือกหรือผ้าขนาดประมาณนิ้วก้อย รัดเหนือแผลให้แน่นพอควรให้สอดนิ้วมือได้ 1 นิ้ว
  • รีบส่ง ร.พ. ขณะส่ง ร.พ. ให้คลายเชือกหรือผ้าที่รัดทุก 10-15 นาที เพื่อไม่ให้ส่วนปลายแขนหรือขาขาดเลือดไปเลี้ยง
  • ห้ามกรีด ตัด ดูด พอกยาบริเวณแผล ที่งูกัด ห้ามใช้ปากดูดพิษ ห้ามแผลโดนน้ำ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน

ที่มา: คู่มือการดูแลป้องกันโรค และภัยต่อสุขภาพจากภาวะน้ำท่วม กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ  โรคที่มากับน้ำท่วม: รู้ไว้ป้องกันได้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

  • Readers Rating
  • No Rating Yet!
  • Your Rating